Thu. Apr 25th, 2024
เที่ยวไทย

ชี้ “เที่ยวไทย” ปี’64 ดีสุดทำได้แค่ 1.5 ล้านล้าน

ยังคงคาดการณ์ยากมากว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะจบลงเมื่อไหร่ การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะกลับมาได้อีกครั้งเมื่อไหร่ อย่างไร

ที่สำคัญ “โควิด” ยังคงเป็นปัจจัยลบที่ทำให้เกิดปัจจัยลบด้านอื่น ๆ ตามมาอีกเป็นระลอก ทั้งปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว, กำลังซื้อคนในประเทศ ฯลฯ ซึ่งทุกปัจจัยล้วนส่งผลต่อการฟื้นของภาคการท่องเที่ยวทั้งสิ้น

ยันปีหน้าหนักกว่าปีนี้

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน ททท.ประเมินว่า ในปีนี้ประเทศไทยจะเก็บรายได้จากการท่องเที่ยวตลอดทั้งปีได้ราว 742,500 ล้านบาท ลดลง 75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี โดย ททท.จะเร่งกระตุ้นการเดินทางภายในประเทศเพิ่มจาก 2 คน-ครั้ง เป็น 3 คน-ครั้งต่อปี

ส่วนในปี 2564 ถ้าหากสถานการณ์ดีที่สุด ไทยจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 1,525,300 ล้านบาท เติบโต 105% จากปีที่ผ่านมา แต่ถ้าหากสถานการณ์แย่ที่สุด คาดว่าจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวรวมเพียง 675,700 ล้านบาท ลดลง 9% จากตัวเลขคาดการณ์ปี 2563

จากเดิมที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่า ในปี 2564 ไทยจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 3.9 ล้านล้านบาท

ตลาดต่างชาติยังไม่ฟื้นไข้โควิด

“ยุทธศักดิ์” บอกว่า ได้คาดการณ์สถานการณ์ทั้งตลาดภายในและภายนอกประเทศไว้ 3 รูปแบบสำหรับ “ตลาดต่างประเทศ” ได้แก่ 1.ไม่ฟื้นตัว ฟื้นตัวช่วงไตรมาส 4หรือปลายปี 2564 เริ่มเปิดให้เที่ยวบินพาณิชย์เข้าไทยในไตรมาส 4 จะทำให้มีการเดินทางจากตลาดระยะใกล้อย่างเอเชีย หรืออาเซียนเป็นหลัก

โดยคาดว่าจะมีที่นั่งเที่ยวบินทั้งปีกลับมา 15% จากเดิมมีนักท่องเที่ยว6.14 ล้านคน สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยว 296,000 ล้านบาท

2.ฟื้นตัวระดับปานกลาง ฟื้นตัวช่วงไตรมาส 3 หรือช่วงกลางปี 2564 เริ่มเปิดให้เที่ยวบินพาณิชย์เข้าไทยในไตรมาส 3 เป็นการเดินทางจากตลาดระยะใกล้จากเอเชียและอาเซียน เสริมด้วยการกลับมาของตลาดยุโรปบางส่วนช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม และตลาดยุโรปฟื้นกลับมาชัดเจนช่วงปลายปี 2564

และคาดว่าจะมีที่นั่งเที่ยวบินทั้งปีราว 30% จากเดิม มีจำนวนนักท่องเที่ยว 12.5 ล้านคน สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยว 617,500 ล้านบาท

และ 3.ฟื้นตัวเร็ว ฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 2 หรือช่วงต้นปี 2564 เริ่มเปิดให้เที่ยวบินพาณิชย์เข้าไทยในไตรมาส 2เป็นการเดินทางจากตลาดระยะใกล้อย่างเอเชีย และอาเซียน และการกลับมาของตลาดยุโรปอย่างชัดเจนช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนเป็นต้นไป

คาดว่าจะมีที่นั่งเที่ยวบินทั้งปีกลับมาราว 50% โดยคาดจำนวนนักท่องเที่ยว20.5 ล้านคน สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยว 977,000 ล้านบาท

เศรษฐกิจทุบซ้ำตลาดในประเทศ

สำหรับ “ตลาดในประเทศ” นั้นก็ประเมินไว้ 3 แบบเช่นกัน คือ 1.ฟื้นตัวปลายปี 2564 กรณีแรก คือ ล็อกดาวน์บางจังหวัดท่องเที่ยวทั้งหลัก/รองรวมถึงเฉพาะบางจังหวัดท่องเที่ยวหลัก/รอง ที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน มีศักยภาพในการรองรับการท่องเที่ยว เศรษฐกิจภาพรวมในไตรมาส 2 ติดลบ 3%เทียบกับปี 2562 โดยคาดว่านักท่องเที่ยวไทยจะสะสม 76.20 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 458,800 ล้านบาท

กรณีที่ 2 ล็อกดาวน์ทั้งประเทศและเศรษฐกิจปี 2564 ติดลบ 8% เทียบกับปี 2563 โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไทย จะสะสม 68.40 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 379,700 ล้านบาท

2.ฟื้นตัวกลางปี ประเทศไทยไม่พบการติดเชื้อ จีดีพีไทยขยายตัว 5% แต่ยังไม่ฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยดัชนีผู้บริโภคยังติดลบอยู่ที่ 3% คาดนักท่องเที่ยวไทยสะสม 84.92 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 491,000 ล้านบาท

และ 3.ฟื้นตัวเร็วต้นปี 2564 ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อ มีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมถึงสิทธิประโยชน์เที่ยวในประเทศได้มากกว่าเที่ยวต่างประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวคนไทย 89.24 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 548,341 ล้านบาท

มุ่งโฟกัส “ไทยเที่ยวไทย”

“ยุทธศักดิ์” ยังบอกด้วยว่า ในปี 2564จะยังมีหลายปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยวไทย ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังดำเนินอยู่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่เต็มที่ ธุรกิจการบินที่ประสบปัญหาทางการเงินรวมถึงการส่งเสริมการเว้นระยะห่าง การเดินทางภายในประเทศ และทัศนคติของคนไทยที่ยังไม่พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยว

ขณะเดียวกันก็ยังมีปัจจัยสนับสนุนเกี่ยวกับภาพลักษณ์เชิงบวกด้านสาธารณสุข และการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ในเรื่องมาตรฐาน SHA แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่กลับมาสวยงาม รวมถึงความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยากกลับมาท่องเที่ยวไทยอีกครั้ง

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/tourism/news-503144

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *