Thu. Apr 25th, 2024
ท่องเที่ยวยั่งยืน

อพท.ขยายผล “GSTC” สูตรสำเร็จ “ท่องเที่ยวยั่งยืน” ทั่วประเทศ

ความสำเร็จของจังหวัดสุโขทัยที่ได้รับคัดเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (creative cities network) สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (crafts and folk art) ประจำปี 2562 จากโครงการ “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก” น่าจะเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ประสบความสำเร็จอย่างมากจากการดำเนินงานให้ตอบโจทย์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

โดยการท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มมูลค่า และสร้างความยั่งยืนให้ชุมชนจากนโยบายการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เข้มแข็ง และสามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์กระแสการท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวท้องถิ่นที่จริงแท้หรือ local experiences

พร้อมขยายผลพัฒนาเครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวคุณภาพจากระดับท้องถิ่นสู่ระดับชาติ มีเป้าหมายให้กระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่เศรษฐกิจฐานรากอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่สำคัญ ยังมุ่งผลักดันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อมของสถานที่ท่องเที่ยวให้ยั่งยืน

“ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ” รักษาการผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.ระบุว่า เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ global sustainable tourism criteria (GSTC) จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนอย่างบูรณาการในชุมชนตนเองด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น อพท.จึงใช้เกณฑ์ GSTC เป็นกรอบในการพัฒนาพื้นที่พิเศษ และพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายให้เกิดความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยว

ประกอบด้วย 4 มิติ คือ 1.มิติด้านการบริหารจัดการความยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยว 2.มิติด้านสังคม-เศรษฐกิจ 3.มิติด้านวัฒนธรรม และ 4.มิติทางด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

“เกณฑ์ GSTC เป็นแนวทางที่ อพท.จะนำไปปรับใช้กับทุกพื้นที่พิเศษ และในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั่วประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานในการจัดการแหล่งท่องเที่ยว ให้เกิดความยั่งยืน ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ”

“ดร.ชูวิทย์” บอกด้วยว่า ในปีงบประมาณ 2564 อพท.อยู่ระหว่างผลักดันให้ ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน (craft and folk arts) รวมถึงจะผลักดันให้ จ.สุพรรณบุรี เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี เพราะเป็นเมืองที่มีความพร้อม มีความโดดเด่นในเรื่องเพลงพื้นบ้านที่หลากหลาย

นอกจากนี้ ยังเตรียมส่งแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ 2 แหล่ง คือ เทศบาล ต.เชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย และ ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน จ.น่าน เข้าชิงรางวัล Sustainable Destinations Top 100 หรือ top 100 ภายในปี 2565 โดยการจัดอันดับดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมที่สุด แสดงถึงความสำเร็จจากผลการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษอีก 4 แห่ง ที่ อพท.จะพัฒนามาตรฐานเพื่อส่งเข้ารับการจัดอันดับ top 100 ในระยะต่อไป ได้แก่ นาเกลือ ในเขตเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ต.เมืองเก่า จ.สุโขทัย เกาะหมาก จ.ตราด และ ต.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

“รางวัล top 100 จะมาตอบข้อสงสัยในเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่จับต้องได้ เนื่องจากรางวัลดังกล่าวมีเกณฑ์การวัดที่ชัดเจน ถึงแหล่งท่องเที่ยวที่เข้าข่ายได้รับการจัดอันดับ ที่จะต้องผ่านเกณฑ์ต่าง ๆโดยจะวัดผลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ”

คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า อพท.ภายใต้การนำทัพของ “ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ” ที่นั่งรักษาการผู้อำนวยการอพท.อยู่ในขณะนี้ จะผลักดันให้การท่องเที่ยวในเมืองไทยขึ้นสู่ระดับมาตรฐานสากลเทียบชั้นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกได้ตามเป้าหมายได้อย่างไร

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/tourism/news-533773

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *