Tue. Apr 23rd, 2024
ททท. ติดสปีด “เมืองรอง” ดัน “รายได้” โตกระจายทั่วประเทศ

ททท. ติดสปีด “เมืองรอง” ดัน “รายได้” โตกระจายทั่วประเทศ

หลังจากที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว “เมืองรอง” มาอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การขยายตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวลงสู่เมืองรองค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวฯพบว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวรอง ระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2561 ที่ผ่านมามีจำนวนผู้มาเยือนชาวไทยในเมืองท่องเที่ยวรองที่ 60.10 ล้านคนครั้ง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและก่อให้เกิดรายได้ในเมืองท่องเที่ยวรองรวม 1.65 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 8.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ททท.เร่งเครื่องดันเมืองรอง

“นพดล ภาคพรต” รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลว่า ภาพรวมการเติบโตของเมืองรองในปี 2561 ที่ผ่านมา ถือว่ามีการขยับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างดีเป็นไปตามเป้าหมาย มีปัจจัยบวกเข้ามาช่วย เช่น การเข้ามาของโลว์คอสต์แอร์ไลน์ในพื้นที่เมืองรอง และช่วงไฮซีซั่นที่กำลังจะมาถึงที่จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรองในช่วงปลายปีได้

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของ ททท. คือ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองทั้ง 55 จังหวัด เพียงแต่ที่ผ่านมาต้องเลือกเริ่มทำการตลาดให้กับจังหวัดที่มีความพร้อมทั้งในเชิงความเข้าใจของชุมชน ความสะดวก ปลอดภัยของนักท่องเที่ยวก่อนที่จะขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ

นอกจากนั้น ยังเริ่มจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวแนะนำทั่วทั้ง 55 เมืองรอง และจะทยอยปล่อยตามความพร้อมของพื้นที่ให้ครอบคลุม 55 เมืองรองในที่สุด

ขณะที่ “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการ ททท. ย้ำว่า ขณะนี้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเริ่มรู้จักเมืองรองของไทยมากขึ้นแล้ว ซึ่งถือว่าการดำเนินงานประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง สเต็ปต่อไปคือการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางจริง โดยในปีหน้านี้จะเริ่มเห็นทิศทางการรุกที่ชัดเจนขึ้นอีก

“ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าเมืองรองประมาณ 4-5% ตอนนี้ก้าวกระโดดไปที่ 9-10% แล้ว ซึ่งทาง ททท.เองก็ต้องมีมาตรการต่าง ๆ ในการกระตุ้นการเดินทางสู่เมืองรองออกมาอย่างต่อเนื่อง” ยุทธศักดิ์ย้ำ

สมาคมโรงแรมชี้ “ต้องใช้เวลา”

ด้าน “ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ” นายกสมาคมโรงแรมไทย บอกว่า หลังรัฐบาลออกมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในเมืองรอง ภาพรวมของตลาดโรงแรมในเมืองรองก็เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจนมากนักเนื่องจากยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและยังไม่ถึงฤดูกาลท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงปลายปี เชื่อว่าขณะนี้เมืองรองยังอยู่ในจุดที่ต้องใช้เวลาอีกมากในการพัฒนาให้พร้อมต่อการท่องเที่ยวโดยเชื่อว่าส่วนสำคัญที่จะทำให้เมืองรองต่าง ๆ สามารถเติบโตได้ คือ “แคแร็กเตอร์” ซึ่งแต่ละเมืองจะต้องนำเอาเอกลักษณ์ที่แตกต่างของตนเองออกมานำเสนอ เนื่องจากการตลาดเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจท่องเที่ยว และหากภาครัฐและเอกชนในจังหวัดสามารถร่วมกันนำของดีของจังหวัดออกมานำเสนอไปในทิศทางเดียวกันได้ และร่วมกันพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการท่องเที่ยวภายในจังหวัด พร้อมกับมีส่วนกลางช่วยในการทำโปรโมตก็จะสามารถเติบโตต่อเนื่องได้ในอนาคต

มาถูกทาง-รายได้โตสูงกว่าจำนวน

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวฯพบว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยท่องเที่ยวในเมืองรอง 5.96 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.14% โดยเมืองรองที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเยือนสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี จำนวน 3.38 แสนคน รองลงมาคือ นครศรีธรรมราช จำนวน 3.03 แสนคน และอุดรธานี จำนวน 3.02 แสนคน

ขณะที่จังหวัดที่มีการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 3 อันดับแรก คือ นครพนม เพิ่มขึ้น 7.80% ตามด้วย นครนายก เพิ่มขึ้น 7.77% น่าน เพิ่มขึ้น 7.77% และระนอง เพิ่มขึ้น 7.32%

สำหรับด้านรายได้เมืองท่องเที่ยวรองเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีมูลค่า 1.55 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.88% โดยมีเมืองรองที่มีรายได้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เชียงราย มูลค่า 1.46 พันล้านบาทตามด้วยนครศรีธรรมราช มูลค่า 1.24 พันล้านบาท และอุดรธานี มูลค่า 959 ล้านบาท ขณะที่เมืองท่องเที่ยวรองที่มีการขยายตัวด้านรายได้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ น่าน เพิ่มขึ้น 13.81% ตามด้วยเลย เพิ่มขึ้น 13.09% และบุรีรัมย์ เพิ่มขึ้น 12.08%

โตกระจุก-ไม่กระจาย

“รณชัย จิตรวิเศษ” ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย หนึ่งในเมืองรอง บอกว่า หลังจากที่รัฐบาลจัดทำนโยบายเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง การท่องเที่ยวในจังหวัดหนองคายก็กระเตื้องขึ้นจากเดิมเล็กน้อย แต่ไม่ได้อยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าคึกคัก โดยมีอุปสรรคหลายปัจจัย ทั้งจำนวนสถานที่ท่องเที่ยวที่น้อยกว่าจังหวัดใกล้เคียง การคมนาคม สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือการตลาด

“สาเหตุที่ทำให้การท่องเที่ยวในหนองคายไม่คึกคักเกิดจากการขาดผู้เชี่ยวชาญด้านการทำการตลาดและการบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาสู่จังหวัดได้”

ขณะที่ “นพดล ประหยัดรัตน์” นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวบุรีรัมย์ บอกว่า เนื่องจากจังหวัดในภาคอีสานไม่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่โดดเด่น การเลือก “จุดขาย” และการวางแนวทางด้านการท่องเที่ยวที่แน่นอนจึงมีความสำเร็จอย่างยิ่งต่อธุรกิจการท่องเที่ยว

“บุรีรัมย์มีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีเป็นแม่บทการพัฒนาเมืองในทุกด้าน รวมถึงการท่องเที่ยวซึ่งเกิดจากผู้นำที่แข็งแกร่งและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ทำให้ทุกภาคส่วนสามารถมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน”

โดยสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวบุรีรัมย์รับหน้าที่ในการจัดทำปฏิทินการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี พร้อมทั้งมีภาครัฐและเอกชนร่วมกันจัดงานอีเวนต์ให้สอดคล้องกัน รวมถึงดึงการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติเข้ามาภายในจังหวัด อาทิ การจัดการแข่งขันจักรยานยนต์โมโตจีพี เป็นต้น

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ แม้จะเป็นสัญญาณที่ดีที่ภาพรวมของเมืองท่องเที่ยวรองโดยรวมมีอัตราการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น แต่หากดูลึกในรายละเอียดจะพบว่า การขยายตัวของท่องเที่ยวเมืองรองยังคง “กระจุก” และ “ไม่กระจาย” เท่าที่ควร


ที่มา : www.prachachat.net วันที่ 12 ธ.ค. 61
www.prachachat.net/tourism/news-263966

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *