Tue. Apr 16th, 2024
ภาคท่องเที่ยว

สทท.เร่งฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว หนุน’ซอฟท์โลน-โคเพย์’

“สทท.” เดินหน้าเสนอรัฐพิจารณาแผนฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว ช่วยเหลือด้านการเงินเร่งด่วน โดยเฉพาะ “ซอฟท์โลน” อุ้มรายเล็ก ชงใช้ “โค-เพย์” รัฐช่วยเอกชนจ่ายเงินเดือนพนักงานคนละครึ่ง รักษาการจ้างงาน

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า นอกเหนือจากการเสนอเรื่องบริหารจัดการวัคซีนต่อที่ประชุมหารือแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและเอกชนแล้ว วันนี้ (28 เม.ย.) สทท.จะเสนอแผนฟื้นฟูภาคท่องเที่ยวด้วย หลังวิกฤติโควิด-19 กินเวลายาวนานกว่า 1 ปี ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบบางแห่งต้องปิดกิจการ

แผนฟื้นฟูภาคท่องเที่ยวต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ซึ่งสำคัญมากและเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการท่องเที่ยวในการพยุงธุรกิจให้ไปรอด โดยอาจบริหารเป็นเซ็กเมนต์ เช่น ผู้ประกอบการรายเล็กอย่างบริษัทนำเที่ยวต่างๆ ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ต่างจากผู้ประกอบการรายกลางและรายใหญ่จะเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ง่ายกว่า


ท่องเที่ยวโค้งแรกปี’64 สาหัสทั่วหล้ารายได้เข้าไม่เกิน 10%


“ที่สำคัญคือการรักษาการจ้างงาน สทท.จะเสนอให้รัฐช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานคนละครึ่ง ในรูปแบบโค-เพย์เมนต์ กล่าวคือ รัฐช่วยสมทบจ่ายให้คนละ 7,500 บาทต่อเดือน เอกชนจ่ายให้ 7,500 บาทต่อเดือน รวมไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน”

รัฐควรพิจารณาจัดตั้งธนาคารแรงงาน ในช่วงแรกอาจใช้งบ 5-10 ล้านบาทเพื่อจัดทำแพลตฟอร์มสำรวจหรือรวบรวมข้อมูลฐานแรงงานภาคท่องเที่ยว ซึ่งก่อนเกิดวิกฤติโควิด คาดว่ามีแรงงานท่องเที่ยวในระบบกว่า 4 ล้านคน แต่ปัจจุบันยังไม่มีฐานข้อมูลชัดเจนที่จะระบุได้ว่ามีแรงงานท่องเที่ยวที่ยังประกอบอาชีพอยู่หรือตกงานไปแล้วกี่ราย เมื่อรวบรวมฐานข้อมูลแรงงานเหล่านี้ได้ ก็จะได้เข้าไปช่วยเหลือได้อย่างถูกจุด และยกระดับความสามารถของแรงงานด้วยการ Upskill & Reskill

นอกจากนี้ รัฐต้องพิจารณาช่วยลดรายจ่ายแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว เช่น ค่าไฟฟ้า ภาษีโรงเรือน และค่าธรรมเนียมการต่อทะเบียนประจำปีแก่ธุรกิจรถบัสนำเที่ยว รถตู้นำเที่ยว และเรือนำเที่ยว ควบคู่ไปกับการช่วยเพิ่มรายได้แก่ผู้ประกอบการ

แม้ปัจจุบันภาครัฐเตรียมเปิดให้ประชาชนจองสิทธิโครงการรัฐกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ซึ่งเพิ่มจำนวนสิทธิให้ส่วนลดห้องพักอีก 2 ล้านสิทธิใหม่ เริ่มจองได้ตั้งแต่ 17 พ.ค.นี้ และโครงการทัวร์เที่ยวไทย จำนวน 1 ล้านสิทธิ เริ่มจอง 27 พ.ค. ทั้งสองโครงการจะสิ้นสุดการดำเนินโครงการวันที่ 31 ส.ค. แต่ สทท.มองว่าไม่เพียงพอ จึงเสนอให้ภาครัฐจัดทำโครงการ “เที่ยวคนละครึ่ง” เพื่อให้เข้าถึงผู้ประกอบการนำเที่ยวเซ็กเมนต์อื่นๆ ด้วย เช่น ผู้ให้บริการล่องเรือเจ้าพระยา ผู้ให้บริการโปรแกรมวันเดย์ทริปไปแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มีโอกาสสร้างรายได้ในวันที่สถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 เบาบางลง

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/934895

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *