Fri. Apr 19th, 2024
เราเที่ยวด้วยกัน

‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ไม่ขยับ! งบเหลือหมื่นล้าน-งัดเที่ยวผ่านทัวร์แก้เกม

การดำเนินงานโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศตามโครงการ “เที่ยวปันสุข” ภายใต้งบประมาณ 22,400 ล้านบาท ที่ได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ตั้งเป้าก่อให้เกิดรายรับทางเศรษฐกิจรวมที่ 1.39 แสนล้านบาท (ในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2563) ในจำนวนเกือบ 1.4 แสนล้านบาทนี้ แบ่งเป็นรายรับจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จำนวน 1.23 แสนล้านบาท และโครงการ “กำลังใจ” จำนวน 1.58 หมื่นล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานภายใต้โครงการราว 2.62 แสนคน

งบฯเหลือราว 1.5 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่งให้ข้อมูลกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่รัฐได้เริ่มดำเนินการโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศผ่านโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “กำลังใจ” มาประมาณ 4 เดือนพบว่าโครงการดังกล่าวขับเคลื่อนได้ช้ากว่าเป้าหมายที่วางไว้ค่อนข้างมากหรือเดินหน้าได้เพียงแค่ประมาณ 35-40% เท่านั้น

โดยคิดเป็นมูลค่าการใช้งบประมาณสนับสนุนไปเพียงแค่ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาทเท่านั้น นั่นหมายความว่างบประมาณยังเหลืออีกราว 1.5 หมื่นล้านบาท

ด้วยเหตุนี้ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องขอมติ ครม.ต่ออายุทั้ง 2 โครงการไปอีกจนถึง 31 มกราคม 2564 และเชื่อว่า หากงบประมาณยังใช้ไม่หมด และยังไม่บรรลุเป้าหมาย รัฐบาลน่าจะขอต่อเวลามาตรการดังกล่าวออกไปอีกจนกว่างบประมาณ 22,400 ล้านบาทจะหมดแน่นอน

ถก ส.ท่องเที่ยวกระตุ้นโค้งท้าย

แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า ในช่วงก่อนเริ่มโครงการกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนมาตรการไว้เยอะมาก โดยเฉพาะรูปแบบ วิธีการ ที่ทำให้คนเข้าถึงมาตรการของโครงการได้สะดวก โดยเฉพาะรูปแบบการสนับสนุนแพ็กเกจทัวร์ในสัดส่วน 40% เช่นเดียวกับการสนับสนุนค่าโรงแรม ที่พัก และตั๋วเครื่องบิน แต่รัฐไม่เห็นด้วยในหลักเกณฑ์ เพราะเชื่อว่าจะสามารถขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวได้ในเวลาที่กำหนดได้ (ตุลาคม 2563)

แต่โครงการกลับไม่เป็นไปตามเป้า โดยเฉพาะยอดการจองห้องพักในโครงการเราเที่ยวด้วยกันที่ยังไม่ถึง 2 ล้านคืน จากเป้าหมาย 5 ล้านคืน และยอดการใช้สิทธิตั๋วเครื่องบินที่มีผู้ใช้สิทธิไปแล้วเพียงแค่ 5-6 หมื่นสิทธิ จากเป้าหมาย 2 ล้านสิทธิ

ตอนนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต้องทำการบ้านอย่างหนัก พร้อมทั้งหาทางปลดล็อกเงื่อนไขบางอย่าง เพื่อให้คนเข้าถึงมาตรการดังกล่าวได้ง่ายขึ้น

รวมทั้งเปิดเวทีถกกับภาคเอกชน สมาคมท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันผลักดันในช่วงโค้งท้ายของโครงการกันอีกระลอกใหญ่

ขอ 5 พัน ล.กระตุ้นกลุ่มสูงอายุ

“ธนพล ชีวรัตนพร” นายกสมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) บอกว่า สทน.ได้นำเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนราคา “แพ็กเกจทัวร์” สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุในอัตรา 40% เช่นเดียวกับที่รัฐสนับสนุนค่าโรงแรม ที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบิน สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาทต่อแพ็กเกจ จำนวน 1 ล้านสิทธิ ใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท จากงบประมาณโครงการเราเที่ยวด้วยกัน สำหรับดำเนินการช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563-เมษายน 2564 โดยกำหนดให้ใช้บริการผ่านบริษัท นำเที่ยวเท่านั้น

ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและสามารถเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดาได้เข้าถึงมาตรการดังกล่าวได้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มอัตราการเข้าพักโรงแรมในช่วงวันธรรมดาด้วย

“เชื่อว่าการเดินทางภายใต้โครงการนี้ จะมีครอบครัวร่วมติดสอยห้อยตามไปกับผู้สูงอายุด้วยเฉลี่ย 3.86 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน ทำให้สามารถกระตุ้นการเดินทางได้ถึง 4 ล้านคน ทำรายได้มากกว่า 20,000 ล้านบาท สร้างการจ้างงานมากกว่า 1 แสนราย”

และเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวนี้จะช่วยกระตุ้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยว ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 200 ล้านคนครั้งได้ในปี 2564 และสร้างรายได้ที่ 1.5 ล้านล้านบาท

เร่งกลุ่มเที่ยวนอกออกเที่ยวไทย

นอกจากสมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) แล้ว ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังได้ให้โจทย์กับทางสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) กลุ่มทำตลาดเอาต์บาวนด์ หรือนำคนไทยออกไปเที่ยวต่างประเทศให้ช่วยกระตุ้นกลุ่มคนไทยที่นิยมเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งมีจำนวนปีละประมาณ 10 ล้านคนให้ออกมาเที่ยวในประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

“สุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ” นายกสมาคม TTAA หรือสมาคมทัวร์เอาต์บาวนด์ บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคม TTAA ได้หารือร่วมกับทาง ททท.และกระทรวงการท่องเที่ยวฯถึงรูปแบบ วิธีการขับเคลื่อนและกระตุ้นกลุ่มคนไทยที่นิยมเที่ยวต่างประเทศให้หันมาเที่ยวภายในประเทศแทน โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 5 แสนคน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563-มกราคม 2564 หรือเวลา 3 เดือนที่เหลือของโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”

โดยรูปแบบการดำเนินงานนั้นทางสมาคม TTAA ทำงานประสานกับสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยว ส่วนภูมิภาคฯ (TFOPTA) และสมาคมท่องเที่ยวในส่วนกลางอีก 5 สมาคม อาทิ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA), สมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) ฯลฯ โดยรูปแบบการดำเนินงานนั้นจะยึดหลักของมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เป็นตัวตั้ง กล่าวคือ ขอให้รัฐช่วยสนับสนุนราคาแพ็กเกจทัวร์เที่ยวในประเทศในสัดส่วน 40% เช่นกัน

“เราเน้นขายเป็นแพ็กเกจทัวร์เช่นกัน โดยจะเน้นทำตลาดในเซ็กเมนต์พรีเมี่ยมเป็นหลัก ทั้งแพ็กเกจที่ขายจากส่วนกลาง และแพ็กเกจที่ขายจากส่วนภูมิภาค รวมถึงขายแพ็กเกจข้ามภาค เพื่อให้บริษัทนำเที่ยวทั่วประเทศมีงานทำและทำให้เกิดการเดินทางทั่วประเทศอย่างแท้จริง” สุทธิพงศ์ให้ข้อมูล

พร้อมระบุว่า ด้วยความที่สมาคม TTAA มุ่งโฟกัสแพ็กเกจทัวร์จับตลาดพรีเมี่ยม ทางสมาคมจึงได้เสนอให้ ทางภาครัฐพิจารณาสนับสนุนในวงเงินสูงสุด (40%) ที่ประมาณ 7,000-7,500 บาทต่อแพ็กเกจ ซึ่งคาดว่า น่าจะใช้กรอบวงเงินงบประมาณที่ราว 4,000 ล้านบาท

จับตา “นโยบาย” ล้มเหลว ?

คงต้องดูกันต่อไปว่า ความพยายามในการปลดล็อกเงื่อนไขของโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ของรัฐที่กำลังดำเนินการอยู่นี้จะบรรลุเป้าหมายในระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ มาตรการต่าง ๆ ที่สมาคมท่องเที่ยวนำเสนอไปนั้น กระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ดูแลงบประมาณจะเห็นชอบมอบให้ดำเนินการหรือไม่

เพราะหลายฝ่ายเริ่มวิเคราะห์แล้วว่า มาตรการที่ออกมานั้น “ล้มเหลว” ไม่เป็นท่า โจทย์ใหญ่ของรัฐในเวลานี้จึงอยู่ที่ว่าจะใช้งบประมาณที่เหลืออีกราว 1.5 หมื่นล้านบาทนี้ ให้เป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดรายรับทางเศรษฐกิจที่ 1.39 แสนล้านบาท ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างไร

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/tourism/news-548027

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *