Fri. Apr 19th, 2024
เพราะการท่องเที่ยว... ไม่ใช่ ‘Zero Sum Game’

เพราะการท่องเที่ยว… ไม่ใช่ ‘Zero Sum Game’

หลังได้ไปร่วมงานการประชุมการท่องเที่ยวอาเซียน หรืออาเซียน ทัวริสซึ่ม ฟอรั่ม (เอทีเอฟ 2017) ที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผู้เขียนคิดว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ อยากมาเล่าสู่กันฟังอีกสักหน่อย

เริ่มกันที่ความเคลื่อนไหวด้านการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวของ ‘การท่องเที่ยวสิงคโปร์’ คุณเอ็ดเวิร์ด โค ผู้อำนวยการบริหารการท่องเที่ยวสิงคโปร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่าว่า นอกเหนือจากการจัดตั้ง ‘กองทุนพัฒนาการท่องเที่ยว’ ใช้งบฯ ราว 700 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 1.75 หมื่นล้านบาท) ตามแผน 5 ปี ตั้งแต่ 2559-2563 สำหรับพัฒนาการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพใน 3 ด้านหลักๆ แล้ว

ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภาคธุรกิจท่องเที่ยวทั้งระบบ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักที่ไม่อาจละเลยได้เลยรวมไปถึงการส่งเสริมการจัดอีเว้นท์ตอกย้ำบทบาทของสิงคโปร์ในฐานะผู้นำการเดินทางเชิงธุรกิจและไลฟ์สไตล์ และการลงทุนก่อสร้างและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมสำหรับโครงการภายใต้กองทุนดังกล่าวที่ได้เปิดตัวไปแล้ว คือ ‘มันได โปรเจกต์’ เป็นการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาคมกลุ่มมันได ปาร์ค โฮลดิงส์ (เอ็มพีเอช) ซึ่งต้องการรีโนเวทปรับโฉมแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและธรรมชาติแบบธีมปาร์ค 4 แห่งที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ ไนท์ ซาฟารี, ริเวอร์ซาฟารี, สวนสัตว์สิงคโปร์ และสวนนกจูร่ง ให้ย้ายมาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

ถือเป็นการเพิ่มความสะดวกในการเดินทางและเอื้อต่อการโปรโมทธีมปาร์คเชิงนิเวศให้เป็นภาพใหญ่ได้ดีขึ้น เพื่อเป้าหมายการเพิ่มยอดผู้เข้าเยี่ยมชมจากเดิมที่มีอยู่ราว 4.6 ล้านคนต่อปี โดยกำหนดเปิดให้บริการเฟสแรก คือ ปี 2563

“นอกเหนือจากการเข้าไปช่วยพัฒนาภาคธุรกิจบริษัทนำเที่ยวและโรงแรมแล้ว การท่องเที่ยวสิงคโปร์มองว่าการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ จะเป็นอีกกลไกการทำงานสำคัญในการโปรโมทดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้สิงคโปร์สร้างรายได้เติบโตมากขึ้น”

การท่องเที่ยวสิงคโปร์

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวสิงคโปร์จะเพิ่มดีกรีความร่วมมือกับสายการบินมากขึ้น เพื่อวางกลยุทธ์ขยายนักท่องเที่ยวจากตลาด ‘เมืองรอง’ มากขึ้น

โดยตลาดนักท่องเที่ยวไทยในเมืองรองที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง การท่องเที่ยวสิงคโปร์มองไปถึงภาคอีสาน ‘ขอนแก่น’ และ‘อุดรธานี’ ซึ่งจะกระตุ้นให้สายการบินเปิดเส้นทางบินตรงจาก 2 เมืองนี้สู่สิงคโปร์ให้ได้ในเร็วๆ นี้ พร้อมเจาะ ‘นครราชสีมา’ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กรุงเทพฯ สามารถเดินทางมาขึ้นเครื่องที่กรุงเทพฯ ได้สะดวก พร้อมกันนี้ยังมองไปถึงเมืองรองในภาคตะวันออก
ได้แก่ ระยอง จันทบุรี และตราด ซึ่งปัจจุบันมีเที่ยวบินให้บริการบินตรงจากสนามบินอู่ตะเภาถึงสิงคโปร์แล้ว โดยไม่ต้องเดินทางมาขึ้นเครื่องที่กรุงเทพฯ

“ปัจจุบันตลาดนักท่องเที่ยวไทยเป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อทริป หรือประมาณ 2.5 หมื่นบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยรวมของทุกตลาด ซึ่งอยู่ที่ 800 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 2 หมื่นบาท โดยภาพรวมเป้าหมายของปี 2560 การท่องเที่ยวสิงคโปร์จะเน้นเพิ่มการใช้จ่ายคุณภาพมากขึ้นด้วยการเพิ่มยอดการใช้จ่ายให้ได้ 30% ผ่านการเพิ่มวันพักเฉลี่ยของต่างชาติจาก 3 วัน เป็น 4-5 วัน” คุณเอ็ดเวิร์ดกล่าว

ด้านคุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่าขณะนี้ ททท. สำนักงานสิงคโปร์อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ ‘ทู บี คอนตินิว อิน ไทยแลนด์’ (To Be Continue in Thailand) รุกทำตลาดดึงนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวสิงคโปร์มากกว่า 15 ล้านคนต่อปี ให้เดินทางมาเที่ยวเมืองไทยต่อเนื่อง หลังเห็นศักยภาพด้านกำลังซื้อที่สูงมากๆ เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาสิงคโปร์ โครงสร้างตลาดส่วนใหญ่เป็นนักเดินทางเพื่อธุรกิจที่เดินทางมาร่วมงานประชุมสัมมนาและการจัดแสดงสินค้า (ไมซ์) และนักเดินทางกลุ่มครอบครัว

ททท.จึงมองเห็นโอกาสโดยใช้กลยุทธ์แบบต่อยอดด้วยการชักชวนให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เดินทางมาเที่ยวเมืองไทยต่อ ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย เพราะถ้าไทยสามารถดึงชาวต่างชาติที่เดินทางมาสิงคโปร์ให้มาเยือนไทยต่อได้สักประมาณ 1 ใน 3 ของยอด 15 ล้านคน ก็จะทำให้ไทยมีนักท่องเที่ยวคุณภาพเพิ่มขึ้นถึง 5 ล้านคน

ยืนยันว่ากลยุทธ์นี้ไม่ใช่การเข้าไปแย่งชิงนักท่องเที่ยวต่างชาติจากสิงคโปร์ แต่เป็นการต่อยอดด้วยการนำเสนอสินค้าท่องเที่ยวตามความต้องการ เพื่อดึงดูดให้วางแผนเดินทางมาเที่ยวไทยต่ออาศัยข้อได้เปรียบเรื่องระยะเวลาด้านการเดินทางจากสิงคโปร์มายังจุดหมายในไทย ซึ่งใช้เวลาบินไม่เกิน 2 ชั่วโมง และมีสายการบินให้บริการจำนวนมากทั้งสายการบินฟูลเซอร์วิสและสายการบินโลว์คอสต์ ไปยังจุดหมายหลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังกระจายไปถึงภูเก็ต กระบี่ อู่ตะเภาและเชียงใหม่ด้วย

สิงคโปร์

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับสายการบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างไทยกับสิงคโปร์ และโรงแรมในไทยที่สนใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อจัดทำแพ็กเกจและโปรโมชั่นน่าสนใจเสนอแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มนี้ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ททท. ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์เพื่อดึงนักท่องเที่ยวตลาดคุณภาพเดินทางแบบเชื่อมโยงมาไทยเป็นไปตามกลยุทธ์ ‘สปริงบอร์ด’

‘เพราะเรื่องของตลาดการท่องเที่ยวนั้น ไม่มีคำว่า ซีโร่ ซัม เกม (Zero Sum Game) หรือผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นศูนย์’

คุณขจรเดช อภิชาติตรากุล ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานสิงคโปร์ เล่าถึงภาพรวมพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวตลาด ‘สิงคโปร์’ ว่า เนื่องจากเป็นตลาดระยะใกล้จึงนิยมมาเที่ยวไทยในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ทำให้วันพักเฉลี่ยไม่สูงมาก จึงรุกทำตลาดเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปเป็น 4 หมื่นบาท จากปัจจุบันเฉลี่ยที่ 3.5 หมื่นบาท จากจำนวนวันพักเฉลี่ย 5 วัน พร้อมขยายจำนวนครั้งมาเมืองไทยเป็น 2.5 ครั้งต่อปี จากปีที่ผ่านมาคนสิงคโปร์มาเมืองไทยเฉลี่ย 2 ครั้งต่อปี

ด้วยการนำเสนอสินค้าท่องเที่ยวที่ตอบความต้องการด้านไลฟ์สไตล์ยอดนิยม ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอาหารริมทาง (สตรีทฟู้ด) ร้านอาหารและเครื่องดื่มบรรยากาศเก๋ๆ รวมถึงอาร์ตบ็อกซ์ และตลาดนัดรถไฟในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งใช้เวลาเดินทางไม่เกิน2 ชั่วโมง เช่น พัทยา อัมพวา รวมถึงพื้นที่ใหม่ๆ ทั้งกาญจนบุรีและหัวหิน

อีกกลุ่ม คือ ‘กลุ่มกอล์ฟ’ ถือเป็นกีฬายอดนิยมของตลาดนักท่องเที่ยวสิงคโปร์ มีจำนวนผู้เล่นสูงกว่า 3 แสนคนเลยทีเดียวนับเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มีเพียง 5.3 ล้านคน โอกาสของไทยอยู่ตรงที่สนามกอล์ฟในสิงคโปร์มีเพียง 20 แห่งเท่านั้น และคิดค่าสมาชิกแพงทำให้ผู้เล่นกอล์ฟจำนวนมากเดินทางไปเล่นที่มาเลเซียแทนแต่สนามกอล์ฟในมาเลเซียกลับยังขาดบริการเสริมสำคัญ เช่น แคดดี้ สปา และการจัดงานปาร์ตี้หลังเล่นเสร็จ

ต่างจากสนามกอล์ฟในไทยที่มีบริการครบเครื่องกว่า โดยจะชู‘พัทยา’ ให้เป็นจุดหมายหลักของการเดินทางมาเล่นกอล์ฟของชาวสิงคโปร์

“ททท. ตั้งเป้าหมายปี 2560 ดึงตลาดนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์ และชาวต่างชาติที่อาศัยในสิงคโปร์ให้เดินทางมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับ 1.07 ล้านคนของปี 2559 ส่วนรายได้วางเป้าหมายเพิ่มขึ้น 6-8% จากปีที่แล้วปิดไปที่ 3.7 หมื่นล้านบาท”

ทั้งหมดนี้ คือ ภาพรวมของการพัฒนาธุรกิจและแนวทางการทำตลาดท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มกระแสการเดินทางระหว่างไทยกับสิงคโปร์

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *