Thu. Mar 28th, 2024
การบินไทย

“สุเมธ” ติดสปีดบินไทย แก้โจทย์ “เพิ่มรายได้-หยุดการขาดทุน”

ยังคงเป็นประเด็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่จะเข้ามานั่งบริหารในตำแหน่ง “ประธานบอร์ด” ของการบินไทย รวมถึงทิศทางการบริหารงานของการบินไทย หลังจากที่ “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “สุเมธ ดำรงชัยธรรม” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถึงแนวทางการบริหารเพื่อนำองค์กรการบินไทยฝ่าวิกฤตและมีผลประกอบการที่ดีขึ้นไว้ ดังนี้

“สุเมธ” บอกว่า การลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดของคุณเอกนิติ (นิติทัณฑ์ประภาศ) ไม่ได้ส่งผลต่อการทำงานของตนแต่อย่างใด เพราะภารกิจที่ได้มอบหมายมายังไม่เสร็จ ดังนั้น ตนจะไม่สนใจว่าทางข้างหน้าจะเป็นแบบไหน หรือต่อให้รู้ว่ามีขวากหนามก็จะยังลุยต่อ เพราะวันนี้บริษัทย่ำแย่มาก โดนสถานการณ์ต่าง ๆ รุมเร้า ขาดทุนสะสมมาเป็น 10 ปี จึงไม่ง่ายนักที่จะบริหารให้มีกำไรได้ในเวลาอันรวดเร็ว

“แม้สถานการณ์จะยังไม่ดีแต่ผมก็ยังมีเรื่องต้องทำ ผมก็เชื่อว่าถ้าพนักงานช่วยกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกัน คนให้นโยบายมองในมุมเดียวกัน แล้วช่วยกันขับเคลื่อนให้ทุกอย่างเดินไปในทิศทางเดียวกันองค์กรนี้อยู่รอดแน่นอน”

ยัน (ยัง) มีศักยภาพแข่งขัน

“สุเมธ” บอกด้วยว่า ตนเข้ามาบริหารการบินไทยเมื่อ 1 กันยายน 2561 (ถึง 31 สิงหาคม 2565) แต่ก่อนที่จะเข้ามาบริหารได้ทำการศึกษางบการเงินปี 2561 ไว้ระดับหนึ่ง ซึ่งในวันนี้เห็นอยู่แล้วว่าสาเหตุหลักที่ทำให้การบินไทยขาดทุนมาจาก 3 เรื่องหลัก คือ อัตราแลกเปลี่ยน, ราคา และการด้อยค่าของเครื่องบิน หากสามารถจัดการ 3 ประเด็นใหญ่นี้ได้ก็มีโอกาสที่จะหยุดการขาดทุนได้

“หากวิเคราะห์เฉพาะต้นทุนในการบริหารจัดการ บริษัทยังมีกำไรจากการดำเนินงานได้ จึงมองว่าการที่บริษัทยังมีกำไรจากการดำเนินงานแปลว่าบริษัทยังมีความสามารถในการแข่งขันอยู่ พอเข้ามาเราก็เร่งเดินหน้าทำงานตามแผนฟื้นฟู พร้อมมุ่งการหารายได้ พร้อมทำโปรเจ็กต์ฟื้นฟูการบินไทยแบบเร่งด่วน ชื่อว่า “มนตรา” ขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือทำให้แผนฟื้นฟูเดิมที่วางไว้บรรลุเป้าหมาย เช่น ขายเครื่องบินปลดระวาง หารายได้เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นครัวการบินไทย ขายสินค้าออนไลน์ ส่งเสริมการขายผ่านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ฯลฯ”

และเสริมด้วยอีก 2-3 เรื่อง คือ 1.เรื่องรายได้ ธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจที่มีโลว์ซีซั่น การทำครัวการบิน แคเทอริ่ง ช็อปปิ้งออนไลน์ จึงเป็นตัวเสริมรายได้ช่วงโลว์ซีซั่น 2.เรื่องการบริการ โดยดูว่าจะให้บริการอย่างไรให้เกิด smooth as silk ตั้งแต่ภาคพื้นถึงบนเครื่องบิน และ 3.เรื่องเครื่องบิน หรือเครื่องบินใหม่ 38 ลำที่อยู่ในแผนการจัดซื้อ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต (เครื่องบิน) รองรับตลาดที่ยังเติบโตได้

“ศก.โลก-ค่าเงิน” ทุบรายได้ร่วง

ต่อคำถามว่าแล้วโครงการ “มนตรา” ที่ทำขึ้นมานั้นสำเร็จไหม “สุเมธ” บอกว่า ก็ถือว่าสำเร็จระดับหนึ่ง เพราะถ้าดูผลประกอบการที่ผ่านมาของปีนี้ “การบินไทย” ไม่ได้ขาดทุนจาก 3 ปัจจัยข้างต้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยน, ราคา และการด้อยค่าของเครื่องบิน เพราะประเด็นเหล่านี้ได้ถูกจัดการไปหมดแล้ว

แต่ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นสำหรับปีนี้ คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่า รวมถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวทั่วโลก รวมถึงเส้นทางบินหลักอย่างตลาดญี่ปุ่นถูกโลว์คอสต์แอร์ไลน์อัดสงครามราคาหนักมาก ทำให้การบินไทยเสียมาร์เก็ตแชร์บางส่วนไป ขณะที่ตลาดยุโรปก็โดนผลกระทบเรื่องค่าเงินบาท

“ใครจะคาดคิดว่ารายได้ปีนี้จะตกไปมากขนาดนี้ แต่ถ้าหากปีนี้เรามีรายได้เท่ากับปีที่ผ่านมา ผลประกอบการปีนี้เราจะมีกำไรได้ถึงประมาณ 2,000 ล้านบาท เพราะปีนี้เราสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้นมาก”

งัดการตลาดเฉพาะกลุ่มแก้เกม

“สุเมธ” ยังบอกด้วยว่า ขณะนี้การบินไทยได้กำหนดกลยุทธ์ใหม่ว่าเราจะใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ personalize หรือแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช้กลยุทธ์เดียวกันทั่วโลก ที่สำคัญจะไม่ลงเล่นเรื่องราคาแน่นอน ทั้งนี้ เพื่อแก้โจทย์ในแต่ละตลาดให้สอดรับกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น สำหรับตลาดญี่ปุ่นซึ่งการบินไทยให้บริการเส้นทางบินอยู่ 6 เมืองนั้นเข้าด้วยกัน โดยเอาเมืองเซนไดเส้นทางใหม่ล่าสุดเป็นจุดขายหลัก โดยใช้นโยบายที่เรียกว่า “มัลติซิตี้” ทำโปรโมชั่นราคาพิเศษสำหรับลูกค้าที่บินกับการบินไทยจากกรุงเทพฯไปเมืองไหนก็ได้แล้วบินกลับจากเมืองเซนได หรือบินเข้าเมืองเซนไดและบินกลับจากเมืองไหนก็ได้ โดยลูกค้าที่แวะเซนไดจะได้ประโยชน์เวลาไปรับประทานอาหารหรือใช้จ่ายในเมืองเซนได เนื่องจากรัฐบาลเมืองเซนไดได้อัดงบฯการตลาดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองเซนไดลงไปกว่า 200 ล้านเยนในปีหน้า

หรือในส่วนของตลาดยุโรปเราก็มีแผนนำโปรแกรม ROP ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษของสมาชิกรอยัล ออร์คิด พลัสมาบริหารดาต้าเต็มรูปแบบ และทำโปรโมชั่นพิเศษที่สอดรับกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวรายบุคคล เช่น เสนอขายตั๋วบินไปลอนดอนในราคาลด 50% เป็นต้น เป็นการเสนอรายบุคคลไม่เล่นกลยุทธ์ราคาทั่วไปเหมือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ยังเป็นการเพิ่มสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าเก่าด้วย

ตั้งเป้าหยุดขาดทุนในปี”63

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย ยังบอกอีกว่า ส่วนตัวเชื่อว่า สิ่งที่เราทำอย่างเข้มข้นในขณะนี้ คือ เตรียมแผนสำหรับปี 2563 ไว้แล้ว ทั้งเรื่องการวิเคราะห์เส้นทางการบิน, กลยุท ฯลฯ ส่วนเรื่องการลดต้นทุนนั้นปัจจุบันถือว่าสามารถจัดการได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว หลังจากนี้ จะเน้นเรื่องการปรับโครงสร้าง กระบวนการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงานให้ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนบริหารจัดการให้เส้นทางการบินของการบินไทยและไทยสมายล์เชื่อมต่อโครงข่ายกันให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตผู้โดยสาร (ASK) อีกทั้งยังเป็นการบริหารการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินให้มีชั่วโมงบินมากขึ้นด้วย

“วันนี้เราแก้โจทย์เรื่องการบริหารต้นทุนได้แล้ว จากนี้ไปจะเป็นเรื่องของการบริหารประสิทธิภาพและเพิ่มรายได้”

จากแผนดังกล่าวทำให้มั่นใจว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ดีสำหรับทั้งการบินไทยและไทยสมายล์ และด้วยสถานการณ์ปีนี้ที่อยู่ในจุดที่แย่ที่สุดแล้ว คนในการบินไทยทุกคนรับรู้และช่วยกันอย่างเต็มที่ จึงเชื่อว่า “การบินไทย” จะสามารถหยุดขาดทุนได้ในปี 2563 นี้

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

https://www.prachachat.net/tourism/news-392378

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *