Thu. Mar 28th, 2024
ทัวร์เที่ยวไทย

เอกชนรุมค้านยุติทัวร์เที่ยวไทย สภาพัฒน์ชงเข้า ครม. 25 ม.ค.นี้

เอกชนแห่ติดแฮชแท็ก #RIPท่องเที่ยวไทย หวั่นยุติ “ทัวร์เที่ยวไทย” โยกงบฯ 5 พันล้านโปะ “เราเที่ยวด้วยกัน” เผยบริษัทนำเที่ยวไม่ได้รับเยียวยา 2 ปีเต็ม วอนปรับเงื่อนไข-ขยายโครงการ ททท.ยันเดินหน้าปลุกเที่ยวในประเทศทั้ง “ทัวร์เที่ยวไทย-เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4” สภาพัฒน์เตรียมชงเข้า ครม. 25 ม.ค.นี้

ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีกระแสว่ารัฐบาลโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะยุติโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ที่ดำเนินการภายใต้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท

ในวันที่ 31 มกราคม 2565 นี้ หลังจากก่อนหน้านี้ (21 ธ.ค. 64) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติขยายมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ทั้งโครงการทัวร์เที่ยวไทย และเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ออกไป และกำหนดจะสิ้นสุด 30 เมษายน 2565

เอกชนค้าน ยุติ “ทัวร์เที่ยวไทย”

ดร.อดิษฐ์ระบุว่า ภาคเอกชนท่องเที่ยวได้รับข้อมูลว่า รัฐบาลจะยุติโครงการทัวร์เที่ยวไทย และจะนำงบฯที่เหลือไปใช้สำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4

โดยให้เหตุผลว่า โครงการทัวร์เที่ยวไทย ไม่ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวคนไทยเท่าที่ควร เนื่องจากคนไทยหันไปนิยมเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเองมากขึ้น

“โครงการทัวร์เที่ยวไทย ถือเป็นโครงการที่เกิดขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยว

และโครงการนี้เป็นโครงการเดียวที่ผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยวได้รับการดูแลจากรัฐบาลนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิดตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หากยุติโครงการนี้แล้ว และนำงบประมาณที่เหลือไปใช้กับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ก็จะเป็นการผิดวัตถุประสงค์เดิมที่ต้องการช่วยผู้ประกอบการให้มีงานทำ”

ร่อน จม.ถึง รมว.ท่องเที่ยวฯ

ดร.อดิษฐ์กล่าวว่า โครงการทัวร์เที่ยวไทยนั้น ภาคเอกชนท่องเที่ยว อาทิ สมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) ฯลฯ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนและเสนอไปหลายครั้งตั้งแต่ปี 2563

และเริ่มดำเนินการได้เมื่อเดือนตุลาคม 2564 และกำหนดไว้จำนวน 1 ล้านสิทธิ ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิได้ 1 คนต่อ 1 สิทธิ และต้องเดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยว โดยรัฐจะช่วยจ่ายค่าแพ็กเกจทัวร์ 40% ของราคาเต็ม แต่สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาทต่อสิทธิ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการใหม่ และมีเงื่อนไขมาก จึงยากต่อการปฏิบัติ ทำให้ทั้งผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวใช้เวลานานในการทำความเข้าใจในรายละเอียด โครงการจึงเดินได้ช้า

แต่ปัจจุบันหลังสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 หมดไป ตอนนี้โครงการทัวร์เที่ยวไทยก็เริ่มเดินได้บ้างแล้ว ดังนั้นจึงไม่ควรยุติโครงการ

“ตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมาเอกชนท่องเที่ยวเดือดร้อนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวที่ไม่รับการเยียวยาเลย มีเพียงโครงการทัวร์เที่ยวไทยเท่านั้นที่ออกมาช่วย

แต่ด้วยเงื่อนไขที่มีรายละเอียดปลีกย่อยมาก จึงทำให้โครงการเดินได้ยาก หากรัฐบาลเอาตัวชี้วัดของโครงการเราเที่ยวด้วยกันมาวัดถือว่าไม่ยุติธรรมกับโครงการทัวร์เที่ยวไทย

เพราะดำเนินการภายใต้เงื่อนไขที่ต่างกัน ที่สำคัญไม่ควรจะยุติโครงการแล้วโยกงบฯไปให้เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 เพราะผิดวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ต้องการช่วยผู้ประกอบการ”

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนท่องเที่ยว ที่ประกอบด้วย สมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) ฯลฯ จะทำหนังสือถึงนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและให้พิจารณาเดินหน้าโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ต่อไป เช่นเดียวกับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 4 ที่จะสิ้นสุดโครงการ 30 เมษายน 2565 ตามมติ ครม.เมื่อ 21 ธันวาคม 2564

ยันไม่ยุติ-แค่ลดจำนวนสิทธิ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ในเรื่องนี้ โดยยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายยุติโครงการทัวร์เที่ยวไทยแต่อย่างใด

เพียงแต่อาจมีการปรับจำนวนสิทธิลง จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 1 ล้านสิทธิ ส่วนจะเหลือเท่าไหร่นั้นจะต้องหารือร่วมกับหลาย ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา

โครงการนี้มีผู้ใช้สิทธิไปประมาณ 20,000 กว่าสิทธิเท่านั้น และยังมีสิทธิคงเหลืออีกกว่า 973,000 สิทธิ และมองว่าจำนวนสิทธิดังกล่าวไม่น่าจะใช้หมดทันในระยะเวลาอันสั้นนี้ หรือทัน 30 เมษายน 2565 นี้

ประกอบกับมีเสียงสะท้อนว่าหากรัฐเดินหน้าโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 4 ก็จะส่งผลทำให้โครงการทัวร์เที่ยวไทยเดินช้า

“ผมยืนยันว่าไม่มีการยุติโครงการทัวร์เที่ยวไทยแน่นอน และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่สามารถเอางบประมาณจากโครงการหนึ่งไปโปะอีกโครงการหนึ่งได้ สำหรับการเดินหน้าขยายมาตรการทั้ง 2 โครงการไป 30 เมษายน 2565

ตามมติ ครม.เมื่อ 21 ธันวาคม 2564 นั้น สภาพัฒน์จะนำเสนอรายละเอียดการดำเนินโครงการต่อที่ประชุม ครม.ในวันที่ 25 มกราคมที่จะถึงนี้

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า ทั้งนี้ โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 4 ที่จะดำเนินการภายใต้กรอบงบประมาณ 13,200 ล้านบาท โดยเพิ่มจำนวนห้องพักอีก 2 ล้านห้อง สิ้นสุด 30 เมษายน 2565

ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งต้องผ่านคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้และแจ้ง ครม.เพื่อรับทราบ หาก ครม.เห็นชอบ คาดว่าจะเริ่มเดินหน้าและลงทะเบียนรับสิทธิได้ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 นี้

ชงรัฐเร่งแก้ 4 ปัญหาใหญ่

นายเอนก ศรีชีวะชาติ ประธาน บริษัท ยูนิไทย แทรเวล จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิสมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

นอกจากประเด็นเรื่องการขอต่อโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ในการประชุมคณะกรรมาธิการท่องเที่ยว ในวันที่ 20 มกราคม 2565 นี้แล้ว ภาคเอกชนท่องเที่ยวยังเตรียมเสนอประเด็นปัญหาอีก 4 หัว

ประกอบด้วย 1.การพิจารณาผ่อนคลายการระงับการเข้าประเทศด้วยมาตรการ test & go ให้ทันก่อนสิ้นสุดฤดูกาลท่องเที่ยวเดือนเมษายน 2565 หรือหามาตรการอื่นรองรับการฟื้นฟูท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน

2.ให้พิจารณาขยายโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่จะสิ้นสุด 31 มกราคมนี้ โดยเร่งด่วน เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

และขยายโครงการทัวร์เที่ยวไทยออกไปอีก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโอมิครอน

3.ขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ทบทวนนโยบายจัดเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวต่างชาติ 300 บาท ที่จะเริ่มในเดือนเมษายน 2565 เนื่องจากส่งผลกระทบด้านจิตวิทยาต่อนักท่องเที่ยวและสร้างภาพลักษณ์ทางลบในช่วงที่ประเทศต้องการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทย

และ 4.พิจารณาต่ออายุสินเชื่อเพื่อการท่องเที่ยว (soft loan) ดอกเบี้ย 2% ของธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารออมสิน ที่จะสิ้นสุดโครงการในเดือนเมษายน 2565 นี้ออกไปอีก 2 ปี เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างหนัก และธุรกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้

ติดแฮชแท็ก #RIPท่องเที่ยวไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาคเอกชนท่องเที่ยวทุกสาขาอาชีพ ทั้งกลุ่มตลาดต่างประเทศ ในประเทศ บริษัทนำเที่ยว รถนำเที่ยว โรงแรม ฯลฯ มีการนัดประชุมครั้งใหญ่

และมีผู้นำสมาคมต่าง ๆ รวมถึงผู้ใหญ่ในวงการจำนวนมากมาร่วมถกประเด็นปัญหาของอุตสาหกรรม ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงร่วมกันหาทางออกของอุตสาหกรรม

โดยเสียงส่วนใหญ่สะท้อนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นกินเวลายาวนานเกินกว่าที่จะสามารถพยุงธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้

หากรัฐบาลไม่มีความจริงใจที่จะดูแลและสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกซัพพลายเชนจะฟื้นตัวยากมาก พร้อมทั้งร่วมมือกันติดแฮชแท็ก #RIPท่องเที่ยวไทย ในสื่อโซเชียลต่าง ๆ จำนวนมาก

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/tourism/news-842562

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *