Fri. Apr 19th, 2024
ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยวโค้งแรกปี’64 สาหัสทั่วหล้ารายได้เข้าไม่เกิน 10%

การแพร่ระบาดภายในประเทศของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่เมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมาที่ขยายวงกว้างและรวดเร็ว โดยภาครัฐเองก็ได้ออกมาตรการควบคุมด้วยการกำหนดพื้นที่ตามความรุนแรงของสถานการณ์ ได้ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุก ๆ เซ็กเตอร์ในรอบไตรมาส 1/2564 อย่างชัดเจน

ดัชนีเชื่อมั่น (ยัง) ดิ่งเหว

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้จัดทำสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 1/2564

จากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นสถานประกอบการ 730 แห่ง จำนวน 8 ประเภททั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการท่องเที่ยวเท่ากับ 36 สะท้อนว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุด (ปกติ=100) และต่ำกว่าไตรมาส 4/2563 ที่มีดัชนีความเชื่อมั่นเท่ากับ 62

พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในไตรมาส 2/2564 จะขยับไปอยู่ที่ 56 ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังคงคาดการณ์ว่าผลประกอบการในไตรมาสหน้าจะดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากยังกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ยังคงมีรายงานยอดผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่า 50 คนทุกวัน รวมถึงเรื่องกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นกลับสู่ภาวะปกติ (ก่อนโควิด)


เปิดรับนักท่องเที่ยวประเทศที่ฉีดวัคซีน นำร่อง “ภูเก็ต-สมุย”

“SHR” ยันไทยเดสติเนชั่นโลก มั่นใจมีดีมานด์ แนะเปิดรับกลุ่มฉีดวัคซีน


สถานประกอบการเปิด 67%

“รศ.ผกากรอง เทพรักษ์” อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ระบุว่า จากการสำรวจยังพบว่า ในไตรมาส 1/2564 ที่ผ่านมา ภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เปิดบริการตามปกติมีประมาณ 67% ลดลงจากไตรมาสก่อน (ไตรมาส 4/2563) จำนวน 18% มีสถานประกอบการที่ปิดกิจการชั่วคราวประมาณ 14% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 4% ส่วนสถานประกอบการที่ปิดตัวถาวรมี 3% เท่ากับไตรมาสก่อน นอกจากนี้ ยังมีสถานประกอบการที่ลดขนาดธุรกิจ 11% และเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่น 5%

นอกจากนี้ ในส่วนของการจ้างงานพบว่า 60% ของสถานประกอบการทั้งหมดมีการลดจำนวนพนักงาน และเหลือพนักงานอยู่ในสัดส่วนประมาณ 52% ขณะเดียวกัน 67% ของสถานประกอบการยังมีการลดเงินเดือน หรือค่าจ้างประมาณ 30%

แรงงานตกงานพุ่ง 1.45 ล้านคน

ทั้งนี้ หากประเมินจากตัวเลขการปิดกิจการทั้งหมด 17% (ปิดชั่วคราว 14% และปิดถาวร 3%) ก็คาดว่าน่าจะส่งผลให้แรงงานในภาคท่องเที่ยวถูกออกจากงานในสัดส่วนประมาณ 17% เช่นกัน หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 6.8 แสนคน

ถ้ารวมกับแรงงานที่ถูกให้ออกเนื่องจากนโยบายการลดพนักงานของสถานประกอบการที่เปิดบริการปกติ ที่พบว่า 60% ของสถานประกอบการที่เปิดบริการปกติมีการลดพนักงานในไตรมาสนี้ลงประมาณ 48% หรือคิดเป็นประมาณ 7.718 แสนคน รวมทั้งระบบประมาณ 1.45 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนประมาณ 4.11 แสนคน

ธุรกิจรายได้ไม่เกิน 10%

“รศ.ผกากรอง” บอกด้วยว่า จากการสำรวจรายได้ของสถานประกอบการในไตรมาส 1/2564 พบว่า ธุรกิจในภาคท่องเที่ยว 8 สาขาได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดย 40% มีรายได้อยู่ระหว่าง 1-10% เมื่อเทียบกับรายได้ก่อนโควิด และหากประเมินเฉพาะกลุ่มที่รายได้ไม่ถึง 50% พบว่ามีสัดส่วนรวมถึง 87%

โดยธุรกิจส่วนใหญ่มีรายได้เข้ามาในสัดส่วน 1-10% มากที่สุด คือ ธุรกิจบริการขนส่ง มีสัดส่วนมากที่สุดถึง 53% โรงแรม มีสัดส่วน 33% บริษัทนำเที่ยว มีสัดส่วน 74% แหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (man-made attraction) มีสัดส่วน 68% และสถานบันเทิง มีสัดส่วน 48%

ขณะที่ธุรกิจที่จัดว่าพอเลี้ยงตัวเองได้บ้าง หรือมีรายได้อยู่ในสัดส่วน 21-30% คือ ธุรกิจร้านขายของที่ระลึก หรือร้านค้าทั่วไป และธุรกิจสปา ส่วนธุรกิจที่น่าจะดีที่สุดใน 8 สาขา คือ ร้านอาหาร โดยส่วนใหญ่ (36%) มีสัดส่วนรายได้อยู่ในระดับ 31-50%

“สรุปคือธุรกิจโรงแรมร้อยละ 83 มีรายได้ไม่เกิน 30% ธุรกิจบริการขนส่งร้อยละ 73 มีรายได้ไม่เกิน 30% บริษัทนำเที่ยว ร้อยละ 97 หรือแทบจะ 100% มีรายได้ไม่เกิน 30% เช่นเดียวกับแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นที่ร้อยละ 90 มีรายได้ไม่เกิน 30%”

คาดต่างชาติเข้าไทย 2 หมื่นคน

นอกจากนี้ การสำรวจดังกล่าวยังได้ถามถึงการคาดการณ์จำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยว่า ในเดือนมกราคม 2564 มีการเดินทางท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องได้รับการตรวจลงตรานักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (special tourist visa : STV) จำนวน 7,694 คน

และคาดว่าในไตรมาส 1/2564 นี้จะมีชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 20,000 คน ลดลงร้อยละ 99-82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 (ก่อนระบาดของไวรัสโควิด)

ต้อนรับต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้ว

และเมื่อถามความคิดเห็นเกี่ยวกับความพร้อมในการรับนักท่องเที่ยวในปี 2564 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เป็นคนไทยมากกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยผู้ประกอบการร้อยละ 78 ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ยังไม่ฉีดวัคซีน และร้อยละ 92 ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ฉีดวัคซีนแล้ว

ขณะที่ในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น ผู้ประกอบการร้อยละ 62 ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่ฉีดวัคซีน แต่มีการกักตัว (quarantine) ร้อยละ 76 ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้ว และมีการ quarantine และร้อยละ 58 ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วโดยไม่ต้องมีการ quarantine

ทั้งนี้ ณ เวลาที่ทำการสำรวจ (กุมภาพันธ์ 2564) ยังไม่มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวหลัก ซึ่งหากมีการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนในพื้นที่ สัดส่วนความยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้สอบถามถึงความเต็มใจที่จะฉีดวัคซีนของประชาชนด้วย โดยพบว่า ร้อยละ 47 ยินดีฉีดวัคซีนฟรีจากยี่ห้อที่รัฐบาลเลือกให้ ร้อยละ 31 ยังไม่พร้อมที่จะฉีดภายในปีนี้ และร้อยละ 22 บอกว่ายินดีจ่ายเงินเองสำหรับวัคซีนยี่ห้อที่เลือกเอง

คงต้องลุ้นกันว่า “วัคซีน” ที่กำลังทยอยกระจายลงไปยังพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว และนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวใน 6 จังหวัดท่องเที่ยวของไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะทำให้ดัชนีผู้ประกอบการท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีนี้จะสามารถพลิกฟื้นกลับมาได้มากน้อยแค่ไหน

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/tourism/news-641700

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *