Thu. Apr 18th, 2024
“เคทีซี” เสริมบริการท่องเที่ยว “ออฟไลน์-ออนไลน์” สู่วันสต๊อปเซอร์วิส

“เคทีซี” เสริมบริการท่องเที่ยว “ออฟไลน์-ออนไลน์” สู่วันสต๊อปเซอร์วิส

ต้องยอมรับว่าวันนี้ “การท่องเที่ยว” ถือเป็นไลฟ์สไตล์หนึ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยพบว่าสินค้าและบริการจำนวนมาก หันมาทำการตลาดโดยใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลักเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

สัมภาษณ์ “พิทยา วรปัญญากุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ถึงภาพรวม รูปแบบ และแนวโน้มการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว ในฐานะผู้นำด้านการใช้การท่องเที่ยวขับเคลื่อนการตลาด ไว้ดังนี้

“พิทยา” บอกว่า ในส่วนของบัตรเครดิตเคทีซีนั้นการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวยังคงเป็นอันดับ 2 ของยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรในภาพรวมในปี 2561 ที่ผ่านมา ที่มีมูลค่ารวม 1.93 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 9% ซึ่งหมวดการท่องเที่ยวมีสัดส่วนอยู่ประมาณ 9-10% ของยอดการใช้จ่ายรวมทั้งหมด และขยายตัวที่ราว 8%

ราคาถูกลงดันจำนวนซื้อโตพุ่ง

โดยปัจจัยที่ทำให้การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวที่ถูกลงซึ่งส่วนหนึ่งเพราะมีโลว์คอสต์แอร์ไลน์ให้บริการเพิ่มมากขึ้น ขณะที่สายการบินทั่วไปราคาก็ไม่ได้แพงมากนัก ซึ่งพบว่าในขณะที่การใช้จ่ายขยายตัวเพิ่มขึ้น 8% นั้น หากดูจำนวนรายการจะพบว่าการทำรายการด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 20% นับเป็นสัญญาณที่ดี เพราะเป้าหมายการทำการตลาดของเคทีซีนั้นอยากให้ลูกค้ามีการใช้จ่ายในจำนวนรายการที่มากขึ้น

“แนวโน้มหนึ่งที่เราเห็น คือ การใช้จ่ายต่อรายการตัวเล็กลดลงเล็กน้อย ซึ่งก็เป็นปกติเพราะลูกค้าหันมาทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยวผ่านออนไลน์มากขึ้น และนิยมซื้อแยกเป็นรายโปรดักต์ เช่น ซื้อตั๋วเครื่องบินกับที่หนึ่ง จองโรงแรมกับอีกที่หนึ่ง จองรถเช่าอีกที่หนึ่ง และซื้อตั๋วเข้าชมการแสดงอีกที่หนึ่ง เป็นต้น ซึ่งทำให้ลูกค้ามีการใช้จ่ายต่อรายการลดลง แต่มีการทำรายการที่เพิ่มขึ้น แนวโน้มนี้คือพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป จากยุคก่อนที่นิยมซื้อทุกอย่างจากเอเย่นต์ทัวร์รายใดรายหนึ่ง และเอเย่นต์ทัวร์ก็ทำหน้าที่จัดการให้ทั้งหมด”

“พิทยา” บอกด้วยว่า จากแนวโน้มนี้ทำให้เอเย่นต์แบบดั้งเดิม หรือเทรดดิชั่นนอลเอเย่นต์ อาจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ เพราะเขาจะอยู่ยากขึ้น เพราะมีออนไลน์แทรเวลเอเย่นต์ หรือ OTA เข้ามาแทนที่ ขณะที่ลูกค้าก็มีช่องทางในการเลือกซื้อสินค้าด้านการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดในกลุ่มของบัตรเครดิตเพื่อการท่องเที่ยวนั้น “พิทยา” บอกว่า ยังเชื่อมั่นว่าบัตรเคทีซียังแข็งแกร่งเหมือนเดิม เพราะเป็นรายแรกที่ทำการตลาดในรูปแบบนี้ ที่สำคัญไม่ได้เน้นเพียงแค่การทำโปรโมชั่นราคาเท่านั้น แต่ยังเน้นสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งมีความชัดเจน ด้วยการร่วมกับองค์กรการท่องเที่ยวของประเทศต่าง ๆ รวมถึงองค์กรท่องเที่ยวต่าง ๆ ภายในประเทศ และให้ความสำคัญกับเรื่องของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนอีกด้วย

แนะตามเทรนด์ให้ทัน

พร้อมอธิบายว่า การท่องเที่ยวเป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์ ความยากจึงอยู่ที่ต้องตามเทรนด์ให้ทัน วันนี้คนเริ่มท่องเที่ยวแบบมีแคแร็กเตอร์พิเศษมากขึ้น เช่นท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เรื่องของอีโค่ทัวริซึ่มการไปสัมผัสวัฒนธรรม หรือการไปวิ่งแบบผจญภัยสัมผัสธรรมชาติ หรือวิ่งเทรล ตอนนี้คนรุ่นใหม่วิ่งแค่ในเมืองไทยไม่พอแล้ว เริ่มไปวิ่งต่างประเทศเพื่อค้นหาประสบการณ์ใหม่ ๆ เป็นต้นเทรนด์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ “เคทีซี” สามารถขยายพาร์ตเนอร์ได้เพิ่มขึ้น และสร้างสีสันในแง่ของการตลาดได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ขณะที่ “เคทีซี เวิลด์ ทราเวล เซอร์วิส” หรือ KTC World ก็แข็งแรงมากขึ้น มีอัตราการเติบโตอยู่ประมาณ 5-7% ต่อปี และมีลูกค้าที่เป็นแฟนประจำที่ให้ความไว้วางใจทีมงานของเคทีซีในด้านการให้คำปรึกษาด้านการท่องเที่ยวอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

เสริมโปรดักต์บน “ออนไลน์”

“พิทยา” ยังบอกอีกด้วยว่า หลักการทำการตลาดของเคทีซี คือ ตอบสนองความต้องการของคนหลาย ๆ กลุ่ม ดังนั้น

ในขณะที่มีโปรโมชั่นของตัวเอง เคทีซีก็ทำโปรโมชั่นกับพาร์ตเนอร์ด้วยเช่นกัน นั่นหมายความว่า ลูกค้าจะซื้อตรงกับแอร์ไลน์ หรือซื้อตรงกับเอเย่นต์ก็ได้ แต่ยังคงได้สิทธิพิเศษสำหรับการใช้บัตรเช่นกัน

“วันนี้ KTC World ยังมีศักยภาพในการเติบโตได้ ลูกค้าส่วนหนึ่งยังนิยมโทรเข้าคอลเซ็นเตอร์ เพราะมันคือวันสต็อปเซอร์วิส อยากไปเที่ยวไหน อยากได้ตั๋วเครื่องบิน รถเช่า บัตรชมการแสดง ฯลฯ จะเบ็ดเสร็จในที่เดียว ขณะที่ถ้าเป็นออนไลน์ส่วนใหญ่จะมุ่งด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ขายตั๋วเครื่องอย่างเดียว ให้บริการรถเช่าอย่างเดียว เป็นต้น”

และเพื่อเป็นการตอบโจทย์ช่องทางออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น “พิทยา” บอกว่า ปีนี้เคทีซีมีแผนผนึกกับพาร์ตเนอร์ในอีกหลายภาคส่วน เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในช่องทางออนไลน์สามารถเลือกซื้อสินค้าด้านการท่องเที่ยวครบวงจรมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตั๋วเครื่องบิน โรงแรม รถเช่า บัตรชมการแสดง ตั๋วโดยสารรถไฟ พ็อกเกตไวไฟ ครุยส์ ฯลฯ ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มได้ในช่วงประมาณไตรมาส 2 นี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เพื่อให้ “เคทีซี” ให้บริการด้านการท่องเที่ยวที่ครบวงจรทั้งในช่องทางที่เป็นออฟไลน์และออนไลน์

ปลอดภัย-ราคาเป็นมาตรฐาน

ต่อคำถามที่ว่า บริการด้านการท่องเที่ยวของเคทีซีมีจุดแข็งหรือต่างจากรายอื่นอย่างไร “พิทยา” บอกว่า จุดสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับพาร์ตเนอร์และลูกค้า คือ สามารถมั่นใจได้ว่าสินค้าท่องเที่ยวที่ได้เลือกสรรมาจำหน่ายผ่านช่องทางของเคทีซีนั้นมีความน่าเชื่อถือ มีความปลอดภัย เพราะนี่คือบริการอย่างหนึ่งของเคทีซี เมื่อเกิดอะไรขึ้นทางเคทีซีพร้อมรับผิดชอบทั้งหมด

“ธุรกิจหลักเรา คือ บัตรเครดิต ไม่ใช่ธุรกิจท่องเที่ยว ฉะนั้น บริการท่องเที่ยวเราจะชัดเจนว่าทำเพื่อสร้างความแตกต่างของธุรกิจบัตรเครดิต และเป็นบริการเสริมให้ลูกค้าได้ใช้บริการบัตรของเราให้บ่อยขึ้น”

ดังนั้น นอกจากลูกค้าของเคทีซีจะได้สิทธิพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ ผ่อนชำระ, ใช้พอยต์เป็นส่วนลด ฯลฯ แล้วยังเชื่อมั่นได้ว่าสินค้าด้านการท่องเที่ยวทั้งหมดที่จำหน่ายผ่านทุกช่องทางของเคทีซีนั้น “ราคา” จะเป็นมาตรฐานและสามารถแข่งขันได้ และที่สำคัญ ไม่แพงกว่าในท้องตลาดทั่วไปแน่นอน


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.prachachat.net วันที่ 16 มี.ค. 62
www.prachachat.net/tourism/news-302684

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *