Tue. Apr 16th, 2024
แทรเวลบับเบิล

ทัวร์สิงคโปร์-ฮ่องกงคึกคัก รับกระแส “แทรเวลบับเบิล”

โครงการ “แทรเวลบับเบิล” (travel bubble) หรือการเดินทางระหว่าง 2 ประเทศโดยไม่ต้องกักตัว ที่เป็นความหวังของรัฐบาลหลายประเทศ เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งซบเซาไปอย่างมาก ตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาดทั่วโลก

แชนเนล นิวส์ เอเชีย รายงานว่า ขณะนี้โครงการแทรเวลบับเบิลเริ่มขึ้นแล้ว โดยเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ระหว่าง “ไต้หวัน” กับ “สาธารณรัฐปาเลา” หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก และ “ออสเตรเลีย” กับ “นิวซีแลนด์” ก็ได้เริ่มโครงการเมื่อ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ “ฮ่องกง” กับ “สิงคโปร์” ก็กำลังจะเริ่มโครงการดังกล่าววันที่ 26 พ.ค.นี้

โดยหลังจาก “สิงคโปร์ และฮ่องกง” ประกาศเริ่มโครงการแทรเวลบับเบิล ก็พบว่านักเดินทางแห่จองตั๋วเครื่องบิน จนทำให้เที่ยวบินของทั้ง “คาเธ่ย์แปซิฟิค” และ “สิงคโปร์แอร์ไลน์ส” ของวันที่ 26 พ.ค.-4 มิ.ย.เต็มหมดแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะยังจำกัดผู้โดยสารเพียง 200 คนต่อวัน

ด้านบริษัททัวร์ของฮ่องกง ก็กำลังเตรียมแพ็กเกจท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 อย่างบริษัททัวร์ “ไดนาสตี้แทรเล” ระบุว่า ต้องวางแผนทัวร์ใหม่ เนื่องจากบางสถานที่ไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวเหมือนก่อนยุคโควิดระบาด อย่างดิสนีย์แลนด์ ที่จำกัดความจุคนเข้าได้เพียง 75% และปิดบริการ 2 วันต่ออาทิตย์ เป็นต้น

ส่วนบริษัททัวร์ “ชัม บราเทอร์ส แทรเวล” กล่าวว่า บริษัทกำลังเตรียมแพ็กเกจทัวร์ที่จะมุ่งไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง ที่ขึ้นชื่อของฮ่องกง ขณะที่บริษัท “นัมโฮ แทรเวล” ระบุว่า ตอนนี้จำหน่ายแพ็กเกจทัวร์ เฉพาะบริการจองห้องพักโรงแรมเท่านั้น เนื่องจากมีผู้ที่ต้องการเดินทางสูงมาก ทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินพุ่งขึ้นมาก จึงไม่สามารถขายแพ็กเกจที่รวมค่าเครื่องบินด้วยได้

สำหรับโครงการแทรเวลบับเบิลของ “ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์” ถือว่ามีความสำคัญต่อการฟื้นฟูธุรกิจในภาคท่องเที่ยวของออสเตรเลียอย่างมาก เมื่อปี 2019 ชาวออสเตรเลียคิดเป็น 40% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมานิวซีแลนด์ นำรายได้เข้าสู่ประเทศมากถึง 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนชาวนิวซีแลนด์เดินทางไปออสเตรเลียมากถึง 1.3 ล้านคน และนำรายได้เข้าประเทศมากถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โครงการนี้ยังเป็นโอกาส “แควนตัส แอร์เวย์ส” สายการบินแห่งชาติของออสเตรเลีย ซึ่งช่วงครึ่งปีหลังของปี 2020 รายได้ลดลงถึง 75% สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้บางส่วน ซึ่งโครงการนี้ทำให้แควนตัส แอร์เวย์ส กลับมาจ้างพนักงานถึง 630 คน และ “แอร์ นิวซีแลนด์” สายการบินแห่งชาตินิวซีแลนด์กลับมาจ้างพนักงาน 300 คน เพื่อรองรับเที่ยวบินหลายร้อยไฟลต์ต่อสัปดาห์จากโครงการนี้

“อลัน จอยส์” ซีอีโอ “แควนตัส แอร์เวย์ส” เสนอให้มีการขยาย “บับเบิล”กับประเทศอื่นเพิ่ม เพราะยังคงมีหลายประเทศในภูมิภาคนอกจากออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้แล้ว อย่างสิงคโปร์ และไต้หวัน รวมถึงหมู่เกาะแปซิฟิก อย่างเกาะฟิจิ เพราะเป็นจุดท่องเที่ยว ซึ่งมีความต้องการสูงมาก

อย่างไรก็ตาม โครงการแทรเวลบับเบิลทุกเส้นทางยังมีปัญหา เช่น กรณีไต้หวัน-ปาเลา ต้องยกเลิกเที่ยวบินบางไฟลต์ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวไม่ถึง 10 คน เนื่องจากโครงการนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และรัฐบาลไต้หวันมีมาตรการที่เข้มงวดเกิน และโควิด-19 ที่ยังคงระบาดอยู่ทั่วโลก ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง อย่างแทรเวลบับเบิลของสิงคโปร์-ฮ่องกง ซึ่งเดิมมีแผนเริ่มเมื่อ พ.ย.ปีที่แล้ว ก็ถูกเลื่อนยาว เนื่องจากมีการระบาดรอบใหม่ที่ฮ่องกง

และหลังแทรเวลบับเบิล เส้นทางออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เพียง 5 วัน เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลนิวซีแลนด์ก็ระงับโครงการเส้นทางไฟลต์ที่เดินทางไปยังเมืองเพิร์ท และพีล แถบตะวันตกของออสเตรเลีย หลังพบนักเดินทางติดเชื้อโควิด-19 และกลับมาเปิดโครงการอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา

“แทรเวลบับเบิล” ยังคงมีความเสี่ยงที่จะถูกระงับได้ทุกเมื่อ เนื่องจากบางประเทศอย่างออสเตรเลีย ที่โครงการฉีดวัคซีนล่าช้า ไม่ได้บังคับการฉีดวัคซีนก่อนเดินทาง แต่แทรเวลบับเบิลก็เป็นทางเลือกเดียว ที่จะสามารถฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/world-news/news-659368

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *