Fri. Mar 29th, 2024

โคโรนาวิกฤติ แอร์ไลน์ไทย ไตรมาส1 สูญ 3.4 หมื่นล้าน

ไวรัสโควิด-19 เป็นผลกระทบหลัก ทำให้ธุรกิจการบินทั่วโลกระส่ำหนัก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้คาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มทำให้รายได้ของสายการบินทั่วโลกในช่วงไตรมาสแรกปีนี้หายไปกว่า 1.5 แสนล้านบาท 

อันเป็นผลมาจากสายการบินทั่วโลกกว่า 70 สายการบินยกเลิกเที่ยวบินไปจีน โดยเฉพาะไปยังเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย รวมถึงสายการบินอีกกว่า 50 สายการบินทยอยลดเที่ยวบินเส้นทางบินอื่นๆในจีนที่ตามมาเป็นระลอก ส่งผลให้ผู้โดยสารหายไปกว่า 20 ล้านคนในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

ขณะที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(IATA)ประเมินว่าไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการเดินทางทางอากาศของโลก ลดลงครั้งแรกในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ปี2552 เป็นต้นมา คาดว่าจะทำให้ในปีนี้ธุรกิจสายการบินของโลกต้องสูญเสียรายได้มากกว่า 2.9 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ (มากกว่า 8.99 แสนล้านบาท)

แอร์ไลน์ฮ่องกงอ่วมสุดในเอเชีย

จุดโฟกัสที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คงหนีไม่พ้นธุรกิจการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยสายการบินของจีนได้รับผลกระทบมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแอร์ไชน่า, ไชน่า เซาเทิร์นแอร์ไลน์ส,ไชน่า อีสเทิร์นแอร์ไลน์ส

ตามมาด้วย สายการบินของเกาหลีใต้ อย่างอาเซียนน่า แอร์ไลน์ส, โคเรียนแอร์ สายการบินของไทย และสายการบินของญี่ปุ่น เนื่องจากสายการบินเหล่านี้มีเที่ยวบินสู่จีนเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจีน

เมื่อจีนหายก็ทำให้หลายสายการบินได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยจากข้อมูลของ “OAG Worldwide” พบว่าใน 10 ประเทศแรกที่มีเที่ยวบินระหว่างประเทศจากเอเชียไปจีนมากที่สุด ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการยกเลิกเที่ยวบินมากที่สุดเป็นอันดับ 1 จะเป็นจากฮ่องกงไปจีน อันดับ 2 เป็นจากไทยไปจีน ตามมาด้วยไต้หวัน และญี่ปุ่น

ส่วนธุรกิจสายการบินที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในเอเชียจากการยกเลิกเที่ยวบินที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 20 มกราคม-10 กุมภาพันธ์ 2563 “OAG Worldwide” มองว่านอกจากสายการบินของจีนที่กระทบหนักสุดแล้ว สายการบินโคเรียนแอร์และอาเซียนน่า แอร์ไลน์ส ของเกาหลีใต้ ผู้โดยสารลดลง 47-54%

ทั้งนี้ไม่เพียงฮ่องกงได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เท่านั้น ก่อนหน้านี้สายการบินของฮ่องกง ก็เจอมรสุมการประท้วงในฮ่องกงอยู่แล้ว พอมาเจอเรื่องนี้ธุรกิจก็ถึงขั้นวิกฤติ นี่เองจึงทำให้ฮ่องกง แอร์ไลน์ ต้องประกาศปลดพนักงาน 400 คน ส่วนที่เหลือให้หยุดงานอย่างน้อย 2 สัปดาห์โดยไม่ได้รับค่าจ้างหรือทำงาน 3 วันต่อสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ส่วนคาเธ่ย์ แปซิฟิค ขอให้พนักงาน 2.7 หมื่นคน ลางาน 3 สัปดาห์โดยไม่ได้รับค่าจ้าง ในช่วง มีนาคม-มิถุนายนนี้)

ไทยแอร์เอเชียกระทบสุด

ขณะที่สายการบินของไทยก็ติดอันดับการยกเลิกระดับต้นๆด้วยเช่นกัน โดยในไทย สายการบินไทยแอร์เอเชีย ได้รับผลกระทบมากที่สุด ผู้โดยสารลดลง 48.9% ตามมาด้วยสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ที่ผู้โดยสารลดลง 44.4%

ทั้งนี้ก็สัมพันธ์กับจำนวนเที่ยวบินเข้าจีนของทั้ง 2 สายการบินที่มีเที่ยวบินเป็นจำนวนมากทั้งการทำบินแบบประจำและชาร์เตอร์ไฟลต์ โดยไทยแอร์เอเชียมีเที่ยวบินเข้าจีน 14 จุดบิน 20 เส้นทางบิน แต่ที่กระทบหนักเนื่องจากมีเที่ยวบินตรงสู่อู่ฮั่น ซึ่งสายการบินต้องยกเลิกเที่ยวบินยาวจนถึงสิ้นเดือนมีนาคมนี้ และการทยอยลดบางเที่ยวบินในเส้นทางบินอื่นในจีน จะทำให้กระทบผู้โดยสารในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ราว 3 แสนคน ส่งผลให้รายได้ลดลง 3% ในเบื้องต้น

ส่วนไทยไลอ้อนแอร์ มีเที่ยวบินเข้าจีน 15 จุดบินใน 25 เส้นทางบิน คือเป็นสัดส่วน 30% ของเส้นทางบินทั้งหมด และล่าสุดสายการบินได้ลดเที่ยวบินเข้าจีนไปแล้วมากกว่า 10% เนื่องจากมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 30-40% ตลอดเดือนนี้ ทางออกของทั้ง 2 สายการบินดังกล่าว คือการหันมาเพิ่มเที่ยวบินในประเทศ รวมถึงเส้นทางบินใน CLMV ที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่า

อย่างไรก็ตามจากผู้โดยสารจีนที่หายไปช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ICAO ยังได้คาดการณ์ว่าธุรกิจสายการบินของญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยประเมินว่าจะสูญรายได้ราว 1,290 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว 3.87 หมื่นล้านบาท) ตามมาด้วยธุรกิจการบินของไทย ที่สูญรายได้ 1,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว 3.45 หมื่นล้านบาท)

ส่วนสายการบินอื่นๆอย่างการบินไทย แม้จะมีจุดบินเข้าจีนน้อยกว่าไทยไลอ้อนแอร์ และไทยแอร์เอเชีย แต่วันนี้อิมแพ็กต์ที่เกิดขิ้นไม่ใช่เพียงเส้นทางบินสู่จีนเท่านั้น ที่ได้รับผลจากการชัตดาวน์กรุ๊ปทัวร์จีนที่เกิดขึ้นนับจากปลายมกราคม 2563 แต่วันนี้หลายประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น ไทย สิงคโปร์ กำลังถูกสกรีนเข้มจากหลายประเทศ ว่ามีความเสี่ยงในการเดินทางท่องเที่ยว ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง ส่งผลให้ต้องลดเที่ยวบินในประเทศเหล่านี้ลงเช่นกัน งานนี้สายการบินไหนจะอยู่รอดขึ้นกับสายป่านที่มีว่าจะแบกรับการขาดทุนที่จะเพิ่มขึ้นได้อีกนานสักแค่ไหน

ทอท.ผู้โดยสารหด 30%

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท.กล่าวว่า การยกเลิกเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงอย่างมาก จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 นับว่ารุนแรงสุดหากเทียบกับทุกวิกฤติที่ผ่านมา โดยผลกระทบชัดเจนในเดือนกุมภาพันธ์ แค่เพียง 18 วันแรกของเดือนนี้ จะเห็นว่ามีผู้โดยสารลดลงถึง 27.9% ผู้โดยสารหายไป 2.2 ล้านคน และเที่ยวบินลดลง 13.7% หายไปกว่า 6.5 พันเที่ยวบินแล้ว ทั้งการลดลงก็ยังคงดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นเดือนมีนาคมนี้แน่นอน

ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ทอท.มีผู้โดยสารเติบโตติดลบ เฉลี่ยผู้โดยสารหายไปราว 30% หรือหายไปวันละ 1.5 แสนคน เนื่องจากจีนคิดเป็นสัดส่วน 26% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ถ้าเหตุการณ์นี้กระทบถึงสิ้นปี รายได้ของทอท.น่าจะลดลงราว 8-10% หรือราว 5-6 พันล้านบาท แต่หากสถานการณ์ยาวนานกว่านั้น ก็จะกระทบเพิ่มขึ้นไปอีกทั้งทอท. ธุรกิจการบิน และการท่องเที่ยวของประเทศไทยโดยรวม

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

https://www.thansettakij.com/content/business/422335

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *