Fri. Apr 19th, 2024
ตื้น-ลึก-หนา-บาง : ดี๊ดี E-Visa On Arrival เตะหมูเข้าปากใคร?

ตื้น-ลึก-หนา-บาง : ดี๊ดี E-Visa On Arrival เตะหมูเข้าปากใคร?

ปลายปีที่แล้วโลกโซเชียลจีน “ร้อนฉ่า” กับคลิปที่แชร์กันว่อนถึงภาพ รปภ.สนามบินของไทย ตบนักท่องเที่ยวจีนโชว์กลางสนามบินดอนเมือง

แต่ที่เดือดกว่าเมื่อนักท่องเที่ยวจีนออกมาแฉว่า เหตุมาจากเขาไม่ยอมจ่ายค่าเงินใต้โต๊ะ 300 บาท ให้เจ้าหน้าที่ไทย เพื่อแลกกับการเข้าเมือง นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมวีซ่า 2,000 บาทเรื่องนี้ทำเอาร้อนไปทั้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และรัฐบาลไทย ออกมาปัดข่าวกันจ้าละหวัน เมื่อไม่มีใบเสร็จ ไม่มีหลักฐานมายืนยัน ก็แถไถกันไป เรื่องก็เงียบหายไปตามสายลม

แต่ผลที่ตามมาแรงเกินคาด เมื่อตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนวูบอย่างน่าวิตก จนผู้เกี่ยวข้องต้องลุกขึ้นมาเดินสายฟื้นความเชื่อมั่นตลาดทัวร์จีนกันใหญ่ เพราะจีนคือตลาดนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย เดินทางมาท่องเที่ยวถึงปีละ 10 ล้านคน 1 ใน 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด

จีน 1 ล้านคนต่อปีขอ VOA

ส่วนขบวนการหาผลประโยชน์กับนักท่องเที่ยว ในสนามบินก็มีมาช้านาน ปราบเท่าไรไม่เคยหมด จับไม่ได้ไล่ไม่ทันก็เงียบ ๆ กันไป เพราะผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร แต่กรณีนี้พูดไม่ออกเมื่อต่างชาติที่ได้รับผลกระทบเป็นคนออกมาแฉเสียเอง

“รีดค่าหัวคิว” จากการทำ Visa on Arrival หรือวีซ่าหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง ณ สนามบิน ก็เช่นกัน เป็นเรื่องที่รู้กันแต่ไม่มีใครกล้าพูด เพราะเป็นการสมยอมระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ประกอบการทัวร์จีนที่ “ยินดีจ่าย” เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องยืนขาแข็งรอคิวนานเป็นชั่วโมง เพราะยิ่งนำนักท่องเที่ยวออกจากสนามบินได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งเป็นผลดีต่อการทำทัวร์มากเท่านั้น จึงยอมจ่ายเพื่อซื้อเวลา

ตัวเลขที่น่าตกใจพบว่าในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวไม่ใช่น้อยที่มายื่นขอวีซ่าที่สนามบินหรือทำวีซ่าแบบ Visa On Arrival อันดับ 1 ก็คือ “จีน” พบว่าที่ผ่านมามีการขอวีซ่าประเภทนี้ถึง 1 ล้านคนต่อปี จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่ยื่นขอวีซ่าในลักษณะนี้ 8 ล้านคน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าปีนี้จะมีจำนวนเกิน 40 ล้านคน

ด้วยเหตุนี้กระทรวงการต่างประเทศจึงลุกขึ้นมาผุดโครงการ Thai E – Visa เปิดให้นักท่องเที่ยวกรอกเอกสารขอยื่นวีซ่าด้วยตัวเองผ่าน ออนไลน์ ได้ทุกที่ ทุกเวลา จากสมาร์ทโฟนหรือเครื่องพีซี ไปจนถึงขั้นตอนการชำระเงินผ่านธนาคารกสิกรไทย ซึ่งจะเริ่มให้บริการวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่กรุงปักกิ่ง เป็นที่แรก ก่อนขยายไปเมืองอื่น ๆ ในจีน อังกฤษ และ ฝรั่งเศส เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว แต่ระบบนี้ยังต้องส่งพาสปอร์ตไปสแตมป์วีซ่าที่สถานทูตไทยในประเทศนั้นๆ อยู่ดี

สตม.ผนึก VFS ทะลวงปัญหา

ส่วน สตม. ใช้ไอทีมาอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวเช่นกัน โดยล่าสุดเปิดตัวโครงการ Thailand E-Visa On Arrival เป็นการร่วมมือกับเอกชนในการพัฒนาระบบ ดึงพันธมิตร VFS Global บริษัทข้ามชาติที่มีความชำนาญในการทำวีซ่าให้กับ 62 ประเทศเข้ามาดำเนินการ โดยมีแนวร่วมทั้งการบินไทย และท่าอากาศยานไทย ในฐานะเจ้าของพื้นที่ให้การสนับสนุน

โดยเพิ่งจัดงานเปิดตัวใหญ่โต เชิญระดับ รองนายกฯ บิ๊กป้อม- พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาเป็นประธาน เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา และจะเริ่มเปิดให้บริการวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ โดยประเดิมจาก 20 ประเทศ รวมเขตเศรษฐกิจไต้หวัน ซึ่งมีจีนรวมอยู่ด้วย

โครงการนี้เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุจากที่ผ่านมา สตม. ได้รับการร้องเรียนมากถึงคิวตรวจคนเข้าเมืองยาวเป็นหางว่าวรอนานเป็นชั่วโมง สนามบินแออัด สร้างความรำคาญใจแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติมาก ทั้งที่สนามบินเปรียบเสมือนหน้าตาหรือ “ประตู” ของประเทศ แต่ในทางปฏิบัติกลับสร้างภาพลักษณ์ในเชิงลบแก่ผู้มาเยือน ตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าประเทศ

ปัญหานี้ สตม. เองก็ไม่สบายใจนัก แต่ก็จนใจเพราะติดขัดด้วย เรื่องงบประมาณ ไม่มีเงินมาพัฒนาเทคโนโลยี มาบริการนักท่องเที่ยว ไม่มีเงินจ้างบุคลากรเพิ่ม ไม่มีพื้นที่สำหรับเปิดเคาน์เตอร์บริการเพิ่ม สารพัดปัญหา เป็นเรื่องที่สตม.เองก็อึดอัดกันมานาน เพราะดูสวนทางกับรัฐบาลที่โหมโรงตีปี๊บหวังรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวมาก ๆ แต่ไม่ได้เหลียวหลังไปดูถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในการรองรับ ปล่อยให้นักท่องเที่ยวเผชิญชะตากรรมกันเอง

ขุมทรัพย์ E-VOA ใครได้?

ทางออกของสตม.จึงดึงเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาไอทีและแบ่งผลประโยชน์กันในลักษณะ Profit- sharing หวังอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางให้ทัดเทียมอารยประเทศ ที่สามารถยื่นคำขอวีซ่าออนไลน์ด้วยตัวเอง และรู้คำตอบภายใน 3 วัน โดยมีกุนซือคอยให้คำแนะนำ กลั่นกลองเอกสาร และเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับระบบไอทีกลางของสตม. ทำให้สามารถสกรีนได้อีกขั้นหนึ่งว่า บุคคลเหล่านี้คนไหนติดแบล็กลิสต์ ห้ามเข้าประเทศ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เดินทางถึงสนามบินปุ๊บ ก็แค่ยื่นต.ม.สแตมป์พาสปอร์ต ผ่านเข้าเมืองได้เลย

อีกทั้งไหน ๆ จะแก้ปัญหาทั้งที สตม. ยุคบิ๊กโจ๊ก – พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล ก็ถือโอกาสรื้อระบบ Fast Track Lane เข้า-ออก สนามบินใหม่เสียเลย จัดระเบียบให้ผู้โดยสารที่ตีตั๋วชั้น 1 และชั้นบิสิเนสของสายการบินต่าง ๆ ได้เดินเชิดหน้าเข้าช่องนี้อย่างสมศักดิ์ศรี ตรวจสอบได้ มิใช่พิมพ์บัตรปลอมขึ้นมาแอบเอาไปขายใบละ 500 -1,000 บาท “งาบ” กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

ก่อนหน้านั้น สตม. ก็เคยมีการให้บริการในลักษณะนี้เช่นกัน โดยเซ็นเอ็มโอยูกับ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ SAMART บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯให้บริการ E- Visa On Arrival ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 มีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี และสามารถขยายเวลาออกไปได้อีก 3 ปี

โดยมีผลตอบแทนในรูปของส่วนแบ่งค่าบริการ เฉลี่ย 525 บาทต่อรายการ ซึ่งค่ายนี้คิดสมการรายได้จากการประเมินบนพื้นฐานจำนวนนักท่องเที่ยวจีนอยู่ที่ 1-2 ล้านคนต่อปี บริษัทก็จะมีรายได้ราว 500-600 ล้านบาทต่อปี หากเป็นไปตามเป้าหมายเอกชนก็ “รับทรัพย์พุงกาง”

ส่วนความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ สตม.จะมีรายได้จากค่าบริการ E-Visa On Arrival นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมวีซ่า Visa on Arrival 2,000 บาทต่อคน อีกรายละ 600 บาท หากนักท่องเที่ยวมายื่นขอวีซ่าหน้าด่าน Visa on Arrival ปีละ 8 ล้านคน ขอสักปีละ 1 ล้านคนที่ขอยื่นวีซ่าแบบ Thailand E-Visa On Arrival สตม. ก็รับเนาะ ๆ ไป 600 ล้านบาทต่อปี หรือถ้าได้ 2 ล้านคนก็มีรายได้ปีละ 1,200 ล้านบาทต่อปี (ยังไม่หักค่าใช้จ่าย)

เม็ดเงินก้อนโตที่ได้ สตม.คงเอาไปปรับปรุงบริการให้ดีขึ้น ดูแลเจ้าหน้าที่ให้อยู่ดีมีความสุขในการทำงาน การวิ่งเต้นที่จะเข้าประจำอยู่ในสนามบินก็จะลดลง หากไม่ไปหล่นในกระเป๋าใครเสียก่อน 


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thansettakij.com วันที่ 7 ก.พ. 62
www.thansettakij.com/content/385519

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *