Thu. Apr 25th, 2024
เอเชียน มิลเลนเนียลส์

เอเชียน มิลเลนเนียลส์

ความท้าทายหนึ่งของผู้ประกอบการโรงแรมในปัจจุบัน คือ การเจาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มประชากรเอเชียรุ่นใหม่ หรือ ‘เอเชียน มิลเลนเนียลส์’ ซึ่งเกิดระหว่างปี 2524-2538 ให้อยู่หมัด 

เพราะถือเป็นกลุ่มที่เปี่ยมด้วยศักยภาพสูงมาก และมีโอกาสเติบโตอย่างมหาศาล จากแนวโน้มรายได้และรายจ่ายสูงสุดในอีก 10 ปีข้างหน้ามีการคาดการณ์ว่าอีก 5 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2563 จะมีเม็ดเงินสะพัดจากนักท่องเที่ยวกลุ่มเอเชียนมิลเลนเนียลส์ ใช้จ่ายในต่างแดนเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.6 เท่า เป็นเงินประมาณ 3.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 12 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังคาดว่าในปี 2568 กลุ่มมิลเลนเนียลส์ จะมีมากถึง 75% ของคนวัยทำงานทั่วโลกอีกด้วย ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวควรทำ คือ การพัฒนาไอเดียใหม่ๆ ทั้งในแง่สินค้าและบริการ เพราะนอกจากจะสร้างความประทับใจแก่ลูกค้าได้แล้ว ยังดึงดูดพนักงานรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมงานกับเราได้ด้วย

นักท่องเที่ยวกลุ่มประชากรเอเชียรุ่นใหม่

พฤติกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจของกลุ่มเอเชียน มิลเลนเนียลส์ ถือเป็นกลุ่มที่มีความรู้ทางเทคโนโลยีมากๆ เมื่อเทียบกับกลุ่มคนรุ่นก่อนๆ นอกจากนี้ ยังนิยมแชร์เรื่องราวชีวิตผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก และรักการหาข้อมูลบนโลกออนไลน์เป็นชีวิตจิตใจ กลุ่มเอเชียนมิลเลนเนียลส์ จึงมองหา 3 สิ่งสำคัญในชีวิต ได้แก่ สมาร์ทโฟน ความง่าย และความเป็นส่วนตัว ไม่แปลกใจเลยที่พวกเขาจะนิยมเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง และวางแผนการท่องเที่ยวอย่างยืดหยุ่น ไม่จำเป็นต้องเดินทางตามแผนอย่างเคร่งครัดเสมอไป ถือคติประจำใจ “หลงทางบ้างก็ดี ชีวิตจะได้มีสีสัน” นอกจากนี้ ยังเป็นกลุ่มที่มีความจงรักภักดี (ลอยัลตี้) ต่อแบรนด์ค่อนข้างต่ำ พิจารณาเรื่องของราคาสินค้าท่องเที่ยวเป็นหลัก ชาติที่นิยมมองหาดีลสินค้าท่องเที่ยวราคาถูก คือ จีนและสิงคโปร์ เมื่อดูเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มมิลเลนเนียลส์แล้ว พบว่ามีการเดินทางเที่ยวต่างประเทศบ่อย เฉลี่ยถึง 4 ครั้งต่อปี พำนักครั้งละประมาณ 4 คืน และยังใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวมิลเลนเนียลส์ชาติอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ อินเดีย และอินโดนีเซีย ประมาณ 2 เท่า

ด้านจุดหมายปลายทางยอดนิยม นักท่องเที่ยวกลุ่มมิลเลนเนียลส์ให้ความสำคัญกับสถานที่ท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาก เพราะความหลากหลาย ทั้งวัฒนธรรมที่แตกต่าง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่โดดเด่น และสีสันของแต่ละเมืองอันชวนสะดุดตาสะดุดใจ ส่งผลให้ภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้เติบโตต่อเนื่องกว่า 3 เท่าตัว หรืออยู่ที่ประมาณ 210 ล้านคน นักท่องเที่ยวกลุ่มเอเชียนมิลเลนเนียลส์ครองสัดส่วนสูงกว่า 60% การโปรโมทท่องเที่ยวแบบเชื่อมโยงในภูมิภาค นับเป็นความท้าทายสำคัญที่ชาติอาเซียนต้องเร่งพัฒนาสินค้า มุ่งสู่เป้าหมายการเป็นจุดหมายเดียวของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

สำหรับภาพรวมพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่น่าจับตามองในปี 2559 มีด้วยกันถึง 7 เทรนด์หลัก ที่อยากหยิบยกมาเล่าสู่กันฟัง หลังเห็นความเปลี่ยนแปลงที่มักเกิดขึ้นอยู่เสมอของความต้องการนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะเอเชียแปซิฟิกที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด

  1. สมาร์ทโฟน นักท่องเที่ยวมักนิยมมองหานวัตกรรมและทางเลือกในการจองห้องพักที่สะดวกรวดเร็ว รวมถึงความคล่องตัวในการเดินทาง อุปกรณ์สื่อสาร (ดีไวซ์) โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนในมือนักท่องเที่ยวจึงเข้ามามีบทบาทในการจองห้องพักอย่างสะดวกสบาย ตอบโจทย์การเดินทางได้เป็นอย่างดี
  2. ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลโรงแรม ด้วยเทคโนโลยี ทำให้นักท่องเที่ยวคุ้นเคยกับการอ่านและเขียนรีวิวท่องเที่ยวผ่านเว็บไซต์ของ ‘ออนไลน์ แทรเวล เอเยนต์’ หรือ โอทีเอ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกห้องพักโดยอ้างอิงจากการจัดอันดับในหมวดหมู่ต่างๆ เช่น คุณภาพของการให้บริการ ความสะอาดของห้องพัก และความสะดวกสบายต่างๆ ข้อมูลรีวิวเหล่านี้ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของการจองห้องพัก นักท่องเที่ยวจะเชี่ยวชาญด้านการรีวิวมากขึ้น และยังชื่นชอบการรีวิวที่จริงใจมากขึ้นอีกด้วย
  3. การจองห้องพักแบบลาสต์ มินิท เทรนด์การจองห้องพักแบบนาทีสุดท้าย (ลาสต์ มินิท) จะมีให้เห็นมากขึ้นและเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะนักท่องเที่ยวอาจมีเวลาไม่เพียงพอกับการจองห้องพักล่วงหน้า รู้ตัวว่าพร้อมเดินทางเมื่อไหร่ ก็ค่อยจองเมื่อนั้น ดีลห้องพักตามเว็บไซต์ของโอทีเอจำนวนมากมักเสนอส่วนลดราคาห้องพักแบบลาสต์มินิท ประกอบกับนักท่องเที่ยวเองก็เริ่มจับทางได้ว่า ราคาห้องพักจากการจองแบบลาสต์มินิทนั้น ไม่ได้ต่างจากการจองล่วงหน้าหลายๆ เดือนเลย โดยเฉพาะในจุดหมายที่มีปริมาณห้องพักล้นตลาด เช่น ประเทศไทย
  4. การสร้างลอยัลตี้โปรแกรม จากเทรนด์นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มจงรักภักดีต่อแบรนด์น้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียลส์ ที่ให้ความสำคัญกับราคามากกว่า การพัฒนาลอยัลตี้โปรแกรมนับเป็นกลยุทธ์สำคัญของโรงแรมในการขยายฐานลูกค้ากลุ่มเข้าพักซ้ำ ผ่านการเสนอข้อดีของการสมัครโปรแกรมว่าสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ โดยผู้ประกอบการโรงแรมต้องออกแบบลอยัลตี้โปรแกรมให้ดี เพราะโอทีเอเองก็มีลอยัลตี้โปรแกรมเช่นกัน เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาจองผ่านเว็บไซต์ เพื่อรับสิทธิพิเศษมากมาย เช่น ส่วนลด ของแถม บัตรของขวัญ นอกจากนี้ OTA (Online Travel Agency) บางเจ้า ยังมีบริการพิเศษอื่นๆ เช่น ประกันการเดินทาง ค่าธรรมเนียมวีซ่า และเครื่องกระจายสัญญาณ WiFi
  5. ขาขึ้นของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Bleisure นี่คือส่วนผสมของนักท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน (Leisure) กับนักเดินทางเพื่อธุรกิจ (Business Traveller) ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง Global Business Travel Association ระบุว่าว่าในปี 2561 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ครองส่วนแบ่งตลาด 5% พฤติกรรมการเที่ยวก็จะเปลี่ยนไปด้วย โดยมีแนวโน้มว่านักธุรกิจที่เดินทางไปทำงาน จะยืดเวลาพักออกไป เพื่อเพิ่มการท่องเที่ยวและพักผ่อนกับครอบครัวมากขึ้น
  6. แนวโน้มการใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางจะเพิ่มขึ้น รายงานขององค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO World Tourism Barometer) ระบุว่า มีนักท่องเที่ยวขาออก (เอาต์บาวนด์) ในประเทศจีน เติบโตในระดับ 2 หลัก หนุนให้จุดหมายซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจีน อาทิ ไทย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในยุโรป ได้รับผลประโยชน์ นอกจากนี้ อินเดียยังเป็นอีกหนึ่งตลาดสำคัญที่กำลังเติบโตด้านท่องเที่ยว โดยจีนและอินเดียมีการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวที่ขยายตัวถึง 2 หลัก
  7. การสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวตามความต้องการ ปัจจุบันนักท่องเที่ยวทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ประสบการณ์การเข้าพักและท่องเที่ยวที่ต้องการ หากโรงแรมสามารถคิดค้นพัฒนาบริการที่แปลกใหม่เกินความคาดหมาย รับรองได้เลยว่าจะยิ่งได้ใจนักท่องเที่ยวไปอีกเป็นกอง

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *