Fri. Mar 29th, 2024
ปลุกท่องเที่ยว ‘ลุ่มแม่น้ำโขง’ เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน กระตุ้นรายได้ภาคอีสาน

ปลุกท่องเที่ยว ‘ลุ่มแม่น้ำโขง’ เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน กระตุ้นรายได้ภาคอีสาน

เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ‘นครพนม’ ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดการประชุมท่องเที่ยวอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือแม่โขง ทัวริสซึ่ม ฟอรั่ม 2018 (MTF 2018)

นับเป็นเวทีการประชุมประจำปีสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงของประเทศสมาชิก Greater Mekong Subregion (GMS) ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ประเทศ คือ กัมพูชา จีน (เฉพาะจังหวัดยูนนานและเขตปกครองตัวเองกวางสี) สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 500 คน

นอกเหนือจากที่ประชุมคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวระหว่างผู้แทนสำนักงานประสานความร่วมมือการท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำโขงและผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ได้หารือเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการตลาดท่องเที่ยวร่วมกัน รวมถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวของประเทศสมาชิกในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาแล้ว ยังมีการพูดคุยเกี่ยวกับความคืบหน้ำของการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปี 2558-2568 และประเด็นสำคัญที่จะส่งเสริมร่วมกันในระยะยาว

ปลุกท่องเที่ยว ‘ลุ่มแม่น้ำโขง’

คุณอิทธิพล คุณปลื้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เล่าว่าเหตุผลที่เลือก ‘นครพนม’ ให้เป็นที่จัดประชุม MTF 2018 เพราะเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มีจุดเด่นเรื่องยุทธศาสตร์ที่ตั้งติดริมฝั่งแม่น้ำโขงเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมไทย ลาว และเวียดนาม

นอกจากนี้ ยังมีสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย และการเชื่อมโยงภาคพื้นดินและทางอากาศที่สะดวกด้วย

สอดคล้องกับมุมมองของคุณ Jens Threatheart ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง กล่าวว่า การท่องเที่ยวสามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น ด้วยการทำความเข้าใจร่วมกันและยังสามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่เราสามารถรับมือกับปัญหาร้ายแรงต่าง ๆ ได้ เช่น การเจริญเติบโตด้านการท่องเที่ยวที่มากเกินไป รวมถึงมลพิษที่เกิดจากพลาสติก

เที่ยวอีสาน

นอกเหนือจากการประชุมเรื่องการส่งเสริมท่องเที่ยวร่วมกันแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่มีการพูดคุยกันบนเวทีสัมมนา คือ ‘การท่องเที่ยวเชิงพระพุทธศาสนา’ (Buddhist Tourism) เพราะไม่เพียงแต่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่ประเทศสมาชิก GMS แต่ยังรวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นของนครพนม

“นครพนมมีความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงพระพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยประเทศไทยเองมีความพร้อมที่จะเป็นผู้ประสานงานการท่องเที่ยวเชิงศาสนาพุทธในภูมิภาคเอเชียรวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาก” คุณอิทธิพลกล่าว

ทั้งนี้ ในแถบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พบว่า มีกว่า 150 ธุรกิจขนาดย่อมมุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในชุมชน เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมและกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกด้วย

ด้านคุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า นอกเหนือจากการที่ประเทศไทยได้ใช้เวทีนี้แสดงถึงศักยภาพในการเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงพระพุทธศาสนา ซึ่งจะนำไปขยายผลต่อไปในการท่องเที่ยวแถบลุ่มน้ำโขงและเอเชียอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปแล้ว ยังถือเป็นโอกาสดีที่ได้โชว์ให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเห็นศักยภาพของนครพนม ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงการเดินทางสำคัญ เพราะมีเส้นทางคมนาคมทางบกที่เชื่อมโยงกับประเทศสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขง เช่น เส้นทางอาร์ 12 ที่เชื่อมไทย ลาว เวียดนาม และตอนใต้ของจีนขณะเดียวกันยังมีความพร้อมเรื่องสนามบินอีกด้วย

โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดหวังว่าเวที MTF ครั้งนี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นรายได้ท่องเที่ยวของภาคอีสาน จากปัจจุบันรายได้ท่องเที่ยวของภูมิภาคนี้ครองสัดส่วนเพียง 2.9% ของรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมดของไทยเท่านั้น

ท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขง ประเทศเพื่อนบ้าน

คุณสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เล่าว่า ทางจังหวัดนครพนมคาดว่าตลอดปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติรวม 1.4-1.5 ล้านคน และมุ่งโปรโมทตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้านครพนมมากขึ้นจากปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 10% เท่านั้น ผ่านสินค้าท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด ‘3 ธรรม’ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงพระพุทธศาสนา (ธรรมะ), ธรรมชาติและวัฒนธรรมของชนเผ่าในท้องถิ่น

ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกทางจังหวัดนครพนมได้พัฒนาทางจักรยานสำาหรับปั่นเลียบแม่นำโขงเป็นระยะทางรวมกว่า 75 กิโลเมตร ตั้งต้นจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 ไปจนถึงพระธาตุพนม คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2562 เพื่อรองรับการโปรโมทเส้นทางจักรยานทัวร์เดอโขง โดยปัจจุบันก่อสร้างในระยะทาง 14 กิโลเมตรแรกเสร็จแล้ว จากสะพานมิตรภาพฯ ถึงแลนด์มาร์กแห่งใหม่ อย่างรูปปั้นพญาศรีสัตตนาคราช ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากราบไหว้ขอพรกันจำนวนมาก ช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถเช่ารถจักรยานขี่เลียบแม่น้ำโขง ชื่นชมวิวทิวทัศน์โดยเฉพาะเทือกเขาบนฝั่งสปป.ลาวได้อย่างสะดวกสบาย

คุณวไลลักษณ์ น้อยพยัคฆ์ ผู้อำนวยการภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้และแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า แนวทางการทำตลาดท่องเที่ยวร่วมกันในประเทศสมาชิกกลุ่มลุ่มน้ำโขงจะไม่เน้นขายเพียงประเทศเดียวอีกต่อไป แต่จะผนึกการขายสินค้าท่องเที่ยวของประเทศเพื่อนบ้านเข้าไปด้วย

โดยในปีที่ผ่านมา ททท.ได้นำเสนอให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว นำเส้นทางภายใต้ธีมโรแมนติก ไปเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เส้นทางระยอง-จันทบุรี-ตราด-สีหนุวิลล์-เสียมเรียบ-ฟูก๊วก รวมไปถึงเส้นทางเชื่อมโยงอื่น ๆ ที่น่าสนใจอย่างเส้นทางอุดรธานี-หนองคาย-เวียงจันทน์ และเส้นทางเชียงใหม่-ลำปาง-มัณฑะเลย์ เชื่อมโยงการเดินทางด้วยสายการบินหรือรถยนต์ตามความชอบ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เลือกเดินทางสัมผัสประสบการณ์จากการเดินทางท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ๆ โดยขณะนี้กำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกาอย่างมาก!

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *