นับเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญที่หลายๆ ประเทศใน ‘อาเซียน’ มองตรงกัน นั่นคือ การเร่งผลักดัน ‘การท่องเที่ยวทางเรือสำราญ’ ให้แจ้งเกิดโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มตลาดใหม่สำหรับภาคท่องเที่ยวอาเซียนที่มีศักยภาพการเติบโตสูงมาก และยังคุ้มค่าต่อการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว
ผู้หลงใหลการล่องเรือเป็นชีวิตจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนขยายท่าเรือสำหรับจอดเรือสำราญ (ครุยส์) พร้อมกับเชื่อมเส้นทางจอดเรือหลายๆ จุดที่น่าสนใจ ในภูมิภาคนี้หลัง ‘สิงคโปร์’ ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการเป็นท่าเรือจอดรับผู้โดยสารและสิ้นสุดการเดินเรือ หรือ ‘โฮมพอร์ต’ ขึ้นเป็นผู้นำเดียวในตลาดนี้ ประกอบกับมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตศูนย์กลาง (ฮับ) ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทางเรือ จะย้ายฐานจากฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกา มายังฝั่งเอเชียแทน โดยมีท่าเทียบเรือในภูมิภาคที่ได้รับความนิยม ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ เกาะเจจู (เกาหลีใต้) ปีนัง ภูเก็ต กัวลาลัมเปอร์ คีลัง (ไต้หวัน) และ โฮจิมินห์ เป็นจิ๊กซอว์สำคัญของภาพใหญ่นี้
เนื่องจากนักท่องเที่ยวตลาดนี้ในแถบเอเชียมีแนวโน้มเติบโต สูงมาก ทั้งชาวจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และอินเดีย ประกอบกับ
ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเรือสำราญเปลี่ยนไปจากภาพจำเดิมๆ ที่ต้องเป็นเศรษฐีผู้มั่งมีเท่านั้น ถึงจะล่องเรือสำราญได้ โดยปัจจุบันค่าใช้จ่ายบนเรือสำราญถูกลงพอสมควร เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 100 เหรียญดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ขณะที่ภาพลักษณ์หรือสถานะทางสังคมที่ผู้โดยสารได้รับนั้นยังถือว่าดีมาก
หนุนให้ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้โดยสารเรือสำราญทั้งหมด 24.5 ล้านคน คาดว่าจะเติบโตเป็น 25.5 ล้านคนในปี 2560 คุณแทชเชอร์ บราวน์ ประธาน ดรีม ครุยส์ บริษัทเรือสำราญ บอกว่า เป้าหมายของบริษัทฯ คือ การพัฒนาอาเซียนให้เป็นฮับการท่องเที่ยวเรือสำราญอีกแห่งหนึ่งของโลก จึงตัดสินใจนำ เรือหรูขนาดใหญ่กว่า 1.51 แสนตัน นาม ‘เกนติ้ง ดรีม’ มาแล่น รับผู้โดยสาร ภายในมีรีสอร์ตถูกออกแบบเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวอาเซียนโดยเฉพาะ
และได้เลือก ‘สิงคโปร์’ เป็นโฮมพอร์ตตลอดปี 2561 หลังได้เริ่ม จอดไปตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม ปี 2560 โดยจะเดินทางแวะจอดมากกว่า 10 ท่าเรือสำคัญทั่วอาเซียน กระจายอยู่ในสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย และขึ้นไปถึงเวียดนาม
นอกจากนี้ ผลวิจัยหัวข้อ ‘พัฒนาการท่องเที่ยวทางเรือ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ของ เบอร์เมลโล อาจามิล แอนด์ พาร์ทเนอร์ส ยังระบุด้วยว่า เมื่อปี 2557 การท่องเที่ยวทางเรือได้สร้างงานให้กับประชากรถึง 3.4 หมื่นตำแหน่ง สามารถสร้างรายได้โดยตรงกว่า 5.7 หมื่นล้านบาท หนุนให้เกิดเม็ดเงินสะพัดต่อเนื่องถึง 1.15 แสนล้านบาท
และถ้าทุกประเทศในอาเซียน เร่งดำเนินการตามมาสเตอร์แพลน ในการพัฒนาตลาดเรือสำราญอย่างเต็มที่ คาดว่าในปี 2578 จะมีนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มนี้เข้ามาอีกกว่า 4.5 ล้านคน เลยทีเดียว คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เล่าว่า ประเทศไทยเองก็มีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างท่าเรือ ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่อง
เที่ยวทางน้ำ (Maritime Tourism) เพื่อส่งเสริม การเดินเรือฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ทั้งในรูปแบบการเป็น โฮมพอร์ต และ ‘พอร์ต ออฟ คอล’ หรือท่าเรือแวะพัก มุ่งดึงดูด เรือสำราญที่ล่องมาในน่านน้ำอาเซียน เลือกไทยเป็นหนึ่งใน จุดหมายของการเดินทาง
ก่อนหน้านี้ คุณกอบกาญจน์ได้มีโอกาสหารือกับบริษัทเดินเรือสำราญ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง Genting Hong Kong และ Carnival Corporation ซึ่งทั้งสองบริษัทต่างเห็นตรงกันเกี่ยวกับ ศักยภาพของไทยในการเป็นโฮมพอร์ตของตลาดเรือสำราญอาเซียน เนื่องจากมีปัจจัยบวกอย่างปริมาณเที่ยวบินจากจีนและอินเดียรองรับการเดินทางเชื่อมต่อจำนวนมาก
แต่จุดที่ยังขาดคือมาตรฐานบริการแก่ผู้โดยสารเรือสำราญ ที่เพียงพอ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จึงได้ทำงานร่วมกับ ‘การท่าเรือ แห่งประเทศไทย’ มุ่งพัฒนา 2 ท่าเรือในไทย ที่แรก คือ ท่าเรือพาณิชย์ ‘แหลมฉบัง’ จังหวัดชลบุรี มีข้อ ได้เปรียบเรื่องที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ใกล้แหล่งท่องเที่ยวหาดทรายชายทะเลชื่อดังของไทย ปัจจุบันมีท่าเรือ A1 รองรับเรือท่องเที่ยวโดยเฉพาะ 1 ท่า และอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการลงทุนก่อสร้างท่าเทียบเรือท่องเที่ยวแห่งที่ 2 ซึ่งอยู่ในโครงการก่อสร้างระยะ (เฟส) ที่ 3 ของท่าเรือแหลมฉบัง อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอข้อสรุป สิ่งที่การท่าเรือฯ จะเดินหน้าอย่างแน่นอน คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตัวอาคาร ผู้โดยสารประจำท่าเรือ A1 ซึ่งมีพื้นที่ราว 8,655 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารสูงสุดได้ 1,500 คน ให้มีมาตรฐานและทันสมัยมากขึ้น เพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือน
ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังให้บริการรองรับเรือสำราญ 2 ลักษณะ คือ ‘การล่องเรือในภูมิภาค’ (Regional Cruise) ใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ แวะพักท่าเรือ 7-8 แห่งภายในภูมิภาค อาทิ เส้นทางแหลมฉบัง-เกาะสมุย-สิงคโปร์-จาการ์ตา-มะนิลา-ไฮฟอง- โฮจิมินห์-สีหนุวิลล์-แหลมฉบัง จุดขายของเส้นทางล่องเรือในภูมิภาค คือ สามารถดึงดูดผู้โดยสารได้หลากหลายกลุ่ม เนื่องจากใช้ระยะเวลาการเดินทางไม่นานทำให้ราคาแพ็กเกจ ไม่สูงมาก และเริ่มได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ มากขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียที่มองหาประสบการณ์การท่องเที่ยวแตกต่างจากทั่วๆ ไป
ส่วน ‘การล่องเรือรอบโลก’ (World Cruise) ใช้เวลาเฉลี่ย 3 เดือน เริ่มจากท่าเรือใดท่าเรือหนึ่งแล้วจบที่เดิม แน่นอนว่าโปรแกรมระหว่างจะมีการแวะท่าเรือใหญ่ในเมืองหลักๆ รอบโลก โดยเรือสำราญที่ให้บริการนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ มียูโรป้า, คริสตัล เซเรนิตี้ และควีน แมรี่ 2
ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังมีอัตรารับเรือโดยสารเมื่อปี 2559 ประมาณ 55 เที่ยว มีลูกเรือรวมมากกว่า 5 หมื่นคน ขณะที่ยอดผู้โดยสารเฉลี่ยมีไม่ต่ำกว่า 2,000 คนต่อลำ รวมยอด ผู้โดยสารทั้งสิ้นกว่า 2.28 แสนคน เติบโตกว่า 30% เมื่อเทียบกับตัวเลขปี 2558
“ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ถือเป็นพื้นที่สำคัญที่ต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ วางเป้าหมายพัฒนาการท่องเที่ยวทางน้ำให้เชื่อมกับแผนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง หนุนเส้นทาง ท่องเที่ยวเชื่อมโยงจากพัทยา ชลบุรี ไปยังเมืองกัมปอตและ สีหนุวิลล์ของกัมพูชา ยาวไปถึงฟูก๊วกของเวียดนาม”
ด้าน ‘ท่าเรือกรุงเทพฯ’ หรือที่คนไทยคุ้นหูกันในนาม ‘ท่าเรือคลองเตย’ มีทำเลโดดเด่นที่สามารถเดินทางเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวกสบาย ปัจจุบันมีท่ารองรับ นักท่องเที่ยว 1 ท่า แต่ด้วยหน้ากว้างและความลึกของท่า ยังเหมาะสำหรับรองรับเรือขนาดกลางถึงเล็ก หรือ ‘ยอช์ทคลับ’ สถิติเมื่อปี 2559 พบว่ามีจำนวนเรือท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ 12 ลำ มีผู้โดยสารขาเข้า-ขาออกรวม 8,589 คน
โดยมีแผนขยายให้สามารถจอดเรือได้ 2 ลำพร้อมกัน พร้อมสร้างอาคารที่ทำการหลังใหม่ เป็นที่ตั้งหน่วยงานตรวจคน เข้าเมือง กรมศุลกากร ศูนย์สินค้าปลอดภาษีอากร ศูนย์จำหน่ายสินค้าโอท็อป และอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีแผนปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกรวมถึงการยกระดับระบบดูแลความปลอดภัยด้วย
ฟากท่าเรือฝั่งอันดามัน คุณกอบกาญจน์ บอกว่า แม้ภูเก็ตจะมีจุดจอดและท่าเรือสำราญอยู่บ้างแล้ว แต่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ มองว่าจำเป็นต้องมีท่าเรือที่มีขนาดร่องน้ำลึกรองรับเรือที่มี ผู้โดยสารเกิน 3,000 คนอยู่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างผลักดันให้พัฒนาท่าเรือสำราญบริเวณ ‘อ่าวมะขาม’ หลังบริษัท วิน อินเวสต์เมนต์ ชนะการประมูลสัมปทานไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และนี่คือภาพรวมทั้งหมดของการพัฒนาการท่องเที่ยวเรือสำราญของไทย คงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะแผนเหล่านี้ จะสามารถขับเคลื่อนได้รวดเร็วอย่างที่เราๆ ท่านๆ หวังหรือไม่