Fri. Apr 19th, 2024
สมาคมโรงแรมไทย

เปิดประเทศ หนุนอัตราเข้าพักโรงแรม พ.ย. ขยับ ผู้ประกอบการเกินครึ่งรายได้ยังต่ำ

สมาคมโรงแรมไทยเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเดือน พ.ย.64 พบสัญญาณดีขึ้นเล็กน้อย อัตราเข้าพักขยับเฉลี่ยขยับไปอยู่ 30% รับเปิดประเทศ แต่มีเพียงร้อยละ 21 ที่รายได้กลับมาเกินครึ่งหนึ่ง ผู้ประกอบการยังเจออุปสรรคจากสถาบันการเงิน ย้ำรัฐบาลต้องออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม

วันที่ 7 ธันวาคม 2564 สมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักโรงแรม ซึ่งจัดทำร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 จากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 146 แห่ง (เป็น ASQ 11 แห่ง, Hospitel 3 แห่ง) ระหว่างวันที่ 11-25 พฤศจิกายน 2564 ก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในต่างประเทศ

พบว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2564 มีโรงแรม (ไม่รวมที่เป็น ASQ และ Hospitel) ร้อยละ 68 เปิดกิจการปกติ ใกล้เคียงจากเดือนตุลาคมที่ร้อยละ 67

โดยสาเหตุที่โรงแรมบางส่วนยังไม่กลับมาเปิดกิจการปกติ เนื่องจากต้นทุนในการเปิดดำเนินการ เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างพนักงาน ยังอยู่ในระดับสูง และอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ โรงแรมที่ยังปิดกิจการชั่วคราว (ร้อยละ 7) คาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งอย่างเร็วในไตรมาส 1 ปี 2565 และอีกจำนวนหนึ่งที่ปิดกิจการชั่วคราวมามากกว่า 1 ปี คาดว่ากลับมาเปิดกิจการได้ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป

ส่วนอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 30 เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ที่มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 23 เป็นการปรับขึ้นของโรงแรมในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะโรงแรมในภาคตะวันออกและภาคกลาง หลังจากมีการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเพิ่มเติม รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ทัวร์เที่ยวไทย นอกจากนี้ โรงแรมส่วนใหญ่คาดว่าอัตราการเข้าพักในเดือนธันวาคม ที่เป็นช่วง High season จะเพิ่มขึ้นจากเดือนปัจจุบันมาอยู่ที่ร้อยละ 34

ขณะที่รายได้ของผู้ประกอบการที่พักโรงแรม ในเดือนพฤศจิกายนยังอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนตุลาคมเล็กน้อย สะท้อนจากโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่ โรงแรมที่รายได้กลับมาไม่ถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับก่อนการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 57 ลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 63 และมีโรงแรมเพียงร้อยละ 21 ที่รายได้กลับมาเกินครึ่งหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 30 และมีลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวทั่วไปชาวไทย

ผลสำรวจยังระบุด้วยว่า ผู้ประกอบการยังต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐคล้ายกับการสำรวจครั้งก่อน โดยต้องการให้พักชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย และสนับสนุนค่าจ้างพนักงานเดิม (Co-Payment) มาเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว

สำหรับปัญหาหรืออุปสรรคในการเข้าถึงมาตรการฟื้นฟูฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ไม่ต่างจากการสำรวจในเดือนก่อนมากนัก โดยผู้ประกอบการมากกว่าครึ่งมองว่าอุปสรรคของการเข้าร่วมโครงการ คือ สถาบันการเงินสร้างเงื่อนไข หรือกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมซึ่งทำให้เข้าถึงมาตรการได้ยากขึ้น

ขณะที่โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มีปัญหาเรื่องไม่มีความชัดเจนว่าสถาบันการเงินจะให้เข้าร่วมโครงการมากที่สุด ขณะที่สินเชื่อฟื้นฟูฯ ส่วนใหญ่มีอุปสรรคเรื่องอัตราดอกเบี้ย/ค่าธรรมเนียมสูงเกินไป สถาบันการเงินระมัดระวังการให้สินเชื่อค่อนข้างมาก โดยเฉพาะลูกหนี้ใหม่ และการสื่อสารรายละเอียดของมาตรการ นโยบายหรือแนวปฏิบัติของสถาบันการเงินไม่ชัดเจน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโรงแรมร้อยละ 35 มองว่าผลของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และทัวร์ทั่วไทยในเดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นไปตามที่คาด ขณะที่อีกร้อยละ 28 ยังมองว่าแย่กว่าที่คาด เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำเป็นสำคัญ

ส่วนผลของการเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ผู้ประกอบการร้อยละ 36 ระบุว่ายังไม่สามารถประเมินผลของการเปิดประเทศต่ออัตราการเข้าพักได้ ขณะที่โรงแรมที่มองว่าผลเป็นไปตามที่คาด และแย่กว่าที่คาดมีสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ประมาณร้อยละ 25

ทั้งนี้ สมาคมโรงแรมไทยเห็นว่าภาคธุรกิจโรงแรมยังต้องการมาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐ ทั้งการพักชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตลอดจนการเพิ่มสภาพคล่อง เงินกู้ Soft Loan สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูต่าง ๆ ควรมีความชัดเจนจากสถาบันการเงิน รวมถึงความสำคัญกับระบบสาธารณสุข เรื่องของวัคซีน หรือนโยบายการเปิดประเทศ มาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/tourism/news-816953

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *