Fri. Mar 29th, 2024

‘โควิด’ ทุบโรงแรมภูเก็ต ดีวาน่า โฮเทลฯ ทบทวนแผนลงทุนใหม่

เกิดอุบัติเหตุทางธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียง นับตั้งแต่นโยบายปราบทัวร์ศูนย์เหรียญเมื่อปี 2559-2560 ต่อด้วยเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มเมื่อกลางปี 2561 ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้า และค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องในปี 2562 กระทั่งปี 2563 นี้ธุรกิจก็ยังต้องเผชิญกับมรสุมใหญ่อย่าง “โควิด-19” อีกครั้ง

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “ดีวาน่า โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท” ผู้บริหารโรงแรมและรีสอร์ตในจังหวัดภูเก็ต กระบี่ รวม 8 แห่ง ถึงภาพรวมของธุรกิจโรงแรมโดยรวมในโซนภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงทิศทางของธุรกิจโรงแรมสำหรับปีนี้ไว้ดังนี้

ยกเลิกห้องพักยาวถึง เม.ย.

“ศึกษิต” บอกว่า ปกติในช่วงไตรมาส 1 จะเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว เป็นช่วงที่ธุรกิจทำรายได้มากที่สุดทั้งในแง่ของอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (occupancy rate) และราคาห้องพัก (room rate) จะกลับมาดีอีกครั้งในช่วงปลาย ๆ ไตรมาส 4 หรือประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม สำหรับปีนี้ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรมภูเก็ตได้รับผลกระทบหนักมาตั้งแต่ 24-25 มกราคมที่ผ่านมาตอนนี้นักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางไปเป็นจำนวนมาก ไปถึงสิ้นเดือนมีนาคมและเมษายนบางส่วนแล้ว

โดยเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปกติอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมภูเก็ตจะอยู่ที่ราว 85-90% แต่กุมภาพันธ์ปีนี้ลดลงเหลือประมาณ 70% ถูกยกเลิกการจองห้องพักไปราว 20%

“บีชโฮเทล” รอด !

“ศึกษิต” บอกว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรอบนี้ส่วนใหญ่เป็นโรงแรม ที่พัก ที่รองรับกลุ่มลูกค้าจีน และกลุ่มโรงแรมขนาดเล็กที่อยู่ในเมืองเป็นหลักส่วนโรงแรมที่อยู่ริมหาด หรือ beach hotel ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนลูกค้าค่อนข้างผสมผสานระหว่างจีน เอเชีย ยุโรป กลุ่มนี้ยอดบุ๊กกิ้งลดลงไปประมาณ 15-20% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากตลาดจีนที่หายไปทั้งหมด

และที่เห็นชัดเจนสำหรับโรงแรมกลุ่มที่เป็นบีชโฮเทล คือ ขณะที่ลูกค้าจีนหายเกือบทั้งหมดนั้น ยังมีลูกค้าจากตลาดอื่น ๆ อาทิ ยุโรป สแกนดิเนเวีย, ออสเตรเลีย, รัสเซีย, อเมริกา, โอเชียเนีย ฯลฯ เข้ามาเติม ซึ่งแม้จะไม่เต็มที่นักเนื่องจากการเดินทางบางส่วนได้รับผลกระทบจากการลดเที่ยวบินของสายการบิน แต่ก็ถือว่าเป็นตลาดที่เข้ามาช่วยพยุงธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมในภูเก็ตได้ระดับหนึ่ง

“ปกติโรงแรมริมหาดจะมีอัตราการเข้าพักในช่วงนี้ประมาณ 85-90% ตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 70-75% ถามว่าระดับนี้กำไรไหมก็ยังกำไร แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็มีภาระ ธนาคารเขาก็คำนวณการผ่อนชำระตามซีซันนิ่งของธุรกิจเหมือนกัน ช่วงไฮซีซั่นก็จะผ่อนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยมากหน่อย ช่วงโลว์ซีซั่นก็จะจ่ายน้อยหน่อย แต่ผลกระทบรอบนี้ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่หมุนกระแสเงินสดไม่ทัน ซึ่งก็มีการประชุมพูดคุยกันเพื่อขอให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือต่อไป”

อัตราเข้าพัก-ราคาขาย ถดถอย

“ศึกษิต” ยังบอกด้วยว่า ประเด็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงสำหรับภาพรวมของโรงแรมในภูเก็ตปีนี้ คือ ตัวเลขไม่ได้ลดเฉพาะอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเท่านั้น แต่ราคาขายห้องพัก (room rate) โดยรวมก็ปรับตัวลดลงไปประมาณ 15-20% ด้วย เนื่องจากดีมานด์หายทำให้รายได้โดยรวมลดลงไปจากเดิมประมาณ 40% ส่วนโรงแรมที่เปิดรองรับกรุ๊ปทัวร์จีนโดยตรง ซึ่งมีประมาณ 20% ของโรงแรมทั้งหมดในภูเก็ตนั้น ถือว่ากระทบหนัก พนักงานไม่มีงานทำ หลายแห่งก็ปิดตัวไปแล้ว

พร้อมบอกด้วยว่า จากสถิติการเก็บข้อมูลธุรกิจโรงแรมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือ ปี 2560-2562 พบว่า ในปี 2560 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมในภูเก็ตอยู่ที่ 83% และปรับตัวลดลงเหลือ 77% ในปี 2561 และ 72% ในปี 2562 และสำหรับปี 2563 นี้คาดว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยน่าจะอยู่ในระดับประมาณ 68% เรียกว่า อัตราการเข้าพักถดถอยต่อเนื่องมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2560 (ปีแรกที่ทำการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ) และอาจเป็นปีแรกที่โรงแรมภูเก็ตมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยต่ำกว่า 70%

เช่นเดียวกับราคาห้องพักที่ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งล้วนเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซัพพลายในตลาดที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าตลอดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เรียกว่าเป็นแนวโน้มที่น่ากลัวเช่นกัน

ดีวาน่าฯ” ทบทวนแผนลงทุน

สำหรับภาพรวมของ “ดีวาน่า โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท” ซึ่งมีโรงแรมในเครือข่าย 8 แห่ง อาทิ ดีวาน่า ป่าตอง รีสอร์ท แอนด์ สปา, ดีวาน่า พลาซ่า ภูเก็ต, ป่าตอง รามาด้า ภูเก็ต, ดีวาน่า พลาซ่า กระบี่, อ่าวนาง ดีวาน่า กระบี่ รีสอร์ท, รีเซนต้า สวีท ภูเก็ต ฯลฯ นั้น “ศึกษิต” บอกว่า โดยรวมเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวม กล่าวคือ ปกติไตรมาสแรกจะมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยนที่ 90-95% ปีหน้าคาดว่าน่าจะลดลง 15-20% หรือประมาณ 75-80%

จากแนวโน้มดังกล่าวนี้ทำให้กลุ่มดีวาน่า โฮเทลฯ จำเป็นต้องทบทวนและศึกษาแผนการลงทุนใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นการชะลอเพื่อดูความชัดเจนของประกาศผังเมืองใหม่ของจังหวัดภูเก็ต และเพื่อให้การสอดรับกับโครงสร้างตลาดที่กำลังเปลี่ยนไป

“สำหรับเราถือว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่ารายอื่น แต่ราคาห้องพักเราก็ปรับลดลงเหมือนรายอื่น ๆ คือ ประมาณ 15-20% เช่นกัน ตอนนี้โรงแรม 5 ดาวหลายแห่งก็ทำราคาลงมาเท่ากับราคาขายในช่วงโลว์ซีซั่นกันแล้ว ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อรักษาอัตราการเข้าพักให้ยังอยู่ในระดับที่คุ้มทุน”

ซีอีโอหนุ่มแห่งดีวาน่า โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท ยังบอกด้วยว่า สำหรับในด้านรายได้ของกลุ่มดีวาน่านั้น คาดการณ์ว่าปีนี้บริษัทน่าจะมีรายได้รวมลดลงประมาณ 15%

ดังนั้น ปี 2563 นี้จึงเป็นปีที่ท้าทายอย่างมากอีกปีหนึ่งสำหรับ “ดีวาน่า โฮเทลฯ” และธุรกิจโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียง…

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/tourism/news-429467

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *