Wed. Dec 4th, 2024
สกัด OTA ฮุบท่องเที่ยว งัดกม.คุมแพลตฟอร์มข้ามชาติ

สกัด OTA ฮุบท่องเที่ยว งัดกฎหมายคุมแพลตฟอร์มข้ามชาติ

“รัฐ-เอกชน” ผนึกกำลังร่วมแก้ไขปัญหา “โอทีเอ” ข้ามชาติขายสินค้า-บริการท่องเที่ยวต่ำกว่าทุน หวั่นทุบวงจรธุรกิจท่องเที่ยวไทย ททท.ชี้ทำลายอุตฯท่องเที่ยวทั้งระบบ เตรียมหารือด่วน ก.ท่องเที่ยวฯ หามาตรการทางกฎหมายรับมือ ขณะที่ สทท.ตั้งหน่วยงานดูแลโดยตรง ย้ำปกป้องธุรกิจของประเทศไม่ใช่การกีดกันทางการค้า อยู่บนพื้นฐานความไม่เหลื่อมล้ำ วงในหวั่นเจ้าของสินค้า-บริการท่องเที่ยวตกที่นั่งลำบากซ้ำรอย “โรงแรม”

จากประเด็นปัญหาที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวของไทยร่วมแก้ไขปัญหากรณีออนไลน์แทรเวลเอเย่นต์ หรือโอทีเอ (online travel agent : OTA) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ทำการตลาดโดยใช้กลยุทธ์ “ราคาถูก” กันอย่างหนัก โดยขายสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวของไทยต่ำกว่าราคาต้นทุนที่ทางกลุ่มผู้ประกอบการและชมรมท่องเที่ยวออนไลน์ (OTC) กำหนดมาตรฐานราคาไว้ ส่งผลให้ภาพลักษณ์สินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวถูกกดให้ต่ำลง ทำให้หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าในระยะยาวอาจทำลายวงจรธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศไทย

ล่าสุดหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องได้รับทราบปัญหาและเร่งหาแนวทางเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาแล้ว อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น

หารือ การท่องเที่ยวฯใช้ กฎหมายคุม

นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการตลาดเอเชียและแปซิฟิก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ประกอบการภาคเอกชนแล้ว โดยทาง ททท.มองว่าหากปรากฏการณ์นี้เป็นจริงจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยรวมของไทยอย่างมาก โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องรักษามาตรฐานราคา

“การขายสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวในราคาที่ถูกในมุมของผู้บริโภคอาจจะชอบ เพราะได้ของถูก แต่จากที่ได้รับทราบข้อมูลมาพบว่า บรรดาโอทีเอขนาดใหญ่เหล่านี้นอกจากจะขายต่ำกว่าทุนและราคาที่กำหนดไว้แล้ว ยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ ตามมาอีก ซึ่งก็เป็นกลยุทธ์ที่ดึงให้คนทั่วไปเข้าไปในแพลตฟอร์มให้มากที่สุดและในเวลาเร็วที่สุด”

สำหรับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ทาง ททท.จะดำเนินงานใน 2 มิติ ประกอบด้วย

1. มิติทางด้านกฎหมาย โดยจะไปหารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ซึ่งมีหน่วยงานที่ดูแลด้านกฎหมายว่า ปัญหานี้จะสามารถนำกฎหมายและข้อบังคับไหนที่จะมาจัดการได้บ้าง และ

2. มิติของการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับกลุ่มผู้ประกอบการคนไทยด้วยกันเอง ซึ่งคงต้องประชุมหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน และชี้ให้เห็นถึงผลกระทบในระยะยาวต่อไป

สทท.ตั้งทีมแก้ไขปัญหาเร่งด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสัญจรสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ณ โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท อ.สิงหนคร จ.สงขลา เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอถึงประเด็นปัญหาและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ด้วยเช่นกัน

โดยที่ประชุมซึ่งมี นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาฯเป็นประธาน ได้มีมติตั้ง หน่วยกิจกรรมทางการท่องเที่ยวและการจำหน่ายสินค้า ขึ้นมาดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นนี้โดยตรง พร้อมทั้งแต่งตั้งให้ นายสุรวัช อัครวรมาศ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นหัวหน้าคณะทำงานสำหรับแก้ไขปัญหานี้

“จากนี้ไปหัวหน้าคณะทำงานก็ต้องไปตั้งคณะทำงาน และหาคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญมาเป็นประธานคณะทำงาน เพื่อทำงานประสานกับทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง และขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขปัญหานี้โดยด่วน”

แนะปกป้องธุรกิจคนไทย

ด้านนายสุรวัช อัครวรมาศ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ในฐานะหัวหน้าหน่วยกิจกรรมทางการท่องเที่ยวและการจำหน่ายสินค้า กล่าวถึงแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวว่า ในเบื้องต้นต้องประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและร่วมแก้ไขปัญหา และนำกฎหมายที่มีอยู่มาบังคับใช้อย่างจริงจัง

พร้อมทั้งชี้ให้ผู้ประกอบการภาคเอกชน โดยเฉพาะเจ้าของสถานที่ท่องเที่ยว (attractions) ตระหนักถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตว่าหากไม่ร่วมกันคุมเรื่องมาตรฐานราคา โดยนำบทเรียนกรณีของ Agoda ที่สามารถเพิ่มอำนาจต่อรองด้านส่วนลดกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมได้ในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากเริ่มต้นที่คิด 10% ปัจจุบันได้ขยับขึ้นไปสูงถึง 30-35%

“ประเด็นหลักที่ สทท.และภาครัฐต้องมาคิดร่วมกัน คือ เราจะปกป้องธุรกิจคนไทยอย่างไร และการปล่อยให้บริษัทต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจได้อย่างเสรีแบบนี้ ประเทศไทยได้ประโยชน์หรือไม่ อย่างไร” นายสุรวัชกล่าว

ชี้การค้าเสรีต้องไม่ “เหลื่อมล้ำ”

นายสุรวัชกล่าวต่อไปอีกว่า ที่สำคัญ ทุกภาคส่วนต้องเข้าใจตรงกันว่าบรรดาโอทีเอที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเหล่านี้ ประเทศไม่สามารถจัดเก็บภาษี ได้ ขณะเดียวกันยังเป็นการสนับสนุนให้เงินในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยไหลออกไปต่างประเทศอีกด้วย

“สถานการณ์ของธุรกิจตอนนี้ผมมองว่า หน่วยงานภาครัฐต้องมีกฎควบคุมที่ชัดเจน อย่ามองว่าประเทศเราทำการค้าแบบเสรี การไปควบคุมเป็นการกีดกันทางการค้า เพราะระบบการค้าเสรีนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความไม่เหลื่อมล้ำ แต่ระบบการทำธุรกิจในวันนี้มันอยู่บนพื้นฐานความเหลื่อมล้ำ บริษัทคนไทยต้องจ่ายภาษี ขณะที่โอทีเอเหล่านี้ไม่ต้องจ่ายภาษี หรือหากจะปล่อยให้เสรีก็ต้องคุมในช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่านเพื่อให้ธุรกิจคนไทยแข็งแรงก่อน ไม่ใช่ปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจแบบนี้” นายสุรวัชกล่าว

กรมการท่องเที่ยวประชุมด่วน

ผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายหนึ่งกล่าวว่า หลังจากที่ภาคเอกชนเคลื่อนไหวอย่างหนัก ล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลทางด้านกฎหมายได้เรียกส่วนงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่งประชุมหารือร่วมกัน อาทิ ตัวแทนของสำนักงานตำรวจท่องเที่ยว ตัวแทนจากสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า), ตัวแทนชมรมท่องเที่ยวออนไลน์ (OTC) ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบปัญหาและหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป

หวั่นซ้ำรอยธุรกิจโรงแรม

แหล่งข่าวในภาคธุรกิจท่องเที่ยวอีกรายหนึ่งกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้หากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่คุมราคาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ สินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวของไทยจะถูกควบคุมโดยแพลตฟอร์มออนไลน์ของโอทีเอ เช่นเดียวกับที่ธุรกิจโรงแรมถูกบรรดาโอทีเอด้านการจองโรงแรมที่พักอย่าง Agoda, Booking,com หรือ Ctrip ดึงไปอยู่ภายใต้เครือข่ายเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ โอทีเอที่จำหน่ายสินค้าและบริการท่องเที่ยวออนไลน์ที่ใช้กลยุทธ์ในลักษณะนี้ และกำลังสร้างความวิตกกังวลให้กับปัญหาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยปัจจุบันมีหลายราย อาทิ Klook, Traveloka, Be My Guest, Get your Guide, Global Tix, HS Travel เป็นต้น

“กลยุทธ์ที่บรรดาโอทีเอส่วนใหญ่ใช้ คือ เปิดตลาดด้วยการซื้อสินค้าผ่านบริษัทท่องเที่ยวของไทยแล้วนำไปขายตัดราคาคนอื่น หรือขายในราคาที่ต่ำกว่าราคามาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยใช้จุดขายด้านฐานการเงินที่แข็งแกร่ง จากนั้นก็นำวอลุ่มหรือยอดขายรวมที่มีขนาดใหญ่มาเป็นข้อต่อรองด้านราคากับเจ้าของสินค้าหรือบริการ เมื่อได้ราคาและเงื่อนไขที่ดีก็จะเพิ่มอำนาจในการต่อรองมากขึ้น เพื่อให้ได้ส่วนต่างราคาที่มากขึ้น ให้สามารถขายได้ในราคาที่ต่ำ และดึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้าทั่วไปให้เข้าสู่แพลตฟอร์มของตัวเองได้ในเวลาอันรวดเร็ว” แหล่งข่าวกล่าว


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.prachachat.net
www.prachachat.net/tourism/news-280221

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *