Thu. Apr 18th, 2024
สนามบิน

จี้โอน 4 สนามบิน ยกกระบี่ให้AOT

จับตาโอน 4 สนามบิน บุรีรัมย์-กระบี่-อุดรฯ-ตาก ให้ทอท. ตัวแปรอยู่ที่สนามบินกระบี่ “ศักดิ์สยาม” จี้ให้สรุปข้อดี-ข้อเสีย ก่อนฟันธงเลือก 1 ใน 3 แนวทาง เอกชนแนะเปิดกว้างรายอื่นยื่นข้อเสนอแข่ง


แผนการโอนย้ายสนามบิน 4 แห่งภายใต้การดูแลของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ไปอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. จนถึงวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป แม้ว่าก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมในรัฐบาลชุดก่อนได้ร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตกลงจะโยกสนามบินสกลนคร, สนามบินอุดรธานี, สนามบินชุมพร และสนามบินแม่สอด จังหวัดตาก ให้ทอท.ดูแล แต่ยังต้องไปหารือในเรื่องของข้อกฎหมาย เพื่อต่อจิ๊กซอว์การบูรณาการเชื่อมโยงเส้นทางบินระหว่างประเทศให้เกิดแอร์พอร์ตคลัสเตอร์ ครอบคลุมการตลาดทั้ง 4 ภาคของไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล บอร์ด ทอท.ก็มีการปรับเปลี่ยนรายชื่อของ 4 สนามบินใหม่ มาเป็นสนามบินบุรีรัมย์, สนามบินกระบี่ โดยคงสนามบินอุดรธานี แต่ยังคงสนามบินตากไว้เหมือนเดิม แต่เมื่อเกิดข้อโต้แย้งจาก ทย. ในเรื่องของสนามบินกระบี่ เนื่องจากเป็นสนามบินหลักที่ทำรายได้กว่า 55% ที่หล่อเลี้ยงสนามบินทั้งหมดของ ทย.กว่า 28 แห่ง ทำให้ในการประชุมก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมได้ตัดสนามบินกระบี่ให้คงอยู่ภายใต้การดูแลของ ทย.เหมือนเดิม แต่ล่าสุดก็พบว่ามีการผลักดันให้เกิดการโอนสนามบินกระบี่มาให้ ทอท.อีกครั้ง

ล่าสุดนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณารูปแบบในการโยก 4 สนามบิน คือ สนามบินบุรีรัมย์ , สนามบินกระบี่ สนามบินอุดรธานี และสนามบินตาก ของทย.ไปให้ทอท.ดูแล โดยเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย จาก 3 แนวคิด ได้แก่ 1.ทย.บริหารเองต่อไป 2.การบริหารสัญญาร่วม หรือจ้างบริหาร (Management Contact) และ 3.ใช้วิธีการโอน เหมือนในอดีตที่ ทย.มีการโอน 6 สนามบินในปัจจุบันให้ ทอท.เป็นผู้ดูแล

“การพิจารณาในเรื่องนี้อยากให้มีการมองนอกกรอบ เพราะในมุมทย.ก็มองว่าสนามบินกระบี่เป็นสนามบินที่มีศักยภาพ ถ้าทย.ยังบริหารอยู่ ก็จะทำให้มีรายได้เข้ากองทุนหมุนเวียนเข้ามาบริหารสนามบินอื่นๆ ของ ทย. ซึ่งผมมองว่าเราแก้โจทย์นี้ได้ เงินที่ ทย.จะได้รับก็ไม่ได้หายไปไหน โดยต้องไปดูว่าไม่ว่าจะเป็นการโอนหรือจ้างบริหาร ตามระเบียบเปิดให้นำรายได้จากการให้บริการของสนามบินกระบี่ แบ่งปันกลับเข้ามาอยู่ในกองทุนหมุนเวียนของ ทย.หรือไม่ เพื่อบริหารจัดการสนามบินในส่วนที่เหลือต่อไปได้ หรือถ้าทำไม่ได้สามารถแก้ระเบียบได้หรือไม่ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องต้องไปหาคำตอบมา เพื่อเร่งหาข้อสรุปในเรื่องนี้ ว่าจุดสมดุลควรอยู่ตรงไหน”

แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ประกอบการสายการบิน เผยว่า หากรัฐบาลจะปรับวิธีบริหารสนามบินที่มีศักยภาพของทย.อย่างสนามบินกระบี่ ควรจะเปิดกว้างในลักษณะ PPP หรือถ้าจะให้ ทอท.บริหาร ก็ควรเป็นในลักษณะการจ้างบริหาร ซึ่ง ทย.ยังคงเป็นเจ้าของสนามบินและทรัพย์สิน โดยจะมีการตีมูลค่าทรัพย์สินในส่วนของ ทย. และเงินลงทุนในส่วนของ ทอท. ในการพัฒนาศักยภาพสนามบิน เพื่อแบ่งรายได้ตามสัดส่วนที่ลงทุน ซึ่งอาจจะกำหนดเป็นขั้นตํ่าไว้ (Minimum)

ทั้งผลกำไรที่เกิดขึ้นจะมีการนำส่งเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานเพื่อลดภาระงบประมาณ ซึ่งการบริการสนามบินจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ผู้ใช้บริการอาจจะต้องเสียค่าบริการในการใช้สนามบินเพิ่มขึ้น เนื่องจากการคิดค่าบริการระหว่างทอท.และ ทย.แตกต่างกัน แต่ไม่ควรใช้วิธีโอนสนามบินให้ ทอท.

เนื่องจากตอนโอนสนามบินในอดีตของ ทย.ให้ ทอท. ตอนนั้น ทอท.ยังไม่ได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่นับจากทอท.เปิดขายหุ้นออกไป 30% วันนี้ถือว่าทอท.ไม่ใช่ของรัฐ 100% เหมือนในอดีต การโอน 4 สนามบินของรัฐ โดยเฉพาะสนามบินกระบี่ที่รัฐลงทุนไปร่วม 4 พันล้านบาท ที่กำลังอยู่ระหว่างการขยายสนามบินไปให้ ทอท.ที่มีสถานะเป็นบริษัทเอกชนไปต่อยอดทำกำไร จึงไม่น่าจะเป็นที่ยอมรับได้

นายประภาส คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) กล่าวว่า กระบวนการโอนย้ายสนามบินเป็นกระบวนการบริหารงานภายในของ ทอท. ซึ่งสคร.คงไม่ได้ไปก้าวล่วง เพราะมีตัวแทนของกระทรวงการคลังนั่งเป็นกรรมการในทอท. มีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์แทนกระทรวงการคลังอยู่แล้ว ส่วนตัวมั่นใจว่าจะไม่ใช่การโอนย้ายที่สนามบินจากทย.มาอยู่ภายใต้ ทอท. น่าจะเป็นการจ่ายค่าเช่าหรือค่าใช้ประโยชน์ให้ที่ราชพัสดุ ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะกรมธนารักษ์จะได้ค่าเช่าที่ ขณะที่ สคร.จะได้จากเงินนำส่งรัฐจากรัฐวิสาหกิจ

“ขั้นตอนแผนการโอนย้ายสนามบินกระบี่และบุรีรัมย์ จากทย.มาอยู่ภายใต้ทอท.นั้นขั้นตอนยังไม่ถึงสคร. จนกว่าจะมีข้อสรุปเรื่องการโอนย้าย ซึ่งขั้นตอนต้องเสนอกฎหมายจึงจะเสนอมายังสคร. เพราะถ้าเป็นกระบวนการทำงานปกติ เราไม่ได้มีหน้าที่ยับยั้งหรือก้าวล่วงได้ เพราะไม่ใช่หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล” นายประภาส กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

https://www.thansettakij.com/content/business/414499?utm_source=category&utm_medium=internal_referral

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *