Thu. Apr 18th, 2024
ตลาดนักท่องเที่ยวจีน

เจาะลึกตลาดนักท่องเที่ยวจีน ใกล้จะได้ไปต่อ (หรือ) ยังต้องรอต่อไป

นักท่องเที่ยวจีนเป็นตลาดที่ครองอันดับเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยสูงสุดติดต่อกันมากว่า 10 ปี และในปี 2562 ที่ผ่านมาก็มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคน “ตลาดจีน” จึงมีความสำคัญและมีน้ำหนักอย่างมากสำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวไทย

เมื่อภาคเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงจีนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะเดินต่ออย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมสถานการณ์ของประเทศจีนรวมถึงแนวโน้มด้านการท่องเที่ยวไว้ดังนี้

ลุ้นตุลาฯนี้-ตรุษจีนปีหน้า

“สันติ แสวงเจริญ” รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยอมรับว่า หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวจากตลาดจีนก็ลดลงอย่างต่อเนื่องจนเป็นศูนย์ททท.จึงคาดการณ์ไว้ 2 รูปแบบ โดยเชื่อว่านักท่องเที่ยวอาจจะออกเดินทางในช่วงสัปดาห์เฉลิมฉลองวันชาติจีน (Golden Week) ในเดือนตุลาคมนี้หรืออาจจะใช้เวลายาวนานกว่านั้น และเดินทางกลับมาในช่วงเทศกาลตรุษจีนในช่วงต้นปี 2564

โดยประเมินว่านักท่องเที่ยวจะไม่กลับมาเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ และกลุ่มแรกที่ออกเดินทาง คือ กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และกลุ่มนักเรียนจีน โดยมีปัจจัยหนุนจากความเข้มแข็งในการควบคุมโรคของไทย และความต้องการของนักท่องเที่ยวจีนที่ยกให้ไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เป็น 3 จุดหมายปลายทางที่ต้องการเดินทาง และคาดว่าจะพร้อมเดินทางในช่วงสัปดาห์เฉลิมฉลองวันชาติจีน

“ตลาดมีข้อจำกัดจากด้านการบินระหว่างไทย-จีนที่ยังไม่เปิดน่านฟ้า รวมถึงมาตรการระงับการออกวีซ่าเข้าประเทศจีนทุกชนิดให้กับชาวต่างชาติ นอกจากนั้นยังมีปัจจัยลบจากความไม่ชัดเจนในเงื่อนไขการเดินทางระหว่างประเทศ นโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และนโยบายดูดนักท่องเที่ยวของประเทศต่าง ๆ อาทิ เกาหลีใต้ เวียดนาม ไต้หวัน และฮ่องกง”

คาดกลับสู่ปกติกลางปีหน้า

“สี เหวินไคว” (Qi Wenqian) ผู้จัดการตลาด ททท.สำนักงานคุนหมิง บอกว่า ได้คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในปี 2563 นี้ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวเอาต์บาวนด์จีนน่าจะลดลงกว่า 82% จากกว่า 155 ล้านคน เหลือเพียง26.7 ล้านคน จากผลกระทบของวิกฤตการณ์โควิด-19 และจะส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางของนักท่องเที่ยว ในระยะยาว แม้นักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาท่องเที่ยวในเดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้ แต่กว่าจะกลับมาเป็นปกติน่าจะต้องใช้เวลายาวนานถึงเดือนมิถุนายนปีหน้า โดยเชื่อว่าก่อนหน้านั้นจะต้องผ่าน 4 ระยะไปให้ได้ ระยะแรก คือ การเปิดเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศทั้งหมด ซึ่งคาดว่าน่าจะต้องใช้เวลาหลังจากเดือนกรกฎาคมนี้ไปแล้ว ระยะสอง คือ การเปิดการเดินทางการทูตและซึ่งน่าจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ประเทศในกลุ่ม One Belt One Road(OBOR) จะได้โอกาสก่อน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในเดือนกันยายน-ตุลาคมปีนี้ ก่อนจะสามารถเปิดการเดินทางในระยะที่ 3 ให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยบริษัทนำเที่ยวจากเมืองที่ความเสี่ยงต่ำสู่ประเทศจุดหมายปลายทางที่ความเสี่ยงต่ำแบบเมืองต่อเมืองในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และระยะที่ 4 เปิดให้มีการเดินทางสู่ประเทศที่ไม่มีความเสี่ยงอย่างอิสระทั้งกลุ่มเดินทางอิสระและเดินทางกับบริษัทนำเที่ยวในเดือนมกราคม-มีนาคมปีหน้า ส่วนระยะที่ 5 เป็นการเปิดให้เดินทางอย่างอิสระ ซึ่งน่ าจะเกิดขึ้นหลังจากการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคได้แล้ว ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากช่วงกลางเดือนปี 2564 ไปแล้ว

เจาะกลุ่มจีดีพีสูง

ด้าน “เลิศชาย หวังตระกูลดี” ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานเซี่ยงไฮ้ ระบุว่าในขณะที่ต้นทุนของผู้ประกอบการท่องเที่ยวจะสูงขึ้นจากความพยายามในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อและมาตรการทางด้านสุขอนามัย แต่กำลังจ่ายของลูกค้าในทุกตลาดรวมถึงตลาดจีนจะลดลง เนื่องจากประชากรจีนแค่เฉพาะในเขตเมืองกว่า 6% หรือราว 27 ล้าน สูญเสียตำแหน่งงานจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและล่าสุดทางการจีนประกาศแล้วว่าจะไม่มีการแถลงเกี่ยวกับตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์ตลาดกำลังเป็นไปคนละทิศทาง กล่าวคือของแพงขึ้น แต่ลูกค้ากลับน้อยลง นอกจากนั้นยังต้องยอมรับว่า ขณะนี้คู่แข่งของไทยมีความเข้มแข็งชัดเจน และเลือกเดินเกมเร็วเข้าสู่ประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็น มัลดีฟส์ หรือสิงคโปร์ ที่เริ่มทำตลาดแล้วในวันนี้

ดังนั้น ในวันที่เราไม่สามารถพิจารณาศักยภาพในการเดินทางจากจำนวนเที่ยวบินและเส้นทางบินเหมือนที่ผ่านมาได้ จึงต้องดูว่านักเดินทางในพื้นที่ไหนที่มีเงินเหลือในกระเป๋ามากที่สุด โดยพิจารณาจากการจัดอันดับของจีดีพีในปีที่ผ่านมา

“จากการจัดอันดับจีดีพีในปี 2562 จะพบว่าเมืองที่มีจีดีพีสูงที่สุด คือ เซี่ยงไฮ้ และรองลงมาอีก 9 เมือง ได้แก่ ปักกิ่ง, เสิ่นเจิ้น, กว่างโจว, ฉงชิ่ง, ซูโจว, เฉิงตู,อู่ฮั่น, หวงโจว และเทียนจิน สอดคล้องกับรายงานของบริษัทคอนซัลต์ชั้นนำของโลกอย่าง McKinsey ที่ระบุว่า เซี่ยงไฮ้และเฉิงตูจะเป็น 2 เมืองที่นักท่องเที่ยวออกเดินทางก่อนด้วยปัจจัยจากสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าพื้นที่อื่น ๆ”

ไทยอยู่เทียร์ 1 ตามหลังญี่ปุ่น

ขณะนี้หากแบ่งจุดหมายปลายทางออกเป็น 3 กลุ่มตามระยะเวลาการเดินทางเชื่อว่านักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางท่องเที่ยวในกลุ่มที่ 1 อย่างญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไทย,สิงคโปร์ และเวียดนามก่อน โดยจะสามารถเปิดขายพรีเซลในเดือนมิถุนายน ก่อนที่จะเริ่มขายกลุ่มที่ 2 อย่างอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ในเดือนกรกฎาคม

ในขณะที่พื้นที่กลุ่ม 3 อย่าง สหรัฐอเมริกา, แคนาดา และยุโรป ยังไม่มีกำหนดเปิดขายพรีเซล การจัดกลุ่มดังกล่าวนี้ถือเป็นสัญญาณบวกสำหรับผู้ประกอบการชาวไทย สอดคล้องกับการประกาศเริ่มต้นขายแพ็กเกจท่องเที่ยวไทยของซีทริปในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แม้ว่าจากหลายโพลจะระบุว่าในช่วงแรกนักท่องเที่ยวจีนส่วนมากจะยังไม่ออกเดินทางในทันที โดยมีเพียง 33% ที่จะท่องเที่ยวและเลือกปักหมุดหมายการเดินทางสู่ญี่ปุ่นก่อนไทย

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางกับบริษัทนำเที่ยวจะไม่หายไปและคงเหลือสัดส่วนในตลาดราว 40% และจะต้องแบ่ง 15% ออกไปให้กับกลุ่มเดินทางกับบริษัทนำเที่ยวแบบเทลเลอร์เมดที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น ทำให้ในอนาคตจะเห็นการเหมาช่วงเวลาการบินน้อยลง และกลุ่มท่องเที่ยวขนาดเล็ก 2-6 จะได้รับความนิยมมากขึ้นเกิดการกระจายการเดินทางและไปพบกันที่จุดหมายปลายทางเลย

ในขณะที่การกลับมาทำตลาดไมซ์อาจจะยากและต้องใช้ความพยายามมากกว่าเดิม เนื่องจากคู่แข่งอย่างเวียดนามไล่ตีคู่ขึ้นมาทุกขณะ ด้วยเป็นจุดหมายปลายทางที่ใหม่กว่า ทรัพยากรธรรมชาติที่ยังไม่บอบช้ำจากการท่องเที่ยว รวมถึงสามารถทำราคาได้ถูกมาก พร้อมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมสำหรับการจัดงานไมซ์ ในเวลานี้เรื่องที่ไทยยังเหนือกว่ามีเพียงการบริการเท่านั้น

ลักเซอรี่-ตั้งเป้าขึ้นท็อป 5

ด้าน “กู้ เสี่ยวหยัน” ผู้จัดการตลาด ททท. สำนักงานเซี่ยงไฮ้ ให้ความเห็นว่าไทยจำเป็นที่จะต้องหันมาจับตลาดที่ยังคงมีเหลือใช้ในกระเป๋าอย่างตลาดลักเซอรี่ให้มากขึ้น ปัจจุบันตลาดลักเซอรี่ในจีนนิยมท่องเที่ยวฝรั่งเศส, อิตาลี, ญี่ปุ่น, มัลดีฟส์และสวิตเซอร์แลนด์เป็นหลัก

โดยไทยอยู่ในอันดับที่ 7 ของจุดหมายปลายทางด้านลักเซอรี่ของนักท่องเที่ยวจีน และมีโอกาสสูงมากในการทะลวงเข้าสู่ท็อป 5 จากสถานการณ์ที่ยุโรปยังคงไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้

นอกจากนั้นจากการเก็บสถิติในอดีตแสดงให้เห็นว่า คนจีนพร้อมที่จะเลือกเดินทางท่องเที่ยวแบบลักเซอรี่ในไทยก่อน หากเทียบกับคู่แข่งในภูมิภาคใกล้เคียงกัน รวมถึงเริ่มมีเอเย่นต์ลักเซอรี่ระดับชาติของจีนหันมาให้ความสนใจกับการเปิดแพ็กเกจท่องเที่ยวลักเซอรี่ในไทยแล้ว ดังนั้นไทยจำเป็นที่จะต้องพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับนักท่องเที่ยวลักเซอรี่จีน

โดยนักท่องเที่ยวลักเซอรี่จีนไม่ได้พิจารณาแค่องค์ประกอบต่าง ๆ ของโรงแรมเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่รวมอยู่ในแพ็กเกจ โดยเฉพาะกิจกรรมที่เอ็กซ์คลูซีฟกว่าที่อื่น ๆ อาทิ ชั้นเรียนทำอาหาร, การดำน้ำดูปะการัง, ตีกอล์ฟ, ทดลองไวน์ ฯลฯ ซึ่งจะต้องเป็นกิจกรรมที่ได้ประสบการณ์พิเศษแตกต่างจากการเดินทางไปชมสถานที่ท่องเที่ยวธรรมดา และต้องไม่เหมือนใคร

เที่ยวกลุ่มเล็ก-วางโปรแกรมเอง

ฟาก “อัญชลี คุ้มวงษ์” ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานปักกิ่ง อธิบายว่า แม้เศรษฐกิจจีนจะฟื้นฟูก่อนประเทศอื่น ๆ แต่ยังคงมีการเลิกจ้างและผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจตามมา ทำให้นักท่องเที่ยวจีนอาจเลือกเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศก่อน กลุ่มคนที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศจึงต้องมีฐานะ ทำให้ในอนาคตอันใกล้นักท่องเที่ยวจีนจะมองหาการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากขึ้น

“นักท่องเที่ยวจีนจะหันมาเที่ยวในกลุ่มขนาดเล็ก 2-4 คน แทนกลุ่มขนาดใหญ่ และหันไปให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวแบบเทลเลอร์เมดที่สามารถปรับโปรแกรมตามต้องการได้มากขึ้น โดยอาจจะเลือกเดินทางกับบริษัททัวร์ในช่วงต้นทริป และปรับเปลี่ยนโปรแกรมเองในช่วงปลาย นอกจากนั้น ระยะพำนักจะลดน้อยลง แต่การเดินทางจะเพิ่มความถี่มากขึ้น เช่นเดียวกับที่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์จะค่อย ๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ”

เน้นคุณภาพ-ความปลอดภัย

ขณะเดียวกัน “กนกกิตติ กากฤตย์วุฒิกร” ผู้อำนวยการ ททท. และ “เจน หลิว” ผู้จัดการตลาด สำนักงานเฉิงตู ร่วมกันให้ข้อมูลว่า จากรายงานของซีทริป ออนไลน์เอเย่นต์รายใหญ่ของจีนคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะสนใจการช็อปปิ้งน้อยลงอย่างมาก และมองหาการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยมีกลุ่มเซ็กเมนต์ที่เชื่อว่าจะสามารถกลับมาท่องเที่ยวได้เร็วกว่ากลุ่มอื่น ๆ อย่างกลุ่มท่องเที่ยวเชิงกีฬา, กลุ่มครอบครัว, กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ รวมถึงกลุ่มมิลเลนเนียลที่จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่านิวนอร์มอลเรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับยุคหลังโควิด นักท่องเที่ยวจะต้องเลือกเดินทางสู่พื้นที่ที่ปลอดภัยก่อนและต้องการมาตรการทางด้านความสะอาดและสุขอนามัยที่ดี มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อลง ซึ่งเชื่อว่ามาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration: SHA จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการออกเดินทางของนักท่องเที่ยวได้

สอดคล้องไปกับการทำงานของ ททท. ทั้ง 5 สำนักงานที่กำลังระดมพลังอย่างเต็มที่ในการประสานงานทำการตลาด เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการชาวไทยก่อน โดยได้เปิดให้ผู้ประกอบการเข้ามาร่วมกับเทรดมีทแบบ B2B ผ่านแพลตฟอร์มวีแชท ก่อนที่ ททท.จะสามารถเดินทางทำตลาดโดยตรงสู่ผู้บริโภคได้ในระยะเวลาอันใกล้ หลังจากหลายเมืองเริ่มเปิดคอนซูเมอร์แฟร์แล้ว

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/tourism/news-485646

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *