กรม สบส.เปิดแผนพลิกฟื้นท่องเที่ยวเปิดประเทศ120 วัน ชูโมเดลการ ‘ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ’แบบ BCG ในระเบียงริเวียร่า พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเลียบชายฝั่ง ด้านนายกสมาคมฯ ระบุรูปแบบนักท่องเที่ยวเปลี่ยนโฉมหลงใหลในสุขภาพ รับผิดชอบต่อสังคม
จากงาน “Thailand Nation Charter City Talks ครั้งที่ 10 กลไกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมสุขภาพสนับสนุนการเปิดประเทศ 120 วัน และการลงนามข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมและพัฒนา Wellness Hub ของประเทศไทย” เมื่อเร็วๆ นี้
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กล่าวว่า แนวทางและมาตรการในการเปิดประเทศภายใน 120 วัน ตามนโยบายของรัฐบาลขณะนี้ได้มีการดำเนินการทั้งทางบก/น้ำ/อากาศ
โดยนักเดินทาง 1 ราย จะมีผู้ติดตามไม่เกิน 3 ราย และเดินทางมาจากประเทศเสี่ยงต่ำและปานกลาย ต้องได้รับวัคซีนตามที่กำหนดของประเทศไทยครบ 2 เข็ม (ตามประเภทของวัคซีน)อย่างน้อย 14 วัน และมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนตามกำหนด
ชู’ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ’ พลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ
การดำเนินการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบ BCG ในระเบียงริเวียร่า จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ และสามารถพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเลียบชายฝั่ง และจะสามารถเชื่อมโยงกับ ECC ภาคตะวันออกได้ เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหรือธุรกิจในระดับ High-End
มี Package พิเศษ ปลอดโควิด-19 มีทั้ง Wellness นวด/สปา รวมถึงศัลยกรรม ส่งเสริมบริการด้านทันตกรรมและต้องส่งเสริมสมุนไพร อาหารสุขภาพ และต้องมีมาตรการHotel Isolation ในโรงแรมที่ผ่านมาตรฐาน SHA/Well Hotel โดยทุกภาคส่วนต้องบูรณาการร่วมกัน
นายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมการส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่าโจทย์สำคัญที่ประเทศต้องมองนอกจากภาคท่องเที่ยวจะฟื้นตัวแล้ว ต้องใช้เวลานี้ทบทวนปรับโครงสร้างการท่องเที่ยวของไทยด้วย เพราะขณะนี้การท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะได้รับความนิยมมากขึ้น และนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นนักท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม จะส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างไรให้ดูแลและรักษาไว้ซึ่งมรดกทางธรรมชาติร่วมด้วย
เน้น ‘นักท่องเที่ยว’ 3 กลุ่มท่องเที่ยวแบบใหม่
“โลกใหม่ new normal ต้องมามองว่าผู้คนในโลกจะเน้นไปที่สุขภาพและสุขอนามัยเพิ่มขึ้น การระบาดโควิดกำลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเดินทางให้อยู่ในระยะใกล้มากขึ้น และปรับไปสู่การท่องเที่ยวจากเดิมเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เป็นกรุ๊ปทัวร์ กลายเป็นการท่องเที่ยวแบบพิเศษเฉพาะตัว ด้วยการเร่งนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบนิเวศของการท่องเที่ยว”นายกรด กล่าว
ดังนั้นต้องหาวิธีการให้เกิดการขยายกลุ่ม/ความถี่ของนักท่องเที่ยว กระจายรายได้ของการท่องเที่ยวทั้ง 3 กลุ่ม คือ 1.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 2.การท่องเที่ยวที่ได้สัมผัสวิถีชีวิตคนท้องถิ่น และ 3.การท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับการทำงาน
นอกจากนั้น ต้องมีการลงทุนด้านดิจิทัลเพื่อสนับสนุนกระแสด้านความปลอดภัย Track and Trace และ Contactiess แพลตฟอร์ม แอปพลิเคชั่น ซึ่งจะเป็นหัวใจของการท่องเที่ยว ให้แพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวเป็น one stop service
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/956060