Thu. Apr 25th, 2024
ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยววูบ ฉุด 10 ธุรกิจร่วง

ม.หอการค้าไทย เปิดข้อมูล 10 อันดับแรกธุรกิจต่อเนื่องท่องเที่ยวสำลักพิษโคโรนาหนัก ลากยาวเกิน 3 เดือนรายได้หายกว่า 1.5 แสนล้าน จี้รัฐเร่งเยียวยาเพิ่ม ตั้งกองทุนกู้ยืมดอกเบี้ยตํ่า เที่ยวเชียงใหม่วังเวง คาดสูญรายได้ทัวร์จีนกว่า 2 หมื่นล้าน

ไวรัสโคโรนาส่งผลกระทบผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย 5- 6 หมื่นรายอย่างหนัก จากชาวจีนกลุ่มนักท่องเที่ยวหลัก รวมถึงนักท่องเที่ยวชาติอื่น กระทบต่อเนื่องถึงแรงงานด้านท่องเที่ยวของไทยกว่า 4 ล้านคนมีงานทำลดลง

ล่าสุดมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ออกมาเปิดข้อมูล 10 ธุรกิจแรกต่อเนื่องภาคท่องเที่ยวพบมีความน่าห่วงยิ่ง

ค้าปลีก-โรงแรมอ่วมสุด

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า 10 ธุรกิจต่อเนื่องภาคการท่องเที่ยวของไทยที่ได้รับผลกระทบมากสุดในเวลานี้ ประกอบด้วย ธุรกิจขายปลีก, โรงแรม, ร้านอาหารและเครื่องดื่ม, ผลไม้, ขนส่งทางบก, เนื้อสัตว์, อัญมณีและเครื่องประดับ, เสื้อผ้า, ค้าส่ง และขนส่งทางนํ้าตามลำดับ กรณีสถานการณ์ไวรัสจบภายใน 3 เดือนจะส่งผลให้รายได้ธุรกิจหายไปกว่า 32,533 ล้านบาท รวมธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 75,000 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ)

ส่วนกรณีสถานการณ์ลากยาวเกิน 3 เดือนจะกระทบ 10 ธุรกิจข้างต้นรายได้หายไปกว่า 65,065 ล้านบาท รวมธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 150,000 ล้านบาท

“ตัวเลขดังกล่าวประเมินจากที่ทางศูนย์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่า หากไวรัสโคโรนาจบเร็วใน 3 เดือน นักท่องเที่ยวจีนและชาติอื่นจะหายไปกว่า 1.5 ล้านคนรายได้จากนักท่องเที่ยวจะหายไปกว่า 75,000 ล้านบาท และหากมากกว่า 3 เดือนจะหายไปไม่ตํ่ากว่า 3 ล้านคน รายได้จากนักท่องเที่ยวจะหายไปกว่า 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเราก็มาดูว่าเวลาชาวจีนเขามาเที่ยวเขาใช้จ่ายอะไร ที่ไหน ค่าอะไรบ้าง ซึ่งเรามีโครงสร้างธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวอยู่แล้ว จึงนำมาประเมินผลกระทบ และได้ตัวเลขดังกล่าว”

จี้ตั้งกองทุนกู้ยืมดบ.ตํ่า

จากผลกระทบธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นเวลานี้ ข้อเสนอแนะสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการได้แก่

1. เยียวยาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยด่วน ไม่เฉพาะท่องเที่ยว แต่ต้องรวมถึงภาคการผลิต เกษตร และแรงงาน โดยมาตรการเยียวยา เช่น ยกเว้นดอกเบี้ยเงินกู้, ตั้งกองทุนกู้ยืมดอกเบี้ยตํ่า, ยกเว้นภาษีจ้างลูกจ้างในโครงการของภาครัฐสำหรับแรงงานรายวัน รายเดือน, ลดราคานํ้ามันสำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ, ยกเว้นภาษีรายได้ของแรงงานที่ได้รับผลกระทบ และลดภาษีรายได้นิติบุคคล เป็นต้น

2. ช่วยกันฟื้นฟูความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวต่างชาติให้รับทราบข้อเท็จจริง

3. ช่วยหยุด อย่าแชร์ “ข่าวปลอม”

เที่ยวเชียงใหม่วูบหนัก

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ประชุมด่วนร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และหารือมาตรการเพื่อขอรับความช่วยเหลือ หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงอย่างมาก ยอดจองเข้าพักโรงแรมเหลือเพียง 20% จากปัญหาไวรัสโคโรนาระบาด วงการคาดตลาดจะซึมยาวไปอย่างน้อย 6 เดือน สูญรายได้จากนักท่องเที่ยวจีน 10,000 ล้านบาท หรือทั้งปีกว่า 20,000 ล้านบาท

สำหรับผลกระทบชาวจีนงดเดินทางจะส่งผลกระทบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเชียงใหม่ทั้งระบบ ดังนี้

1. กลุ่มมัคคุเทศก์ ตกงานกว่า 700 คน

2. ห้างสรรพสินค้า ยอดลูกค้าลด 30% ยอดใช้จ่ายต่อหัวลดซ้ำอีก 50%

3.ผู้ค้าตลาดไนท์บาซาร์ลูกค้าน้อย บางส่วนปิดกิจการ

4. ยอดจองห้องพักโรงแรมลดลง 50-80%

5. ปางช้างถูกแจ้งเลิกจอง ยอดนักท่องเที่ยวลด 50-80%

6. ร้านรถเช่า นักท่องเที่ยวจีน-เกาหลียกเลิกจองเกลี้ยง หลังงานรับปริญญานักท่องเที่ยวไทยลด กระทบ 50%

7. ร้านรับแลกเงินยอดใช้บริการลด 40%

8. ธุรกิจรับซักผ้าจากโรงแรม ลด 90%

9. ธุรกิจทัวร์ Joint รถตู้ ไกด์ เจาะตลาดจีน ลูกค้าหาย กระทบ 70-80%

10. ธุรกิจนวด-สปา ยอดลด 80-90% พนักงานนวดตกงาน ปิดกิจการ

11. โชเฟอร์รถตู้/รถทัวร์โดยสาร เริ่มขาดส่งค่างวดรถ

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รายได้การท่องเที่ยวคิดเป็น 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) นอกจากนักท่องเที่ยวจีนไม่มาไทยเวลานี้ นักท่องเที่ยวจากชาติอื่นๆ ก็หลีกเลี่ยงมาไทย เพราะเกรงไม่ปลอดภัย ปี 2562 นักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายเงินในไทยมากกว่า 5 แสนล้านบาท คิดเป็นประมาณ 25% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่มาจากทั่วโลก การเสียรายได้นี้ไปจะกระทบเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมากในปีนี้

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

https://www.thansettakij.com/content/business/421104

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *