Thu. Mar 28th, 2024
ภูเก็ตแซนด์บอกซ์

“ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ลงตัว ชงศบค.วันนี้ ท่องเที่ยว-โรงแรมลุ้นคิกออฟ 1 ก.ค.

เร่งเครื่อง “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” สธ.เคาะ SOP เผยเกณฑ์ต้องพักในภูเก็ต 14 วัน ฉีดวัคซีนครบ 14 วัน มีเอกสารรับรองฉีดวัคซีน ตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง ชงเข้า ศบค.ชุดใหญ่ 18 มิ.ย.นี้ ทอท.การันตีสนามบินพร้อม รมว.ท่องเที่ยวฯ รับแผนล่าช้า ทำใจตัวเลขนักท่องเที่ยวเดือน ก.ค.พลาดเป้า เอกชนภูเก็ตยอมรับเงื่อนไขรัฐแล้ว

แหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้แผนขับเคลื่อนเพื่อเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของจังหวัดภูเก็ตภายใต้โมเดล “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” คืบหน้าและชัดเจนขึ้นมาก โดยเฉพาะประเด็นการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน หรือ SOP ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันจัดทำผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานแล้ว (14 มิ.ย. 2564) หลังมีการตีกลับให้นำไปแก้ไขหลายครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

เมื่อรวมกับแผนการฉีดวัคซีนที่คาดว่าจะครอบคลุมประชากรไม่ต่ำกว่า 70% ในสิ้น มิ.ย.นี้ ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นอีกครั้งว่า กระบวนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติวันที่ 1 ก.ค.นี้ จะเป็นไปตามแผนที่วางไว้

สธ.เห็นชอบในหลักการ SOP

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินงาน “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” เปิดรับนักท่องเที่ยว 1 ก.ค.นี้ จะมีเกณฑ์ 1.เน้นทำตลาดนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง (ตามประกาศ กรมควบคุมโรค ที่ออกทุก 15 วัน) 2.ได้รับวัคซีนครบอย่างน้อย 14 วัน และมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี เดินทางมากับผู้ปกครองที่ได้รับการฉีดวัคซีนได้ 3.มีเอกสารการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่พบเชื้อ ไม่เกิน 72 ชั่วโมง


“ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ไม่ปัง “แอร์ไลน์-โรงแรม” รอดีมานด์จริงก่อนขยับลงทุน

ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ 1 ก.ค. เปิดแน่นอน โฆษกรัฐบาลย้ำ

“ภูเก็ต” รับต่างชาติทริปแรก 3 ก.ค. 7 แอร์ไลน์พร้อมเปิดไฟลต์บินตรง


และ 4.ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้ออีก 3 ครั้งในประเทศไทย ได้แก่ วันที่เดินทางมาถึง วันที่ 7 และ 14 โดยโรงพยาบาลคู่สัญญา เดินทางถึงที่พักด้วยรถโรงแรม และรับการตรวจเชื้อ ไม่อนุญาตให้ออกนอกห้องพักจนกว่าผลการตรวจไม่พบเชื้อ จากนั้นจะท่องเที่ยวในภูเก็ตได้ และเมื่อครบ 14 วัน จึงเดินทางไปในจังหวัดอื่น ๆ

ด้านนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวการปฏิบัติงานของภูเก็ตแซนด์บอกซ์ทั้งระบบอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานว่าด้วยเรื่องการป้องกันควบคุมโรคติดต่อแล้ว ทั้งเกณฑ์การฉีดวัคซีน มาตรการดูแลต่างชาติที่เดินทางเข้ามา หลังจากจังหวัดภูเก็ต และ ททท. ร่วมกันเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่องใน 4-5 เดือนที่ผ่านมา และปรับปรุงตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคติดต่อเพื่อให้สอดรับสถานการณ์ยิ่งขึ้น

ชงเข้า ศบค.ชุดใหญ่ 18 มิ.ย.นี้

“ภาพใหญ่ลงตัวแล้ว เหลือรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งไม่น่าห่วง เพราะภูเก็ตมีประสบการณ์รับนักท่องเที่ยวกลุ่มพิเศษมาแล้ว 2-3 ครั้ง ก็ไม่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดซ้ำ ที่สำคัญ เป้าหมายแรกที่ ททท.นำเสนอคือ เน้นนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ”

นายแพทย์โสภณกล่าวเพิ่มเติมว่า กรอบการจัดทำคู่มือปฏิบัติ (SOP) จะมีการพิจารณาในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) วันที่ 18 มิ.ย.นี้

สอดรับกับนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภูเก็ตแซนด์บอกซ์เดินหน้าได้ตามกระบวนการ พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้วันที่ 1 ก.ค.แน่นอน โดย ททท.และจังหวัดภูเก็ต จะนำเสนอให้ความเห็นชอบในที่ประชุม ศปก.ศบค. หรือ ศบค.ชุดเล็ก และเข้า ศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน วันที่ 18 มิ.ย.นี้

สนามบินภูเก็ตพร้อมเต็มสูบ

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทอท.เตรียมความพร้อมสำหรับท่าอากาศยานภูเก็ตแล้ว โดยพนักงานได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว และกำลังจะจัดทดลองระบบในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวันที่ 16 มิ.ย. เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการ 1 ก.ค.เป็นต้นไป

ซึ่งที่ผ่านมา ทอท.ได้เตรียมความพร้อมในส่วนการให้บริการภาคพื้น (ground service) รวมถึงการขนส่งสินค้า (คาร์โก้) โดยตั้งบริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด (AOTGA) ให้บริการภาคพื้น และคลังสินค้า ณ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต หลังจาก บมจ.การบินไทย บริษัทคู่สัญญาเดิมหมดสิทธิ์ต่อสัญญาตั้งแต่เข้าแผนฟื้นฟู

สำหรับศักยภาพในการรองรับของสนามบินภูเก็ตพร้อมเต็มที่ โดยเดือน ก.ค.มีสายการบินล็อกตารางบินรวม 180 เที่ยวบิน เทียบเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้นพอสมควร โดย มี.ค.มีเที่ยวบินอินเตอร์เข้าภูเก็ต 66 เที่ยวบิน เม.ย. 55 เที่ยวบิน พ.ค. 49 เที่ยวบิน และ มิ.ย. (ณ วันที่ 13) 10 เที่ยวบิน

ขอประเมินผล 1 เดือนแรก

ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า แม้กระบวนการขับเคลื่อนภูเก็ตแซนด์บอกซ์บางช่วงจะมีปัญหาติดขัดบ้าง แต่รัฐบาลพร้อมเต็มที่ในการขับเคลื่อน และคาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ในสิ้นเดือน มิ.ย.

“เราอยากให้ทุกภาคส่วนเดินหน้า และทดลองระบบ และแก้ปัญหาไปพร้อมกัน เช่น กรณีที่เอกชนท้วงว่า ทำไมต้องอยู่ภูเก็ต 14 วัน ขอ 7 วันได้ไหม หรือขอเปิดบางพื้นที่ในกระบี่ และพังงา ควบคู่ไปด้วยนั้น ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ผมอยากให้ลองเปิดสัก 1 เดือนก่อน แล้วมาประเมินผล หากระบบที่วางไว้บริหารจัดการได้ดี ไม่มีผู้ติดเชื้อ ไม่มีการกลับมาแพร่ระบาดอีก ก็จะขอจาก 14 วันให้ลดลงต่อไป”

นายพิพัฒน์ยอมรับว่า การดำเนินการล่าช้าทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวในเดือน ก.ค. อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 29,000 คน แต่เชื่อว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นไป

เอกชนถอยรับเงื่อนไขรัฐ

ด้านนายธเนศ ตันติพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อสรุปที่เตรียมเสนอ ศบค. วันที่ 16 มิ.ย. และ18 มิ.ย. แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข คือ 1.มาจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงโควิดต่ำ หรือความเสี่ยงปานกลาง 2.ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบ 2 เข็ม ในยี่ห้อที่องค์การอนามัยโลก (WHO) หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทยรับรองครบ 2 โดส

3.ต้องมีผลตรวจ PCR Test ผลเป็นลบ 72 ชั่วโมงก่อนขึ้นเครื่อง 4.เมื่อมาถึงสนามบินภูเก็ต ต้องตรวจ PCR Test อีกครั้ง ก่อนพาเดินทางเข้าโรงแรม เพื่อไปรอผลตรวจ 4-6 ชม. 5.หากต้องการเดินทางออกจากภูเก็ต ต้องอยู่ภูเก็ตให้ครบ 14 คืน 15 วัน และคนกลุ่มนี้จะได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด 3 ครั้ง คือ ตั้งแต่วันที่เดินทางมาถึง วันที่ 6 และวันที่ 12 เมื่อผลเป็นลบจึงเดินทางออกจากภูเก็ตได้

กลุ่ม 2.คนไทย และชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยที่ต้องการเดินทางมาภูเก็ต ให้ยึดตามประกาศคำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 2920/2564 เรื่องกำหนดมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คือ 1.ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบ 2 เข็ม หรือครบโดสตามจำนวนวัคซีนแต่ละชนิด หรือได้รับวัคซีนชนิด AstraZeneca 1 เข็ม หรือผู้ที่หายจากอาการป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแล้วไม่เกิน 90 วัน หรือได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR หรือวิธี Antigen Rapid Test ไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับการตรวจ

หากไม่มีเอกสารดังกล่าวข้างต้น ให้เข้ารับการกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วัน โดยเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อออกคำสั่งให้กักตัวในที่พักอาศัย (home quarantine หรือ hotel quarantine) และให้อยู่ในการติดตามดูแลของเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้สถานการณ์ระดับตำบล (EOC ประจำตำบล, เทศบาล, อบต.) ตลอดระยะเวลาที่กักตัว ซึ่งในส่วนคนไทยอยากให้เข้ามาท่องเที่ยวในลักษณะ new normal

ย้ำเงื่อนไขต้องชัดเจนและเร็ว

นายธเนศกล่าวว่า สิ่งที่ต้องการจากภาครัฐ คือ 1.ขอให้อนุมัติเงื่อนไขให้ชัดเจน เพื่อจะได้สื่อสารกับลูกค้าได้ 2.ขอความรวดเร็ว จะได้ตอบลูกค้าในเรื่องต่าง ๆ ได้ เพราะเหลืออีก 15 วัน เช่น การจัดประเทศกลุ่มเสี่ยงวันนี้อาจเป็นประเทศเสี่ยงต่ำ พรุ่งนี้อาจเสี่ยงสูง จะได้ตอบลูกค้าได้ชัดเจน รวมถึงยี่ห้อวัคซีน เช่น วัคซีนสปุตนิก ทาง อย.และ WHO ยังไม่รับรอง หากนักท่องเที่ยวฉีดมาจะให้เข้ามาได้หรือไม่

ขณะนี้สถานประกอบการในภูเก็ตทุกประเภทพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม รถทัวร์ รถตู้ ร้านอาหาร ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการผ่านการอนุมัติมาตรฐาน SHA จาก ททท. 1,500-1600 แห่ง ในจำนวนนี้มีโรงแรมที่ได้รับ SHA 700-800 แห่ง ปัจจุบันมีโรงแรมที่ได้อัพเกรดมาตรฐาน SHA Plus กว่า 250 แห่ง คาดว่าก่อน 1 ก.ค. ทั้งหมดจะปรับตัวเข้าสู่มาตรฐาน SHA Plus ทันรับนักท่องเที่ยว โดยสถานประกอบการต่าง ๆ เร่งนำบุคลากรมาฉีดวัคซีนป้องกันโควิด

ทั้งนี้ ภูเก็ตมีเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ได้ 466,587 คน

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จังหวัดภูเก็ตมีจำนวนประชากรประมาณ 547,584 คน และมีเป้าหมายในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน จำนวน 383,308 คน หรือ 70% ของประชากรในพื้นที่ โดยแผนการฉีดวัคซีนจะต้องฉีดเข็มที่ 1 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน และฉีดเข็มที่ 2 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม

ล่าสุดข้อมูลการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่บนเกาะภูเก็ต ณ วันที่ 16 มิ.ย. 64 มีผู้ที่ได้รับวัคซีน 1 เข็ม จำนวน 346,855 คน (ร้อยละ 63.3) ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม จำนวน 165,439 คน (ร้อยละ 30.2) และจำนวนประชากรคงเหลือที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เหลือเพียงจำนวน 119,732 คน

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/tourism/news-691455

FILE PHOTO : Arut Thongsombut/Pixabay /

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *