Fri. Apr 19th, 2024
ขยะ

“เที่ยวไทย” หนุนเดินหน้าลดพลาสติก รัฐพัฒนา “นวัตกรรม” แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่ประสบปัญหาขยะพลาสติกอันดับ 6 ของโลก ที่มีการทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุด รองจากจีน, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และศรีลังกา หรือคิดเป็นปริมาณราว 1.3 ล้านตันต่อปี ในปี 2018 ที่ผ่านมา ภาครัฐจึงได้ออกมาตรการลดและยกเลิกการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ single-use plastic 7 ชนิด อาทิ ฝาน้ำดื่ม,กล่องโฟมบรรจุอาหาร, แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง, ถุงพลาสติกหูหิ้ว, หลอดพลาสติก ฯลฯ ภายในปี 2025 ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายลดปริมาณขยะภายในประเทศ

สำหรับในส่วนของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยนั้น ได้เริ่มจุดกระแสกันมาตั้งแต่ปลาย 2561 ที่ผ่านมาโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมเชนอินเตอร์ที่ปรับตัวกันทันที ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มอินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ล กรุ๊ป (IHG) เจ้าของธุรกิจโรงแรมระดับโลก หรือโรงแรมในเครือแมริออทอินเตอร์ฯ และอนันตรา โฮเทลส์ แอนด์ รีสอร์ทซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่เหล่านี้ได้ประกาศยกเลิกการใช้ขวดใส่ผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่ใช้ในห้องน้ำแบบใช้ครั้งเดียว เป็นขวดแบบปั๊มขนาดใหญ รวมถึงการยกเลิกการใช้ขวดน้ำพลาสติกและหลอดพลาสติกนำร่องไปแล้ว

ขณะที่โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทาราได้ประกาศแผนยั่งยืนปี 2562 ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ การเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง การลดปริมาณอาหารที่เหลือทานด้วยการมอบอาหารที่เกินปริมาณบริโภคในแต่ละวัน แต่ยังคุณภาพดีให้แก่องค์กรการกุศลในชุมชนใกล้เคียง และการสนับสนุนผลิตผลจากเกษตรกรและชุมชนในท้องถิ่นและที่ชัดเจนที่สุด คือ ความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กับสมาคมโรงแรมไทย ที่ทำโครงการร่วมใจลดใช้พลาสติก ภายใต้ปฏิญญา “เที่ยวไทยเท่ ไม่สร้างขยะ ลดโลกเลอะ” เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโรงแรมลดและเลิกใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ผ่านการดำเนินกิจกรรมของโรงแรม และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของโรงแรมในประเทศไทยในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รณรงค์ให้

ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว อาทิ บริษัทนำเที่ยว และผู้ให้บริการการจองห้องพักออนไลน์ (OTA) สนับสนุนและเลือกใช้บริการของโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

“ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ” นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ให้ข้อมูลว่า หลังจากที่เปิดตัวโครงการดังกล่าวไปพบว่าได้รับการตอบรับที่ดีมากจากกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม ปัจจุบันมีโรงแรมต่าง ๆ เข้าร่วมแล้วประมาณ 300 โรงแรม ทั้งในส่วนที่เป็นเชนอินเตอร์ เชนไทย รวมถึงโรงแรมขนาดเล็ก โดยเฉพาะในส่วนของการเลิกใช้ขวดน้ำพลาสติกและหลอดพลาสติก ซึ่งเป็นสิ่งที่เริ่มต้นได้ง่ายที่สุดและเชื่อมั่นว่าจากจำนวนโรงแรมที่เข้าร่วมดังกล่าวนี้จะช่วยทำให้ลดปริมาณพลาสติกของประเทศไทยลงได้มหาศาลทีเดียวในปีนี้

“เรามองว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในส่วนของโรงแรมจะให้ความสำคัญในเรื่องการใช้พลาสติกอย่างจริงจัง และมองหาสิ่งใหม่เข้ามาทดแทน และเชื่อว่าสิ่งใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนพลาสติกจะมีต้นทุนที่ต่ำลงกว่าที่เป็นอยู่ด้วย”

ขณะที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ประกาศพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวด้วยการสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากขยะพลาสติก โดยปฏิวัติรูปแบบถุงพลาสติกในประเทศไทย ด้วยการวิจัยและพัฒนาถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับขยะเศษอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ต้นแบบในการพัฒนาตอบโจทย์ BCG Economy ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ โดยการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการเพิ่มคุณค่าออกมาสู่ตลาด และได้นำร่องใช้งานจริงแล้วในงานกาชาด ประจำปี 2562 เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาแล้ว

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ให้ข้อมูลว่า นวัตกรรมดังกล่าววิจัยและพัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยและภาคเอกชนของไทย โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. ร่วมกับภาคเอกชน คือ เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือจากภาคีอุตสาหกรรมพลาสติก ประกอบด้วย โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ (ประเทศไทย) และบีเอเอสเอฟ (ไทย) สนับสนุนวัตถุดิบเม็ดพลาสติกชีวภาพ และบริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) สนับสนุนกระบวนการเป่าขึ้นรูปถุงพลาสติกย่อยสลายได้

โดยมองว่านวัตกรรมดังกล่าวจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการปฏิวัติรูปแบบถุงพลาสติก และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมืองไทยในอนาคต

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

https://www.prachachat.net/tourism/news-401647

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *