Wed. Apr 24th, 2024
โรงแรม

ไทยเนื้อหอม มูลค่าซื้อ-ขายโรงแรม ยังพุ่ง

“ซีบีอาร์อี เอเชีย” ชี้อุตฯ ท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกฟื้นตัวแรง คาดกลับสู่ระดับเดียวกับก่อนโควิด-19 ได้ในปี’67 ตัวแปรสำคัญอยู่ที่การเปิดประเทศของจีน ตลาดหลัก 1 ใน 4 ของภูมิภาค เผยมูลค่าการซื้อขายโรงแรมในไตรมาส 3/65 ยังพุ่งสูง คาดยังสูงต่อเนื่องอีกในปี’66 ทั้งจากการลงทุนของรายใหญ่ กองทุนในต่างประเทศ

นายสตีฟ แครอล หัวหน้าฝ่ายโรงแรมและธุรกิจฮอสพิทาลิตี้ ซีบีอาร์อี เอเชีย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้รับประโยชน์จากการผ่อนคลายมาตรการเข้าออกพรมแดนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565

แต่ปัญหาขาดแคลนที่นั่งบนเที่ยวบิน ขาดแคลนพนักงานในอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงราคาตั๋วเครื่องบิน ยังส่งผลเชิงลบต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภูมิภาค

คาดปี’67 กลับสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ จากการประมาณการของ CBRE คาดว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับเดียวกับก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้ในปี 2567 โดยกุญแจสำคัญของการฟื้นตัวในภูมิภาคนี้คือ การเปิดพรมแดนของจีน ซึ่งข้อมูลพบว่าในปี 2562 นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าในประเทศเอเชีย-แปซิฟิก มีสัดส่วนจากจีนสูงถึง 25%

นอกจากนี้ ยังพบว่าตลอด 9 เดือนแรกของปี 2565 อัตราดอกเบี้ยมีผลต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมโรงแรมในภูมิภาคนี้ แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการซื้อขายโรงแรม โดยในไตรมาส 3/2565 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการซื้อขายโรงแรมรวมมูลค่า 4.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนในประเทศไทยพบว่า

ในช่วง 9 เดือนแรกของปีมีการลงทุนมูลค่ารวมราว 4.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านนายอรรถกวี ชูแสง หัวหน้าแผนกธุรกิจโรงแรม ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยการปรับลดมาตรการด้านสาธารณสุขทำให้การท่องเที่ยวไทยกลับมาฟื้นตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านบัตรโดยสารสายการบินและราคาน้ำมันยังส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว

โดยความท้าทายหนึ่งพบว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยเริ่มมีความเหนื่อยล้ากับการท่องเที่ยวในประเทศ ทำให้เมื่อเปิดพรมแดนแล้วจะทำให้นักท่องเที่ยวหันไปต่างประเทศมากขึ้น

นายอรรถกวีกล่าวด้วยว่า ส่วนในปี 2566 หากไม่มีสถานการณ์ปัจจัยลบแล้ว คาดว่าน่าจะเป็นปีที่ดี มีนักท่องเที่ยว 15-20 ล้านคน และนักท่องเที่ยวจีนจะมีส่วนสำคัญให้การท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวเท่า หรือใกล้เคียงกับก่อนโควิด-19

“ในเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา โรงแรมในเขตกรุงเทพฯ มีรายได้เฉลี่ยต่อวัน หรือ ADR อยู่ที่ 3,500 บาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 ไปแล้ว ขณะที่มีค่าอัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) อยู่ที่ 65% จากเดิม 85%” นายอรรถกวีกล่าว

มูลค่าการซื้อ-ขาย รร.สูงต่อเนื่อง

สำหรับการทำธุรกรรมซื้อขายโรงแรมนั้น คาดการณ์ว่าในปี 2566 น่าจะมีการทำธุรกรรมซื้อขายมากกว่าปี 2565 โดยกำลังเข้าสู่ภาวะที่ช่องว่างระหว่างราคาเสนอซื้อและราคาเสนอขายแคบลง หลังจากการเจรจากันหลายเดือน เจ้าของโรงแรมอาจไม่รู้สึกว่าต้องลดราคาอีกต่อไป

นอกจากนี้ การลงทุนจะมาจากบริษัทขนาดใหญ่ หรือการร่วมมือกันระหว่างบริษัทขนาดใหญ่ ยังมีกองทุน Private Equity ในต่างประเทศที่ต้องการลงทุนจำนวนมาก โดยโรงแรมในกรุงเทพฯ ยังได้รับความสนใจมากกว่าภูเก็ต เนื่องจากมีปัจจัยด้านฤดูกาลน้อยกว่า

“ในมุมมองของนักลงทุน ยังมองประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญ ที่นี่เป็นตลาดสำคัญสำหรับนักเดินทาง ในมุมมองของผู้ซื้อราคาโรงแรมในช่วงเวลานี้อยู่ในจุดที่สมเหตุสมผล” นายอรรถกวีกล่าว

เที่ยวล้างแค้นพุ่ง

ขณะที่นายแอนดรูว แลงดอน รองประธานกรรมการอาวุโสฝ่ายการพัฒนา ประจำภูมิภาคเอเชีย ของกลุ่มแอคคอร์ กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้นักเดินทางออกเดินทางลดลงตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดแนวโน้มการท่องเที่ยวใหม่คือ การท่องเที่ยวเพื่อล้างแค้น (Revenge Tourism) ซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อโรงแรม ทั้งโรงแรมขนาดใหญ่และโรงแรมขนาดเล็ก

“ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ผลประกอบการโรงแรมในเครือ Accor พบว่าการฟื้นตัวสูงกว่าที่คาดไว้ และยังพบว่าข้อมูลการจองห้องพักล่วงหน้าของโรงแรมในเครือ Accor มียอดจองล่วงหน้าในเดือนธันวาคม 2565-มกราคม 2566 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์” นายแอนดรูวกล่าว

หลัง “โควิด” โรงแรมแห่ปรับตัว

นายแอนดรูวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันนักเดินทางที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เดินทางด้วยตนเอง (FIT) รวมถึงนักเดินทางไมซ์ (MICE) กลุ่มนี้มีการใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทำให้โรงแรมที่เดิมพึ่งพานักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ กำลังประสบปัญหา เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตนเองยังไม่สนใจเข้าพัก

“บทเรียนสำคัญของภาคธุรกิจโรงแรมหลังสถานการณ์โควิด-19 คือความยืดหยุ่น ความคล่องแคล่ว และความว่องไวต่อการปรับตัว เพราะเมื่อตลาดเปลี่ยนแปลง เราต้องรู้ตัว และใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างรวดเร็ว” นายแอนดรูวกล่าวและว่า

แนวโน้มการพัฒนาโรงแรมในอนาคตเริ่มให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้น ขณะที่ในต่างประเทศเริ่มให้ความสนใจแนวโน้มโรงแรมไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ แบรนด์ดั้งเดิม และโรงแรมหลายแห่งต้องปรับตัวรับแนวโน้มของการท่องเที่ยวเพื่อทำธุรกิจและพักผ่อน

ที่มา :ประชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/tourism/news-1150910

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *