Thu. Mar 28th, 2024
ธุรกิจการบิน

ธุรกิจการบิน (ยัง) โตได้ “แอร์บัส” ชี้เศรษฐกิจไทยแค่ติดหล่ม

ปี 2562 ถือเป็นปีที่ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและสายการบินของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะการชะลอการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เนื่องมาจากปัญหาด้านค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการมาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกก็ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ สะท้อนได้ชัดเจนจากผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและสายการบินในช่วง 9 เดือนแรก และในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัวโดยเฉพาะธุรกิจสายการบินที่ส่วนใหญ่แล้วล้วน “ขาดทุน” แทบทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับมุมของผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่และผู้ที่คลุกคลีอยู่ในธุรกิจการบินมานานยังคงมองว่า ธุรกิจการบินยังคงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจอยู่เช่นเดิม

ปิแอร์ จาเฟร

“ปิแอร์ จาเฟร” ที่ปรึกษาด้านการค้าต่างประเทศแห่งประเทศฝรั่งเศส, ประธานคณะกรรมการการบินหอการค้าฝรั่งเสศ และอดีตประธานบริหารแอร์บัส ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันสถานการณ์การเติบโตของธุรกิจการบินในไทยยังคงเป็นไปในทิศทางบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่นักธุรกิจในอุตสาหกรรมการบินให้ความสนใจและลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังมีโครงการร่วมทุนขนาดใหญ่อีกหลายโครงการ

ทั้งนี้ มองว่าปัญหาของธุรกิจสายการบินพาณิชย์ในไทยที่มีปัญหาด้านผลประกอบการอยู่ในปีนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินในวงกว้างมากนัก เพราะธุรกิจการบินมีองค์ประกอบหลายส่วน มากกว่าการให้บริการด้านการบินเท่านั้น แต่ยังมีส่วนของการผลิตเครื่องบินและอะไหล่ การบริการซ่อมบำรุง รวมถึงกิจกรรมการบินอื่น ๆ ที่ยังสามารถขับเคลื่อนไปได้ตามปกติ

เช่นเดียวกับการเข้าสู่ช่วงขาลงของเศรษฐกิจไทยที่ “ปิแอร์” เชื่อมั่นว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินและการลงทุนในธุรกิจการบินในไทยเช่นกัน เนื่องจากธุรกิจการบินเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง และใช้ระยะเวลายาวนานในการวางรากฐานธุรกิจเพื่อเก็บเกี่ยวผลกำไร

ดังนั้น การชะลอตัวในระยะเวลาช่วงสั้น ๆ ของเศรษฐกิจจึงยังไม่มีผลกระทบต่อภาคการลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่นักลงทุนจะมองภาพรวมเศรษฐกิจระยะยาว

ไม่เพียงเท่านี้ ความชัดเจนในด้านการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลก็มีผลกับการตัดสินใจลงทุนของนักธุรกิจด้วย จึงเชื่อว่าประเทศไทยยังมีความได้เปรียบจากการสนับสนุนการลงทุนที่มีอยู่ของภาครัฐ

รวมถึงปัจจุบันในหมู่ธุรกิจการบินก็มีบริษัท “สตาร์ตอัพ” รวมถึงผู้พัฒนาสตาร์ตอัพหลากหลายแห่งที่เริ่มโดดเด่นและขึ้นมามีบทบาทสำคัญ อาทิ สตาร์เบิร์ส (Starburst) ผู้ให้บริการบ่มเพราะสตาร์ตอัพด้านการบินอันดับ 1 ของโลก หรือโวลต์แอร์โร่ (VoltAero) ผู้ให้บริการด้านเครื่องบินไฮบริด ที่แสดงออกถึงความสนใจการลงทุนในไทย

ด้าน “มุกด์ สีบุญเรือง” ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า จากข้อมูลของสถิติการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม นอกจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างเมืองการบินแล้ว ในกลุ่มอุตสาหกรรมการบินยังมีจำนวนบริษัทที่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนไม่มากนัก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีเงื่อนไขหลายข้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านมาตรฐานและความปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมาหลายภาคส่วนพยายามที่จะหนุนการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมการบิน โดยเน้นดึงบริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทที่มีมาตรฐานระดับโลก พร้อมกับการขยับขยายธุรกิจในประเทศไทยเข้ามาลงทุนก่อน เพื่อเปิดทางให้กับการขยายอุตสาหกรรมการบินในไทยต่อไป

จากมุมมองดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยที่อยู่ในช่วงชะลอตัวอาจส่งผลต่อธุรกิจสายการบินบ้าง แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อนโยบายด้านการลงทุนของผู้ผลิตเครื่องบิน รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่อง เพราะธุรกิจการบินเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูงและเป็นการลงทุนระยะยาว

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

https://www.prachachat.net/tourism/news-396435

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *