Thu. Apr 25th, 2024
ธุรกิจโรงแรมญี่ปุ่น ปรับตัวรับดีมานด์

ธุรกิจโรงแรมญี่ปุ่น ปรับตัวรับดีมานด์

“ญี่ปุ่น” ยังคงเป็นเป้าหมายปลายทางการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (เจทีเอ) พบว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น ปี 2558 มีมูลค่าการตลาดสูงถึง 25.5 ล้านล้านเยน โดยมูลค่าการใช้จ่ายในกลุ่มท่องเที่ยวแบบค้างคืนสูงถึง 16.2 ล้านล้านเยน หรือคิดเป็น 63.5% ของตลาดการท่องเที่ยว ขณะที่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่นมีมูลค่าถึง 3.3 ล้านล้านเยน

ทั้งนี้ จากรายงานการสํารวจจํานวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่น พบว่า มีจํานวน 8.36 ล้านคนในปี 2555 และขยายตัวเรื่อยๆ เป็น 28.7 ล้านคน ในปี 2560 ซึ่งอัตราการขยายตัวในญี่ปุ่นสูงกว่าการขยายตัวโดยเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยในปี 2558 ญี่ปุ่นมีอัตราการขยายตัวจากปีก่อนถึง 47% นอกจากนี้ยังพบว่า การขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นปัจจัยหลักที่ส่งเสริมการใช้จ่ายท่องเที่ยว และอุปสงค์ของบริการที่พัก พาหนะขนส่งนักท่องเที่ยว รวมถึงสินค้าที่จําหน่ายตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ

การขยายตัวของการท่องเที่ยวในญี่ปุ่นนําไปสู่การเตรียมพร้อมรับมือปัญหาขาดแคลนที่พักสําหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากรายงานที่จัดทําขึ้นโดย Yano Research Institute พบว่า จํานวนโรงแรมและโฮสเทลมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับจํานวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นทุกปี ต่างกับจํานวนเรียวกัง ที่มีการปิดธุรกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2547 โดยล่าสุดในปี 2558 พบว่า จํานวนเรียวกังที่เปิดให้บริการอยู่เหลือเพียงแค่ 40,661 แห่งเท่านั้น

สาเหตุคาดว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่มีผลต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น คือ กลุ่มรายได้ปานกลาง ซึ่งมีความต้องการที่พักราคาระดับกลางถึงประหยัด เช่น กลุ่มทัวร์จีน เป็นต้น ส่งผลให้โรงแรมเป็นทางเลือกของนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่มากกว่าเรียวกังที่ค่าห้องพักสูงกว่าโรงแรมทั่วไป โดยพบว่า อัตราการเข้าพักในกลุ่มโรงแรมแบบธุรกิจหรือโรงแรมในเมืองสูงถึง 80%

นอกจากนี้ เจ้าของบ้านหรือที่พักส่วนตัวในญี่ปุ่นเองก็เล็งเห็นโอกาสเทรนด์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดเป็นกระแสธุรกิจปล่อยห้องเช่าระยะสั้นให้กับผู้เช่าพักส่วนตัว หรือที่เรียกว่า Minpaku เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจํานวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยมี 3 รูปแบบ คือ โฮมสเตย์ (อยู่รวมกับเจ้าของบ้าน) แบบเช่าห้องเดี่ยว (มีแต่ผู้เช่าพัก) และแบบหอรวม โดยผู้ประกอบธุรกิจลักษณะนี้ จะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนถึงจะดําเนินธุรกิจได้ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ทางการกําหนดอีกด้วย เช่น ขนาดของห้องพักต้องเป็นไปตามที่กําหนดเท่านั้น ต้องมีผู้ดูแลที่พักอาศัยนั้นอยู่ภายในที่พักด้วยเสมอ

ที่สำคัญปัจจุบันเจ้าของที่พักสามารถหาลูกค้าผ่านบริการออนไลน์ต่างๆ ได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยหนึ่งในบริการที่ได้รับความนิยมคือ Airbnb ขณะเดียวกัน ร้านสะดวกซื้อ Seven-Eleven Japan Co ก็ได้ร่วมโครงการกับบริษัทท่องเที่ยว JTB Corp เปิดตัวบริการอัตโนมัติสําหรับผู้ที่จะมาพัก Minpaku สามารถเช็กอินและรับกุญแจห้องได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่ร้านสะดวกซื้อ เซเวน อีเลฟเว่น หรือที่เรียกว่า Convenience Front Desk 24 โดยเริ่มให้บริการตามสาขาในกรุงโตเกียวตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.

ทั้งนี้ พบว่าในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติในเมืองโอซากา มีอัตราการใช้บริการ Minpaku มากที่สุด อยู่ที่ 63.7% ตามด้วยเกียวโต 48.9% และกรุงโตเกียว 40.2% โดยที่ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นเด็กรุ่นใหม่ช่วง 20-29 ปี โดยคิดเป็น 61.3% ของผู้ใช้บริการ Minpaku ทั้งหมด

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ให้ความเห็นว่า การที่รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมประกาศอนุญาตให้สามารถใช้ที่พักส่วนบุคคลมาเปิดบริการให้เช่าพักได้อย่างถูกต้อง เพื่อคุมมาตรฐานการให้บริการเช่าพัก รวมทั้งรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในช่วงแข่งกีฬาโอลิมปิก ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยธุรกิจออกแบบตกแต่งภายในที่จะได้รับผลประโยชน์ จากการเติบโตของการท่องเที่ยวและอุปสงค์ที่พักในญี่ปุ่นมากที่สุด โดยการสร้างเอกลักษณ์ผลิตภัณฑ์ ให้แตกต่างจากสินค้าสัญชาติอื่นๆ เช่น การใช้ส่วนผสมวัตถุดิบพื้นบ้านไทยในสินค้า หรือการออกแบบสินค้าโดยคงเอกลักษณ์ไทยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์


ที่มา : www.posttoday.com  วันที่ 24 พ.ย. 61
www.posttoday.com/aec/scoop/571771

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *