Thu. Apr 18th, 2024
ทัวร์อินบาวนด์

ทัวร์อินบาวนด์ยังไร้ปัจจัยบวก คาดนักท่องเที่ยวเริ่มพลิกฟื้นปลายปี’65

ท่องเที่ยวอินบาวนด์ซบยาว “ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร” นายกสมาคมแอตต้าเผยตลาดต่างชาติเที่ยวไทยยังไร้ปัจจัยบวกนโยบายเปิดประเทศ 120 วันไม่ชัดเจน ส่งสัญญาณบริษัททัวร์ปรับแนวคิดวิธีการทำงาน รองรับการเดินทางท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ กรุ๊ปเล็กลง เดินหน้าหาแหล่งเงินทุนต่อลมหายใจผู้ประกอบการ คาดนักท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีหน้าเป็นต้นไป

นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดท่องเที่ยวอินบาวนด์ (ขาเข้า) หรือต่างชาติเที่ยวไทยยังคงไร้สัญญาณบวก เนื่องจากจนถึงขณะนี้แนวทางการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามนโยบาย 120 วัน ของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ก็ยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด ทำให้คาดการณ์ว่าสถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้าประเทศไทยสำหรับปีนี้จะยังคงซบต่อเนื่อง

สถานการณ์ไม่พร้อมท่องเที่ยว

โดยมีเพียงแค่ช่องทางตามโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ และพื้นที่เชื่อมโยงเท่านั้นที่เริ่มเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเข้ามาบ้าง แต่ก็ยังไม่มีนัยสำคัญมากนัก โดยเฉพาะในเชิงปริมาณ

“แม้ว่ารัฐบาลจะเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา แต่เชื่อว่ายังมีข้อจำกัดหลาย ๆ ด้าน เพราะหลักการของการเดินทางท่องเที่ยวนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับประเทศต้นทางด้วยว่าประเทศนั้น ๆ อนุญาตให้คนของเขาออกเดินทางออกนอกประเทศหรือยัง ขณะเดียวกัน ตอนนี้ทุกประเทศมีปัญหาด้านเศรษฐกิจเหมือนกันหมด ทำให้ยังไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้แบบเต็มที่นัก” นายศิษฎิวัชรกล่าว

และว่า ที่สำคัญอัตราการฉีดวัคซีนของคนไทยก็ยังมีสัดส่วนไม่ถึง 70% หรือยังไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (hard immunity) ทำให้พื้นที่เมืองท่องเที่ยวสำคัญ ๆ มีข้อจำกัดในด้านการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“จีน” ตลาดหลักยังเงียบ

นายศิษฎิวัชรกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าตลาดนักท่องเที่ยวหลัก ๆ ที่เดินทางมาเที่ยวไทยยังไม่พร้อมเดินทางออกนอกประเทศ อาทิ จีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีจำนวนมากที่สุดอันดับ 1 ของการท่องเที่ยวไทย รวมถึงเวียดนาม ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฯลฯ ส่วนตลาดระยะไกลหรือนักท่องเที่ยวในโซนยุโรป อเมริกา สแกนดิเนเวีย ฯลฯ นั้นเป็นกลุ่มที่พร้อมเดินทางแต่ปริมาณยังไม่มากนัก และกลุ่มดังกล่าวนิยมจุดหมายปลายทางในพื้นที่ภาคใต้ เช่น ภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย ฯลฯ ไม่กระจายเหมือนกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน

“หากรัฐบาลเปิดประเทศตามแผนหรือในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ ในเบื้องต้นนี้คาดว่ากลุ่มที่จะเดินทางน่าจะเป็นกลุ่มนักธุรกิจมากกว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป บริษัททัวร์อาจจะยังไม่ได้รับอานิสงส์มากนัก อย่างไรก็ตามบริษัททัวร์และผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวที่อยู่ในสถานะปิดกิจการชั่วคราวกันอยู่เป็นจำนวนมากคงมีโอกาสกลับมาเริ่มต้นทำธุรกิจได้บ้าง โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มตลาดยุโรปหรือตลาดระยะไกล” นายศิษฎิวัชรกล่าว

ชี้เทรนด์ท่องเที่ยวเปลี่ยน

นายศิษฎิวัชรกล่าวด้วยว่า ส่วนตัวเชื่อว่ารูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังวิกฤตโควิดนี้จะเปลี่ยนไปอย่างมาก เช่น นักท่องเที่ยวกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่น่าจะลดลง และจะนิยมเดินทางเป็นกรุ๊ปขนาดเล็กมากขึ้น มีความต้องการที่เฉพาะกลุ่มมากขึ้น ดังนั้น บริษัทนำเที่ยวรวมถึงผู้ประกอบการในเซ็กเตอร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มต้นกันใหม่ ทั้งปรับเปลี่ยนแนวคิด รูปแบบ และวิธีการทำการตลาดที่ไม่เหมือนเดิม รวมถึงรูปแบบการให้บริการที่จะต้องสอดรับกับความต้องการที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

“ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการจำนวนมากทั้งกลุ่มที่เป็นบริษัทนำเที่ยว บริษัทรถ เรือ ร้านอาหาร ฯลฯ มีทั้งปิดตัวถาวรและปิดตัวชั่วคราวเป็นจำนวนมาก เมื่อบวกกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดดังกล่าวทำให้การทำตลาดท่องเที่ยวต่อจากนี้ไม่ง่ายอีกต่อไป ขณะเดียวกัน น่าจะเริ่มเห็นคนรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาสู่ธุรกิจมากขึ้น และน่าจะเห็นการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่เกิดขึ้นตามมาแน่นอน” นายศิษฎิวัชรกล่าว

หาแหล่งเงินทุนต่อลมหายใจ

นายศิษฎิวัชรกล่าวต่อไปอีกว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยว ที่ผ่านมาสมาคมแอตต้าได้พยายามหาแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกคนมีเงินทุนเข้ามาหมุนเวียนและประคับประคองธุรกิจให้สามารถเดินต่อ และเป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเหมือนในอดีตที่ผ่านมา โดยปัจจุบันสมาคมได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Bank เป็นอย่างดี

“สมาคมพยายามให้ข้อมูลเพื่อให้สมาชิกเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเราเน้นสินเชื่อ 3 รูปแบบหลักคือ โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อยของ สสว.สำหรับผู้ประกอบการ 35 จังหวัดที่เป็นจังหวัดนำร่องเปิดประเทศและจังหวัดควบคุมพื้นที่สูงสุดและเข้มงวด วงเงิน 1,200 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% ผ่อนชำระนานสุด 7 ปี และปลอดชำระหนี้เงินเดือน 12 เดือน สนับสนุนสินเชื่อบุคคลธรรมดาสูงสุด 3 แสนบาท และไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายในงบการเงินปี 2562 หรือปี 2563 สูงสุด 5 แสนบาทสำหรับนิติบุคคล” นายศิษฎิวัชรกล่าว

และว่า นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อรายเล็ก หรือ Extra Cash สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากไวรัสโควิด สามารถขอกู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ย 3% คงที่ 2 ปีแรก ผ่อนนานสูงสุด 5 ปี โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน หรือ Local Economy Loan อัตราดอกเบี้ย 2.875% ต่อปี 3 ปีแรกสำหรับนิติบุคคล และอัตราดอกเบี้ย 4.875% ต่อปี 3 ปีแรกสำหรับบุคคลธรรมดา โดยให้ บสย.เป็นผู้ค้ำประกัน ระยะเวลาผ่อนชำระ 7 ปี

“ไม่เพียงเท่านี้ล่าสุดยังมีข่าวดีจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯว่าได้หารือร่วมกับทางกระทรวงการคลัง เพื่อตั้งกองทุนช่วยเหลือภาคธุรกิจท่องเที่ยวมูลค่า 8,000 ล้านบาท โดยใช้หลักการกู้ในรูปแบบค้ำประกันไขว้ ซึ่งขณะนี้เราภาคท่องเที่ยวก็รออยู่ โดยคาดหวังว่าน่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้” นายศิษฎิวัชรกล่าว

คาดธุรกิจพลิกฟื้นปลายปี’65

นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทางสมาคมแอตต้าในฐานะองค์กรที่ดูแลตลาดนักท่องเที่ยวอินบาวนด์ (ขาเข้า) อยากให้รัฐบาลประกาศนโยบายและแนวทางการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชัดเจน เพื่อให้ภาคเอกชนมีเวลาได้เตรียมความพร้อมสำหรับการกลับมาทำธุรกิจกันอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องเงินทุนหมุนเวียน

ทั้งนี้ สำหรับสมาคมแอตต้าเชื่อว่าสถานการณ์โดยรวมของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้จะยังไม่หวือหวานัก เนื่องจากตลาดหลักยังมีข้อจำกัดในเรื่องการเดินทางออกนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมน่าจะทยอยดีขึ้นในช่วงต้นปีหน้า และคาดว่าจะเริ่มพลิกฟื้นอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2565 เป็นต้นไป

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/tourism/news-751166

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *