Fri. Mar 29th, 2024
‘ภาษีที่ดิน’ กระเทือนรายได้ธุรกิจโรงแรม

‘ภาษีที่ดิน’ กระเทือนรายได้ธุรกิจโรงแรม

เป็นข่าวดังปลุกกระแสสังคม โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางขึ้นไป ให้ลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 

เพราะนโยบายดังกล่าวย่อมกระทบต่อเงินในกระเป๋าของประชาชนที่ต้องเตรียมควักจ่ายเพิ่ม แม้จะยังอยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการ แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวผ่านทางสื่อมวลชนแล้วว่ายังไง นโยบายนี้ต้องเดินหน้าต่อ และเป็นผลในทางปฏิบัติได้ประมาณ 2 ปีนับจากนี้อย่างแน่นอน

สำหรับอัตราเพดานในการจัดเก็บภาษีตามร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น กระทรวงการคลังกำหนดในเบื้องต้นและจัดเก็บในอัตรา ดังนี้

  1. ที่ดิน เพื่อการเกษตรกรรม จะจัดเก็บไม่เกิน 0.25%
  2. ที่ดิน เพื่อที่อยู่อาศัย จะจัดเก็บไม่เกิน 0.5% ของราคาประเมิน
  3. ที่ดินอื่นๆ เช่น ที่ดินเชิงพาณิชย์ จะจัดเก็บไม่เกิน 2% ของราคาประเมิน สำหรับที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า จะจัดเก็บไม่เกิน 0.5% ของ ราคาประเมิน และจะเพิ่มอีก 1 เท่า ในทุกๆ 3 ปี แต่ไม่เกิน 2%

ไม่เฉพาะภาคครัวเรือนที่ต่างพากันแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายดังกล่าว แต่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจโรงแรม ต่างรีบออกมาส่งเสียงสะท้อนขอให้รัฐบาลเบรกนโยบายนี้ไว้ก่อน เพราะด้วยสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยไม่สู้ดี ยังไม่เห็นความชัดเจนที่ภาคท่องเที่ยวจะเชิดหัวขึ้นได้ การจัดเก็บภาษีก็เท่ากับเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจฝืดเคืองให้ยิ่งถดถอย ย่ำแย่ หนักขึ้นไปอีก

แต่หากรัฐยังยืนกรานเดินหน้านโยบายนี้ต่อไป เรื่องนี้คุณสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร นายกสมาคมโรงแรมไทย แสดงความคิดเห็นไว้น่าสนใจว่า การเก็บภาษีพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่อัตราร้อยละ 0.5 – 2 ของมูลค่าประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากภาครัฐกำหนดอัตราเก็บภาษีไว้ที่ร้อยละ 2 จะทำให้โรงแรมมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อผลประกอบการโรงแรม โดยเฉพาะโรงแรมในทำเลที่ราคาประเมินที่ดินสูง เช่น สีลม สาทร และพระราม 1

รวมไปถึงโรงแรมตามสถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ และมีโรงแรมที่พัก ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างเชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต เป็นต้นทุนการแข่งขันด้านราคาห้องพักกับโรงแรมที่จดทะเบียนและจ่ายภาษีตามกฎหมายอยู่แล้ว จะยิ่งทำให้กลุ่มโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะด้วยราคาห้องพักที่แข่งขันกันได้ไม่สูง กลับต้องมาเพิ่มภาระเรื่องการเสียภาษีที่ยิ่งทำให้รายได้ของโรงแรมกลุ่มนี้หายไปอีกมาก และส่งผลกระทบต่อผลประกอบการเพิ่มขึ้นไปอีก

“อัตราการเก็บภาษีใหม่ จะมีการคำนวณจากราคาประเมินที่ดิน แทนที่จะประเมินจากรายได้หรือกำไรของโรงแรม ทางสมาคมโรงแรมฯ จึงอยากให้กระทรวงการคลังพิจารณาถึงวัตถุประสงค์การปรับโครงสร้างภาษีใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม หากยึดตามโครงสร้างภาษีใหม่ที่เก็บสูงสุดร้อยละ 2 จากราคาประเมินที่ดิน ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อโรงแรมกลางเมืองที่มีที่ดินราคาสูง เพราะต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น”

ขณะที่คุณสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมโรงแรมไทย แสดงความเห็นไม่ต่างกันว่า หากรัฐกำหนดอัตราเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่ 2% จะทำให้ค่าใช้จ่ายภาษีธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากเดิมเก็บภาษีโรงเรือน 12.5% ของค่าเช่าห้องรวมรายปี เช่น บริษัทๆ หนึ่งเช่าตึกแถวราคา 5,000 บาทต่อเดือน ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่จะต้องจ่ายปีนั้นประมาณ 7,500 บาท โดยนำค่ำเช่าทั้งปีคูณอัตราภาษี 12.5%

“ที่ผ่านมาการเก็บภาษีโรงเรือนเป็นเรื่องของท้องถิ่น เอาความรู้สึกวัด ถ้าสนิทก็เก็บน้อยหน่อย ถ้าไม่สนิทก็เก็บมากหน่อยอันนี้ก็ยอมรับว่าไม่เป็นธรรมกับหลายๆ ฝ่าย แต่สำหรับอัตราภาษีใหม่ เชื่อว่าจะกระทบต่อโรงแรมในทำเลที่ดินที่มีราคาสูงโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน จะมีภาระการใช้จ่ายเพิ่มแม้จะไม่มาก แต่หากเกิดขึ้นในภาวะที่การท่องเที่ยวไม่ดีก็น่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่โรงแรมต้องจ่ายเพิ่มขึ้น”

ด้านคุณละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ เห็นว่าหากรัฐบาลเดินหน้าจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจริง เชื่อว่าจะกระทบต่อต้นทุนทางธุรกิจโรงแรมอย่างแน่นอน ส่งผลให้กำไรลดน้อยลง จากปัจจุบันกำไรน้อยอยู่แล้วเพราะต้องแบกรับหลายด้าน ทั้งต้นทุนค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ ราคาพลังงานที่ใช้ในโรงแรม ต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ

“ต้นทุนหลายๆ รายการไม่สามารถควบคุมได้ ขณะที่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของเชียงใหม่และภาคเหนือโดยรวมจะมีระยะเวลาแค่ 5 – 6 เดือนต่อปี เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจโรงแรมต้องบริหารจัดการต้นทุนเพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้มาโดยตลอด และถ้าเปรียบเทียบต้นทุนของธุรกิจโรงแรมระหว่างกรุงเทพฯ ภูเก็ตเมื่อเทียบกับเชียงใหม่เท่าๆ กัน แต่ราคาห้องพักที่สามารถขายของเชียงใหม่แทบจะต่ำ ยิ่งถ้าอนาคตสถานการณ์ท่องเที่ยวไม่ฟื้นกลับมาเต็มที่ และทางโรงแรมไม่สามารถปรับขึ้นราคาห้องพักได้ จะยิ่งส่งผลต่อต้นทุนอย่างแน่นอน เพราะอย่าลืมว่าแนวทางการแก้ปัญหาโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายทั่วเมืองไทยยังไม่ได้เริ่มดำเนินกำร ดังนั้น กลุ่มโรงแรมเหล่านี้ยิ่งสามารถตัดราคาห้องพักให้ต่ำกว่า ขณะที่การเสียภาษีก็ถูกกว่า ยิ่งทำให้โรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องยิ่งลำบาก ซึ่งอยากให้รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังด้วย”

ส่วนคุณสรรเพชร ศุภบวรเสถียร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก กล่าวว่า หากรัฐบาลเดินหน้าจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เชื่อว่ากระทบต่อต้นทุนของธุรกิจโรงแรมที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะพื้นที่ใจกลางเมือง เนื่องจากมีการประเมินที่ดินทุกปี และราคาประเมินที่ดินเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่ทางโรงแรมคงไม่สามารถแก้ปัญหาทางออกด้วยการขึ้นราคาห้องพักได้

คุณกฤษฎา ตันสกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่ามาตรการภาษีของรัฐบาลย่อมทำให้ต้นทุนธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้นแต่จะมากหรือน้อยต้องอยู่ที่หลักเกณฑ์ และขนาดของโรงแรมในแต่ละพื้นที่ โรงแรมในพื้นที่ที่มีการประเมินที่ดินราคาสูง แต่เป็นโรงแรมขนาดเล็กอาจได้รับผลกระทบมากกว่า เรื่องนี้ทางธุรกิจโรงแรมต่างกังวลมากพอสมควร

จากนานาทัศนะของผู้บริหารโรงแรมข้างต้นแล้ว ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้าจะมากน้อยเพียงใด เป็นสิ่งที่ต้องจับตาพร้อมต้องลุ้นต่อว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยจะเติบโตมากสักแค่ไหน เพื่อช่วยประคองธุรกิจโรงแรมให้มีผลประกอบการที่ดีบริหารจัดการต้นทุน เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ รวมไปถึงการแก้ปัญหาโรงแรมเถื่อนหรือโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจะเห็นผลรวดเร็วแค่ไหน เพราะยิ่งเห็นผลเร็ว ก็จะถือเป็นทำงออกสำหรับปัญหาเรื่องภาษีที่กำลังจะเข้ามาซ้ำเติมภาคธุรกิจโรงแรม ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลไทยมุ่งให้ความสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยว เพื่อหวังสร้างรายได้เข้าประเทศชาติมากขึ้น

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *