Fri. Mar 29th, 2024
โรงแรม

ดัชนีเชื่อมั่นโรงแรมฟื้น ชี้สิ้นปีรายได้เท่าก่อนโควิด

“สมาคมโรงแรมไทย” เปิดผลสำรวจดัชนีเชื่อมั่นกลุ่มที่พัก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คาดไตรมาส 1/66 มีจำนวนลูกค้ามากกว่า-ใกล้เคียงไตรมาส 4/65 มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยราว 60% มั่นใจรายได้กลับสู่ระดับก่อนโควิดภายในสิ้นปีนี้ ชี้จีนเปิดประเทศส่งผลดีกับเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวของไทยในทุกด้าน

สมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดเผยว่า สมาคมโรงแรมไทยได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม (Hotel Business Operator Sentiment Index) เดือนธันวาคม 2565

โดยสำรวจจากผู้ตอบแบบสำรวจ 95 แห่ง ระหว่างวันที่ 9-22 ธันวาคม 2565 พบว่าส่วนใหญ่คาดว่าไตรมาส 1/2566 จะมีจำนวนลูกค้ามากกว่าหรือใกล้เคียงกับไตรมาส 4/2565 หรือประมาณ 60% โดยเฉพาะโรงแรมที่รับลูกค้าต่างชาติเป็นหลัก

ส่วนเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น พบว่าภาพรวมรายได้ของโรงแรมยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับก่อน COVID-19 สะท้อนจากโรงแรมที่มีรายได้กลับมาเกินครึ่งหนึ่งคิดเป็น 37% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ซึ่งมีสัดส่วนลดลงจากเดือนก่อน ซึ่งเป็นเดือนที่ได้รับอานิสงส์จากการจัดประชุม APEC

โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 63% เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่อยู่ในระดับ 59% ตามการเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นปลายปี และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มเห็นกลุ่มลูกค้ายุโรปและอเมริกาในจำนวนที่มากขึ้น ส่งผลให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกภาค

โดยภาคกลางมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงสุดที่ 69.5% รองลงมาคือ ภาคใต้ 67.1% ภาคตะวันออก 62.4% ภาคเหนือ 59.2% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 51.5%

ทั้งนี้ ลูกค้าหลักของโรงแรมกว่าครึ่งหนึ่งเป็นลูกค้าต่างชาติ สะท้อนจากโรงแรมที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมากกว่า 50% คิดเป็น 54% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ซึ่งเป็นสัดส่วนใกล้เคียงเดือนก่อนที่เริ่มเห็นการฟื้นตัวชัดเจน ซึ่งกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เข้าพักส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเอเชียและตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันตก

จากแนวโน้มดังกล่าวนี้ ทำให้สภาพคล่องโดยรวมของผู้ประกอบการปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยโรงแรมกว่าครึ่งหนึ่ง (53%) มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ขณะที่โรงแรมราว 1 ใน 3 ยังมีสภาพคล่องใกล้เคียงเดิม สำหรับกลุ่มที่มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน ลดลงจากไตรมาสก่อนจาก 36% มาอยู่ที่ 28%

“รายได้ของโรงแรมยังไม่ฟื้นตัวมากนัก สอดคล้องกับราคาห้องพัก และการใช้จ่ายบริการอื่น ๆ ในโรงแรม เช่น อาหารและเครื่องดื่ม สปา ของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่ส่วนใหญ่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด อย่างไรก็ดี ภาพรวมการใช้จ่ายทั้งราคาห้องพักและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในโรงแรมปรับดีขึ้นจากสำรวจครั้งก่อนเล็กน้อย”

และระบุด้วยว่าปัจจุบันโรงแรมกว่า 80% รายได้ยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิด แต่ส่วนใหญ่คาดว่าจะกลับมาได้ภายในปี 2566 โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปี สำหรับประเด็นการจ้างงานนั้น พบว่าโรงแรมมีการจ้างงานเฉลี่ยใกล้เคียงเดือนก่อนอยู่ที่ 72.3% ของการจ้างงานเดิมก่อนเกิด COVID-19 จากปัญหาขาดแคลนแรงงานยังคงกดดันการจ้างงานในธุรกิจโรงแรมเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ยังพบว่าธุรกิจโรงแรมมีการกำหนดเป้าหมายรายได้ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ตามภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยกว่าครึ่งหนึ่งมองว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 10-30% และโรงแรมกว่าครึ่งหนึ่งมีแผนจะปรับขึ้นค่าจ้างหรือเงินเดือนในปี 2566 โดยส่วนใหญ่มีแผนการปรับขึ้นไม่เกิน 5% เทียบกับอัตรา ณ ปัจจุบัน ขณะที่ 23% ไม่ปรับขึ้นค่าจ้าง เนื่องจากมีการปรับขึ้นตามค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว และอีก 13% ยังไม่มีแผนปรับ

อย่างไรก็ตาม มีหลายประเด็นที่อาจกระทบการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมในปี 2566 โดยต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น จากราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ หรือต้นทุนทางการเงิน เป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการกังวลมากที่สุดหรือคิดเป็น 76% ของผู้ตอบ รองลงมาคือ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทบกำลังซื้อของนักท่องเที่ยว (57%) และปัญหาขาดแคลนแรงงานในธุรกิจ (41%) ตามลำดับ

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า สถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวขึ้นไปในทางที่ดี แต่ยังเจอกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการฟื้นตัว อาทิ ต้นทุนการประกอบธุรกิจที่สูงขึ้นมาก ราคาวัตถุดิบอาหาร ค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างแรงงานที่ต้องปรับสูงขึ้น เพื่อดึงดูดให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออกในช่วงโควิดเป็นจำนวนมากกลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง

รวมถึงแผนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าที่ถือเป็นต้นทุนหลักในด้านพลังงานของภาคธุรกิจ แต่ปัญหาหลักที่ภาคธุรกิจโรงแรมและบริการยังประสบมาอย่างต่อเนื่อง คือ การขาดแคลนภาคแรงงานทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ

โดยในประเด็นดังกล่าวนี้ทางภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมยังต้องการแรงผลักดันจากทางภาครัฐ สนับสนุนงบประมาณด้านการฝึกอบรมเพื่อพัฒนายกระดับทักษะต่าง ๆ และสร้างบุคลากรรองรับภาคการบริการให้เพียงพอในอนาคต เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรมให้เดินต่อไปได้

“หวังว่าเทศกาลและกิจกรรมในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น การท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง รวมถึงการที่จีนเปิดประเทศและได้ประกาศยกเลิกมาตรการกักกันโรคโควิด-19 โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 8 มกราคมนี้ จะส่งผลดีกับเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของไทยในทุกด้าน”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/tourism/news-1169027

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *