Thu. Apr 25th, 2024
ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยว วิกฤตแรงงาน สมาคมโรงแรมขอรับ “ต่างด้าว”

ผลการศึกษาชี้แรงงานภาคท่องเที่ยวไทยขาดแคลนยาว คนรุ่นใหม่มองงานบริการไม่ตอบโจทย์ แนะผู้ประกอบการปรับมุมมอง เสริมทักษะ “รู้ลึก รู้รอบ เป็นผู้นำ” นายกสมาคมโรงแรมห่วงแรงงานไทยไหลไปนอก เสนอสร้างเสน่ห์งานท่องเที่ยว ชี้แนวทางการเติบโต พร้อมดึงต่างด้าวช่วยเสริมแรงงานขาดแคลน

ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยผลการศึกษาโครงการค่าใช้จ่ายในการสำรวจข้อมูลแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยระบุว่า แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ของโครงสร้างแรงงานในประเทศไทย

ตามข้อมูลสถิติพื้นฐาน พบว่า ในปี 2562 มีแรงงานอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจำนวน 3,909,592 คน ขณะที่จำนวนตำแหน่งงานต่อปีในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปี 2566-2580 อยู่ที่ 4,852,243 ตำแหน่ง

โดยในแต่ละปีจะมีนิสิตนักศึกษาในสายที่เกี่ยวข้องจบการศึกษาราว 34,488 คน ต่างจากตำแหน่งงานที่ต้องการจำนวน 43,568 ตำแหน่ง หรือในปี 2566-2580 แต่ละปีจะมีการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ 9,080 คน

ดร.สุรพิชย์กล่าวว่า สำหรับภาพของแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป โดยธุรกิจที่ดำเนินกิจการแบบเดิม หรือธุรกิจที่มีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและเงินทุนอาจมีแรงดึงดูดแรงงานลดลง ส่วนธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น จะดึงดูดให้แรงงานมากกว่า และพบว่าบางธุรกิจอาจขาดการมองโอกาสพัฒนาทักษะแรงงานคนเดิมให้เกิดทักษะใหม่ ๆ ที่อาจใช้ต่อยอดในการทำธุรกิจ

จากการสำรวจยังพบว่า คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งมองว่างานบริการเป็นงานที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ อีกทั้งงานที่ต้องใช้ความอดทน งานที่เน้นขั้นตอน อาจไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการทำงานที่เน้นการลดขั้นตอน สนุก น่าสนใจ

นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อผู้บริหารเห็นพนักงานสามารถทำงานตำแหน่งหนึ่ง ๆ ได้ดี ก็มักจะคาดหวังให้ทำงานเดิม ทำให้ทักษะด้านอื่นลดลง ตัดโอกาสการพัฒนาของบุคลากรและธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้นการให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมแก่งานที่ยาก สกปรก อันตราย รวมถึงมองว่าเป็นตำแหน่งงานหนึ่งที่คนในองค์กรสามารถหมุนมาทำได้ จะช่วยดึงดูดให้คนทำงานได้

ดร.สุรพิชย์กล่าวต่อว่า มาตรการพัฒนารูปแบบธุรกิจ การจ้างงาน การเพิ่มพูนทักษะของอุตสาหกรรมในระยะ 20 ปี สามารถทำได้ด้วยการฝึกอบรมผู้ประกอบการ ผู้บริหาร เกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจ สนับสนุนการจ้างงานในรูปแบบธุรกิจใหม่ รวมถึงปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ พัฒนาทักษะ รู้ลึก รู้รอบ เป็นผู้นำ

สอดรับกับ รศ.ดร.ธัญญลักษณ์ วีระสมบัติ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาโครงสร้างใหญ่ของแรงงานไทย เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การผลิตแรงงานไม่ตรงกับตลาดแรงงาน แรงงานปรับตัวไม่ทันตามเทรนด์การทำงานทั่วโลก

โดยมองว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 รูปแบบการจ้างงานในธุรกิจโรงแรมจะเน้นพนักงานที่มีทักษะหลากหลาย หรือ X-shaped

“การพัฒนาทักษะของบุคลากรมีหลายรูปแบบทั้ง I-shaped คือ รู้ลึกในสายงานใดสายงานหนึ่ง, T-shaped รู้ลึกในสายงานหนึ่ง และมีความรู้ในสายงานที่เกี่ยวข้องบ้าง แต่ทักษะผู้นำที่อาจเหมาะกับคนรุ่นใหม่คือ X-shaped คือ รู้ลึก รู้กว้าง มีความเป็นผู้นำ มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งอาจสร้างความยืดหยุ่นในตำแหน่งงานของพนักงานในอุตสาหกรรมได้” รศ.ดร.ธัญญลักษณ์กล่าว

ขณะที่ ดร.มหัทธน พฤทธิ์ขจรชัย ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย ฝ่ายนโยบายนวัตกรรมสังคม ศิลปะและสุนทรียะ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ขาดแคลน สถาบันการศึกษาต้องมีการปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป

โดยเสริมทักษะและทบทวนทักษะเดิมให้แก่นิสิตนักศึกษาที่จะเข้าสู่ระบบแรงงาน ซึ่งสามารถทำได้เร็วกว่าการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน และเลือกใช้เทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับงานในโรงแรม

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวเสริมว่า จากผลแบบสำรวจสมาชิกสมาคมโรงแรมไทยพบว่า สมาชิกทั้งโรงแรมขนาดเล็ก-ขนาดใหญ่ทุกภูมิภาคมีความกังวลปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

โดยโควิด-19 ทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมออกจากระบบไปแล้วราว 50% และแม้ว่าล่าสุดการท่องเที่ยวไทยเริ่มฟื้นตัว แต่โรงแรมยังไม่กล้าตัดสินใจเพิ่มพนักงาน เนื่องจากยังประสบปัญหาด้านเงินทุน

นอกจากนี้ ยังพบว่าแรงงานในอุตสาหกรรมโรงแรมหลายคนได้เลือกไปทำงานในต่างประเทศ ขณะที่นิสิตนักศึกษาไม่สนใจประกอบอาชีพในสายงานโรงแรม ซึ่งอาจเป็นเพราะขาดเสน่ห์ ความเข้าใจในการเติบโตตามสายงาน

จึงอยากเสนอให้ภาคธุรกิจสื่อสารไปยังกลุ่มแรงงานให้เห็นว่าการทำงานโรงแรมมีเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพอย่างไร พร้อมทั้งสร้าง attitude กับแรงงานว่าเขาต้องมีทักษะที่หลากหลายมากขึ้น

นางมาริสากล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทางออกปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ส่วนหนึ่งแก้ได้ด้วยการดึงแรงงานชาวต่างชาติเข้ามาเติมเต็ม จึงอยากเสนอให้รัฐบาลลงนามความร่วมมือ-ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ให้แรงงานจากต่างประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ เข้ามาทำงานในไทยได้สะดวกขึ้น

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/tourism/news-1116557

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *