Thu. Apr 25th, 2024
ส่องกล้องท่องเที่ยว ‘ไทย-ญี่ปุ่น’ เฟ้นโปรดักต์ใหม่ กระหน่ำขายเมืองรอง

ส่องกล้องท่องเที่ยว ‘ไทย-ญี่ปุ่น’ เฟ้นโปรดักต์ใหม่ กระหน่ำขายเมืองรอง

‘ญี่ปุ่น’ ถือเป็นนักท่องเที่ยวตลาดดั้งเดิมของภาคท่องเที่ยวไทย หลาย ๆ คนบอกว่ามาเที่ยวเมืองไทยบ่อยครั้งมาก และเริ่มมองหาแหล่งท่องเที่ยวและสินค้าบริการแปลก ๆ ใหม่ ทำให้โจทย์ใหญ่การทำตลาดของทุกหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2562 จำต้องมุ่งขาย ‘ของใหม่’ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ก่อนจะเปลี่ยนใจไปหาของใหม่กว่าแทน

เมื่อย้อนดูสถิติปี 2560 พบว่า นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาไทยครองอันดับ 5 ด้วยจำนวน 1.54 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน รองจากจีน ซึ่งปิดไปที่ตัวเลข 9.8 ล้านคน, มาเลเซีย 3.35 ล้านคน, เกาหลีใต้ 1.7 ล้านคน และ สปป.ลาว 1.6 ล้านคน

ขณะที่ในแง่ของรายได้ ตลาดญี่ปุ่นอยู่อันดับ 7 สร้างรายได้ 6.75 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน รองจากจีน รัสเซีย มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้ และเมื่อดูเป้าหมายของปี 2562 ทั้งในเชิงจำนวนและรายได้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าจะมียอดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาไทยเติบโตไม่น้อยกว่า 5% และมีรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 8%

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนเที่ยวบินและที่นั่งของแต่ละเดือนในตลาดเส้นทางบินระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันมีสายการบินให้บริการเที่ยวบินประจำรวมกันถึง 6 สายการบิน ไม่ว่าจะเป็นออลนิปปอนแอร์เวย์ส เจแปนแอร์ไลน์ส พีช การบินไทย ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ และนกสกู๊ต มีเที่ยวบินรวมกันต่อเดือนมากถึง 820 เที่ยวบิน และมีที่นั่งรองรับผู้โดยสารกว่า 2.8 แสนที่นั่งต่อเดือน

หลังจากปลายปี 2560 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ประกาศปลดธงแดงจากหน้าชื่อประเทศไทยให้ออกจากรายชื่อประเทศที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน ส่งผลให้สายการบินสัญชาติไทยสามารถกลับมาเปิดเส้นทาง เพิ่มเที่ยวบิน และเปลี่ยนขนาดเครื่องบินได้อีกครั้ง โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ที่มีแผนรุกทำตลาดเส้นทางบินระยะกลางไปยังแถบจุดหมายในแถบเอเชียตะวันออกอยู่แล้วกลับมากระชุ่มกระชวยอีกครั้ง

และเมื่อโฟกัสในช่วงครึ่งหลังปี 2561 ก็จะพบว่า สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ เตรียมเปิดให้บริการเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพฯ-นาโกย่า ซึ่งเป็นประตูสู่ภาคกลางของญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป หลังเปิดให้บริการเส้นทางไปญี่ปุ่นแล้ว 3 เส้นทางด้วยกัน จากกรุงเทพฯ สู่โตเกียว (นาริตะ) 3 เที่ยวบินต่อวัน, โอซากา 2 เที่ยวบินต่อวัน และซัปโปโร 1 เที่ยวบินต่อวัน เรียกได้ว่าครอบคลุมทุกภูมิภาคของญี่ปุ่นมากขึ้นเหมือนสายการบินระดับพรีเมี่ยม เช่น การบินไทย

ขณะที่ สายการบินโลว์คอสต์อีกเจ้าอย่าง ไทยไลอ้อนแอร์ ซึ่งตั้งท่าจะเปิดเส้นทางบินไปญี่ปุ่นนานแล้ว แต่ดันเจอ ‘พิษธงแดง’ เสียก่อน ก็เคาะฤกษ์คร่าว ๆ ไว้แล้วว่าจะเปิดเส้นทางแรกสู่ญี่ปุ่น กรุงเทพฯ-โตเกียว (นาริตะ) ราวเดือนพฤศจิกายนนี้ ตามแผนขยายสัดส่วนรายได้จากเส้นทางบินระหว่างประเทศมากขึ้น ส่วนเส้นทางต่อไป คือ กรุงเทพฯ-นาโกย่า วางเป้าหมายเปิดให้ได้ภายในต้นปี 2562 ก่อนจะทยอยเปิดอีก 2 เส้นทางยอดนิยม อย่างกรุงเทพฯ-ฟุกุโอกะ และกรุงเทพฯ-โอซาก้า ตามลำดับ

การเปิดเส้นทางบินใหม่จากไทยไปญี่ปุ่นของสายการบินโลว์คอสต์เหล่านี้ ช่วยหนุนให้ปริมาณที่นั่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจโรงแรมในไทยมีโอกาสได้ลูกค้าชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและพักผ่อนในไทยมากขึ้น

วัดปากน้ำภาษีเจริญ

คราวนี้มาดูกันบ้างว่าธุรกิจโรงแรมต้องเตรียมตัวทำตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นอย่างไรบ้าง

เมื่อดูความต้องการด้านสินค้าท่องเที่ยวของชาวญี่ปุ่นแล้ว พบว่าคอนเซ็ปต์ในภาพรวมไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก เพราะชาวญี่ปุ่นยังนิยมท่องเที่ยวสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์ และอาร์ตแกเลอรี่ และถ้าหากโรงแรมหรือรีสอร์ตไหนมีการจัดกิจกรรมน่าสนใจ เช่น เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เวิร์กช็อป เพื่อสัมผัสประสบการณ์และเข้าถึงบรรยากาศของ ‘ความเป็นท้องถิ่น’ ด้วยแล้ว ก็จะยิ่งได้ใจชาวญี่ปุ่นไปเต็ม ๆ

ส่วนจุดที่เปลี่ยนไป เป็นเรื่องของพฤติกรรมการจองสินค้าและบริการ โดยนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นกลุ่มทั่วไปหันไปเลือกใช้บริการสายการบินโลว์คอสต์ เพื่อประหยัดงบฯ ค่าเดินทาง หลังจากคุ้นเคยกับบริการรูปแบบนี้มากขึ้น แต่จะทุ่มกับงบฯ ค่าที่พักเป็นพิเศษ ทำให้โรงแรมหรือรีสอร์ตระดับ 4-5 ดาวยังคงเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เฉกเช่นเดียวกับกระแสการจองห้องพักผ่านแพลตฟอร์มแอร์บีแอนด์บี (Airbnb) ที่มีการขยายตัวดี สอดรับกับการเติบโตของเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ด้านแนวโน้มของนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุหันมาจองตั๋วโดยสารชั้นธุรกิจและเฟิสต์คลาสมากขึ้น

อีกเทรนด์ที่น่าจับตามองอย่างยิ่งก็คือ พฤติกรรมท่องเที่ยวของชาวญี่ปุ่นชอบเดินทาง เพื่อค้นหาประสบการณ์ท่องเที่ยวตัวคนเดียว หรือเป็น Solo Traveller มากขึ้น จากความชอบและพฤติกรรมการท่องเที่ยวทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ ททท. เน้นทำตลาดเพื่อเพิ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มผู้หญิง กลุ่มเดินทางเป็นครั้งแรก และกลุ่มที่รักการถ่ายรูป โดยจุดถ่ายภาพที่กำลังได้รับความนิยมจากชาวญี่ปุ่นอย่างมาก คือ วัดปากน้ำภาษีเจริญ

ทั้งนี้ ยังคงมุ่งเจาะฐานนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางซ้ำอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเสนอขายสินค้าและบริการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ดึงดูดให้ชาวญี่ปุ่นที่เคยมาเที่ยวไทยแล้ว เลือกเดินทางไป ‘เมืองรอง’ มากยิ่งขึ้นในปี 2562

ส่วนเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 ที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบทำให้นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นขาออกชะลอการเดินทาง คือ การเฉลิมฉลองในวาระขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิญี่ปุ่นองค์ใหม่ ซึ่งจะมีขึ้นในช่วง โกลเด้นวีค ราวเดือนพฤษภาคม 2562

ด้านมิติการบริโภคภายในประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมปรับอัตราเก็บภาษีบริโภคสูงขึ้นในเดือนตุลาคมปีหน้าเช่นกัน อาจกระทบในเชิงการใช้จ่ายและความถี่การเดินทางไปต่างประเทศบ้าง

ขณะที่มีการประกาศจัดเก็บภาษีผู้โดยสารขาออกจากญี่ปุ่น จากนักท่องเที่ยวทุกคนทุกชาติในอัตรา 1,000 เยนต่อครั้ง ช่วงเดือนมกราคมปีหน้า มองว่าไม่น่าส่งผลกระทบมาก เพราะเป็นอัตราที่ไม่แพงจนเกินไป และนักท่องเที่ยวยอมรับได้

ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020

ส่วนในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 สถานการณ์ตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นขาออกจะเป็นอย่างไร คงต้องรอผลวิจัยตลาดอีกครั้งว่าชาวญี่ปุ่นจะเลือกชะลอการเดินทางไปต่างประเทศหรือไม่ แล้วไทยจะเป็นหนึ่งในจุดหมายที่ได้รับผลกระทบหรือไม่

แต่ที่แน่ ๆ คือ ญี่ปุ่นเขาหมายมั่นปั้นมือมาก ว่า ‘โอลิมปิก 2020’ จะเป็นเมกะอีเวนต์ที่ช่วยขับเคลื่อนรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศ โดยทางการญี่ปุ่นวางเป้าหมายว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในญี่ปุ่นมากถึง 40 ล้านคน และจะไม่หยุดสถิติไว้เพียงแค่นี้ แต่จะทะยานเพิ่มเป็น 60 ล้านคนในปี 2030 เลยทีเดียว

 

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *