Thu. Apr 25th, 2024
ตลาดโรงแรม

ส่องตลาดโรงแรมลักชัวรีเมืองกรุง โปรโมทแพ็คเกจ ‘STAYCATION’

ย้อนไปเมื่อกลางปี 2563 หลังจากรัฐบาลไทยสามารถยุติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรกได้สำเร็จ จนสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศผ่านโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 หวังชดเชยตลาดบางส่วนจากการไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ

พบว่าโรงแรมส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์ในช่วงวันหยุดยาว โดยเฉพาะโรงแรมในพื้นที่หัวหิน และพัทยาที่สามารถขับรถไปได้อย่างสะดวกสบาย ขณะที่โรงแรมระดับ ‘ลักชัวรี’ (Luxury) ได้ปรับตัวด้วยการนำเสนอแพ็คเกจ ‘สเตย์เคชัน’ (Staycation) โปรโมทส่วนลดพิเศษต่าง ๆ ชูความคุ้มค่าเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวภายในประเทศ

คุณคาร์ลอส มาร์ติเนซ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด เริ่มต้นฉายถึงภาพรวมว่า ณ สิ้นปี 2563 โรงแรมระดับลักชัวรีในกรุงเทพฯ มีจำนวนห้องพักรวมทั้งสิ้น 20,555 ห้อง โดยบริเวณสุขุมวิทตอนต้น ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยซัพพลายโรงแรมระดับลักชัวรีประมาณ 40% ของซัพพลายทั้งหมด ตามมาด้วยเขตลุมพินี 22%, สีลมและสาทร 15% และริมแม่น้ำเจ้าพระยา 16%

“การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อช่วงปลายปี 2562 ทำให้ตลาดได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยในปี 2563 โรงแรมระดับลักชัวรีในกรุงเทพฯ มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพียง 27%”

เมื่อดูเฉพาะไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 มีอัตราการเข้าพักมากกว่า 50% และลดลงไปต่ำสุดที่ 20% ในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 โดยอัตราดังกล่าวมาจากการเข้าพักผ่านแพ็คเกจ Staycation และโครงการสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine : ASQ) ขณะที่ภาครัฐอนุมัติให้กรุงเทพฯเป็นจุดเข้า-ออกสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“แต่เนื่องจากอัตราการเข้าพักที่ต่ำ ทำให้บางโรงแรมตัดสินใจหยุดให้บริการหรือปิดตัวลงชั่วคราว จนกว่าตลาดจะกลับมาฟื้นตัว”

เมื่อโฟกัสอัตราค่าห้องเฉลี่ยต่อวัน (ADR) ในปี 2563 ของโรงแรมระดับลักชัวรี พบว่าลดลง 12% เฉลี่ยอยู่ที่ 4,486 บาท เนื่องจากโรงแรมระดับลักชัวรีได้เสนอส่วนลดพิเศษต่าง ๆ ให้กับนักท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

สำหรับช่วงครึ่งหลังของปี 2563 พบว่ามีโรงแรมระดับลักชัวรีเปิดใหม่ 4 แห่งในกรุงเทพฯ ทำให้มีซัพพลายเพิ่มขึ้น 1,162 ห้อง ได้แก่ โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพฯ ขนาด 301 ห้อง, โรงแรมสินธร เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ ขนาด 285 ห้อง, โรงแรมสินธร มิดทาวน์ กรุงเทพฯ ขนาด 475 ห้อง และโรงแรม เดอะ คาเพลลา กรุงเทพฯ ขนาด 101 ห้อง ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่ใจกลางย่านเศรษฐกิจ (CBD)

ขณะที่การเปิดตัวของโรงแรมอื่น ๆ ในกลุ่มอัพสเกลและมิดสเกล รวมอยู่ที่ 985 ห้อง ได้แก่ อาศัย กรุงเทพฯ ไชน่าทาวน์ ขนาด 224 ห้อง, ไลฟ์ สุขุมวิท 8 บางกอก ขนาด 196 ห้อง, โรงแรมซัมเมอร์เซ็ต พระราม 9 กรุงเทพฯ ขนาด 445 ห้อง และ เดอะ ควอเตอร์ เพลินจิต ขนาด 129 ห้อง

จากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงแรมชะลอการเปิดโครงการใหม่ โดยมีโรงแรม 2 แห่ง เลื่อนการเปิดให้บริการในปี 2563 รวมทั้งหมด 413 ห้อง ได้แก่ โรงแรม โอเรียนท์ เอ็กซ์เพรส มหานคร ขนาด 154 ห้อง และโรงแรม ชไตเกนเบิร์กเกอร์ ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ ขนาด 259 ห้อง นอกจากนี้แผนการพัฒนาโรงแรมใหม่ในปี 2563 ยังถูกเลื่อนออกไปอีกด้วย

“ก่อนหน้านี้ได้มีคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะสร้างสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดในปี 2563 แต่น่าเสียดายที่มันอยู่ในระดับต่ำสุดแทน จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในกรุงเทพฯ ลดลงเหลือ ‘ศูนย์’ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ทำให้ความต้องการห้องพักโรงแรมลดลงอย่างมาก”

สะท้อนให้เห็นว่าตลาดโรงแรมลักชัวรีในกรุงเทพฯ พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติค่อนข้างสูง โรงแรมหลายแห่งจึงเลือกที่จะปิดธุรกิจบางส่วนหรือทั้งหมด จนกว่าจะมีสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดต่างชาติ ส่วนโรงแรมที่เปิดให้บริการนั้น ยังคงมีผลการดำเนินงานที่ไม่ดีนัก มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยเพียง 20% ส่วนใหญ่มาจากแพ็คเกจ Staycation และนักท่องเที่ยวต่างชาติจากโครงการ ASQ

คุณคาร์ลอส กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสถานการณ์ท่องเที่ยวยังคงมี ‘ความไม่แน่นอน’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเกิดโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย ซึ่งเห็นชัดเดือนมกราคม 2564 อย่างไรก็ตามภายใต้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่จะเริ่มใช้ในประเทศไทยและทั่วโลก จึงคาดหวังว่าจะเห็น ‘จุดฟื้นตัว’ ของภาคธุรกิจโรงแรมในปลายปี 2564 หรืออาจเป็นต้นปี 2565

“รัฐบาลไทยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะขยับขึ้นเป็น 8 ล้านคนในปี 2564 และจะค่อย ๆ ฟื้นตัวจนถึงระดับก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนภายในปี 2567”

นอกจากนี้ จะยังไม่เปิดชายแดนไทยจนกว่าการใช้วัคซีนจะประสบความสำเร็จ โดยรัฐบาลไทยคาดว่าอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประชากรในประเทศไทยจะได้รับฉีดวัคซีนภายในสิ้นปี 2564 โดยในสถานการณ์นี้อัตราค่าห้องเฉลี่ยต่อวัน (ADR) อาจปรับลดลงอีก เนื่องจากผู้ประกอบการแข่งขันกันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในประเทศซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเดียวในช่วงต้นปี 2564

เมื่อข้อจำกัดด้านการเดินทางผ่อนคลายลง การกลับมาฟื้นตัวจะเริ่มจากนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเดียวกันก่อน พร้อมกับการเดินทางเชิงธุรกิจ ตามมาด้วยการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในภาคการท่องเที่ยวจากต่างชาติและธุรกิจการจัดประชุม ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และจัดแสดงสินค้า (MICE: ไมซ์)

“อัตราการเข้าพักโดยเฉลี่ยในกรุงเทพฯ คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยอาจจะเห็นการปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 โดยเฉพาะในช่วงไฮซีซั่นในไตรมาสสุดท้าย หากมีการยกเลิกข้อจำกัดด้านการเดินทาง” คุณคาร์ลอสกล่าว

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *