Fri. Apr 19th, 2024
‘วิชาชีพการโรงแรม’ ทางรอดอุตฯ ท่องเที่ยว สถาบันคุณวุฒิฯ ใจป้ำ เปิดสอบฟรีคนละ 2 สิทธิ์

‘วิชาชีพการโรงแรม’ ทางรอดอุตฯ ท่องเที่ยว สถาบันคุณวุฒิฯ ใจป้ำ เปิดสอบฟรีคนละ 2 สิทธิ์

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ มายาวนาน ทั้งด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ราคา ไม่แพง และเสน่ห์แบบไทยที่เป็นจุดเด่นในแบบที่หาจากที่อื่น ไม่ได้ ทำให้เราชนะใจนักท่องเที่ยวทั่วโลก แต่นั่นก็ทำให้ การแข่งขันในแวดวงรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ผู้ประกอบการต่างแข่งกันพัฒนางานบริการรูปแบบต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ทำให้มีความต้องการบุคลากรเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ตัวบุคลากรที่ทำงานในสายนี้ก็เจอศึกหนักจาก การเปิดประตูภูมิภาคอาเซียน ต้องเจอคู่แข่งจากประเทศ เพื่อนบ้านมากขึ้นเช่นกัน

พูดคุยกับ ผศ.ดร.จุฑามาศ วิศาลสิงห์ ที่ปรึกษาโรงเรียนการโรงแรมและการท่องเที่ยว รีเจ้นท์ ชะอำ (RHS School) และ คุณจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสำนักผู้อำนวยการ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI) ถึงสถานการณ์ปัจจุบัน และอนาคต รวมถึงแนวคิดการประเมินทักษะ สมรรถนะของบุคลากรว่า จะมาเป็นทางรอดให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยได้อย่างไรไปพร้อมๆ กัน

วิกฤตแรงงาน สถานการณ์ Do It or Die ประเทศไทยดูเหมือนแข็งแกร่งมากด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ทว่าเนื้อในนั้นเราขาดแคลนบุคลากร ระดับปฏิบัติการอย่างมาก ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ

ผศ.ดร.จุฑามาศ วิศาลสิงห์ กล่าวถึงปัญหาขาดแคลนแรงงานว่า มีอยู่ 2 ปัญหาใหญ่ คือ นอกจากขาดแคลนคนในเชิงปริมาณแล้ว ยังขาดแคลนในเชิงคุณภาพด้วย ส่วนหนึ่งเพราะภาคการศึกษาผลิตคนออกมาแล้วใช้งานไม่ได้จริง และถึงเวลาต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ภาคการศึกษาไทยสร้างคนออกมามาก แต่ไม่ตอบโจทย์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม รวมถึงแผนพัฒนาคนของประเทศก็ค่อนข้างล้มเหลว

“ภาคการศึกษาเราสร้างคนออกมาเยอะมาก แต่ไม่ตอบโจทย์เชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม เราไม่ได้ทำแผนพัฒนาคนในสายอาชีพที่ขาดแคลน เราแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามาตลอด ไม่ต้องพูดถึงความต้องการในอนาคตเลย เพราะแค่ที่ต้องการในปัจจุบัน เรายังไม่สามารถผลิตให้เพียงพอได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ

เราไม่ได้ขาดแคลนประชากร แต่เราขาดแคลนแรงงาน คนไม่มีความสามารถในการปฏิบัติงานให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพตอนนี้ต้องพยายามช่วยกันจัดระบบอีกรอบ ตอนนี้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ คือ จ้างคน Recruit คนจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ถ้ายังเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จะมีปัญหาตามมาอีกมาก ฉะนั้น ต้องแก้ปัญหาใน 2-3 ปีนี้ ถ้าไม่ทำตอนนี้ ก็ตาย Do It or Die” ผศ.ดร.จุฑามาศ เล่าถึงสถานการณ์

สอดคล้องกับคุณจุลลดา มีจุล ที่มองว่า ประเทศไทยมีกำลังพลไม่พอจะรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภาคการศึกษา ผลิตคนที่มีทักษะและสมรรถนะไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ

“ฟร้อนท์โรงแรม 5 ดาว จ้างคนไทยไม่ได้เลย ส่วนใหญ่ต้องจ้างฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เราไม่มีคน คนไทยทำไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องหันมามองที่โจทย์ใหญ่ คือ ต้องพัฒนาคนให้ได้ ให้มีทักษะและสมรรถนะคนให้ได้ตามที่ตลาดต้องการ

ผู้ประกอบการชอบ Ready Made สำเร็จรูป ใส่น้ำ กินได้เลย มันกลับไปที่สถาบันการศึกษาว่าต้องผลิตตคนที่เรียนจบ ทำงานได้เลย” คุณจุลลดา วิเคราะห์

‘คน’ คือหัวใจ ผศ.ดร.จุฑามาศ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ Do It or Die เป็นตัวย้ำว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องปรับตัว ต้องพัฒนา ต้องเปลี่ยนแปลง มิเช่นนั้น ไม่รอดแน่ “หัวใจสำคัญที่สุด คือ คนทำงาน โดยเฉพาะธุรกิจงานบริการ จะดี จะแย่ จะสำเร็จ หรือเฟล ขึ้นอยู่กับ “คน” ฉะนั้น การที่โรงแรมให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร มันทำให้การจัดการให้เราเข้มแข็งได้ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และพร้อมแข่งขันระดับอาเซียน

ที่่ผ่านมาเรามีโรงเรียนเทรนนิ่ง แต่ไม่มีระบบ ไม่มีตัวชี้วัด ว่าแต่ละอาชีพเก่งหรือยัง เชี่ยวชาญหรือยัง แต่ตอนนี้มีแล้ว สถาบันคุณวุฒิฯ ผลักดันให้เกิดระบบมาตรฐานวิชาชีพขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการและคนในอุตสาหกรรมต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ เหมือนไปหาหมอ ไปรีเช็กร่างกายว่า ตรงไหนอ่อนแอ อวัยวะไหนมีปัญหา เราต้องดูแลตรงนั้น เพิ่มทักษะที่เรามีอยู่ เติมเต็มสิ่งที่เราขาดไป” ผศ.ดร.จุฑามาศ กล่าว

วิชาชีพการโรงแรม

ด้านคุณจุลลดากล่าวเสริมว่า การพัฒนาบุคลากรในองค์กร เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว เสมือนเป็นการซื้อใจและความสุขในการทำงานของพนักงาน ซึ่งเป็นการสร้าง Productivity ให้กับโรงแรมนั้นๆ อย่างยั่งยืน “มีนายจ้างจำนวนมากที่ไม่กล้าลงทุนพัฒนาคน เพราะกลัวลงทุนแล้วคนอยู่ไม่นาน อาจจะลาออกไป หรือโดนแย่งตัว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่แบบนั้น การพัฒนาคนเป็นการสร้างความสุขในการทำงานให้พนักงาน เพราะเขาเห็นอนาคตตัวเอง มีเป้าหมาย อยากพัฒนา รู้ Career Path ของตัวเอง มีความสุขในการทำงาน และเมื่อมีความสุข เขาก็ไม่เปลี่ยนงานง่ายๆ” คุณจุลลดา วิเคราะห์

รับรองศักดิ์และสิทธิ์ของวิชาชีพ ทักษะและสมรรถนะต้องมีมาตรฐาน “เราเปิดประตูบ้านกันหมดแล้ว ทุกคนมีหน้าที่ต้องพัฒนาตัวเองให้แข่งขันได้ ต้องเข้ามาอยู่ในระบบที่มีการรับรอง ถ้ามีการกำหนดมาตรฐาน แล้วผ่านการประเมินนั้นก็เป็นรับรองตัวเอง ในแง่บุคลากร ถือเป็นใบผ่านทางด่านที่หนึ่ง ส่วนในมุมนายจ้าง ใบรับรองนี้ก็ช่วยเพิ่มความแน่นอนและความแน่ใจให้ผู้จ้างว่าลูกจ้างมีประสิทธิภาพ มีทักษะและสมรรถนะ ” ผศ.ดร.จุฑามาศ

ผศ.ดร.จุฑามาศ กล่าวอีกว่า มาตรฐานวิชาชีพจะช่วย ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งในแง่การลด ค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการคน เช่น ขอดูใบรับรองจากสถาบันคุณวุฒิก่อนรับเข้าทำงาน ทำให้ไม่ต้องเทรนมาก เพราะมีประสบการณ์ หรือเทรนคนได้ถูกเรื่อง รวมถึงนำมาประยุกต์ใช้ในระบบ HR เพื่อประเมินผลการทำงาน บางคนกระตือรือร้น ขยันพัฒนาตัวเองก็โปรโมทให้เลื่อนตำแหน่ง

คุณจุลลดา กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกันว่า มาตรฐานวิชาชีพเป็นการรับรองความเป็นมืออาชีพ และตอบโจทย์การพัฒนาคนของประเทศ“นี่คือระบบที่จะช่วยวางแผนและบริหารงานบุคคลให้องค์กร ไม่ใช่เงื่อนไขหรืออุปสรรคหรือข้อจำกัด เป็นตัวที่ช่วยให้เห็นถึงการพัฒนาคน ประเมินสมรรถนะอาจจะฟังดูน่ากลัว ระบบนี้ เหตุผลเดียวคือช่วยพัฒนาบุคลากรในโรงแรม พัฒนาตัวเองและองค์กรให้มากที่สุด

ทุกอาชีพจึงควรมีการประเมิน การทดสอบ การวัดผลว่า อาชีพที่ทำอยู่นั้น คุณเก่งแค่ไหน เชี่ยวชาญหรือยัง เพื่อเป็นมาตรฐานที่สากลยอมรับ นี่คือสิ่งที่ตอบโจทย์การพัฒนา กำลังคนของประเทศ” คุณจุลลดากล่าวถึงความสำคัญของมาตรฐานวิชาชีพ

อย่างไรก็ตาม วิชาชีพเกี่ยวกับการโรงแรมมีทั้งหมดมี 5 วิชาชีพ ได้แก่ พนักงานบริการส่วนหน้าของโรงแรม พนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่ม พ่อครัวตะวันตก พ่อครัวขนมปังอบ และแม่บ้านในโรงแรม โดยสถาบันคุณวุฒิฯ เลือก รีเจ้นท์ ชะอำ เป็นสถานที่สอบ เนื่องจากมีคุณสมบัติตามเกณฑ์และ เงื่อนไขต่างๆ ตามที่สถาบันคุณวุฒิกำหนด เช่น อาจเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคการศึกษาก็ได้ แต่ต้องเป็นนิติบุคคล มีประสบการณ์ด้านนั้นๆ ชัดเจน มีเจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญอยู่ในองค์กร มีสาธารณูปโภค และอุปกรณ์เกี่ยวกับอาชีพนั้นๆ ครบถ้วน ซึ่งรีเจ้นท์ ชะอำ มีครบเครื่อง ตอบโจทย์ และผ่านเกณฑ์การพิจารณาทุกด้าน

TPQI ใจป้ำ เปิดสอบฟรีคนละ 2 สิทธิ์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้เสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติงบประมาณในการเปิดจัดสอบประเมินสมรรถนะของบุคลากรในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรม โดยจัดสอบแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย ให้คนละ 2 สิทธิ์ คือ 1 สิทธิ์มาตรฐานวิชาชีพ และ 1 สิทธิ์มาตรฐานดิจิทัล

“ตอนนี้สถาบันคุณวุฒิฯ มีโปรโมชั่น สอบฟรี ไม่ต้องกลัวจะสอบตก อยากให้ผู้ประกอบการและบุคลากรด้านการโรงแรม ฉวยโอกาสนี้ เพื่อจะได้รู้ว่าตนเองอยู่ตรงไหนของมาตรฐาน นอกจากนี้ ข้อสอบก็เป็นข้อสอบจากการปฏิบัติงานได้จริง ไม่เน้นทฤษฎี แต่เน้นความรู้ในการทำงาน ถ้าอยู่ในอาชีพ ไม่ต้องหนักใจเลย เพราะเราทำอยู่ทุกวัน เช่น ปูเตียงเป็น ก็มาทำให้ดูหน่อย จะได้รับการรับรอง

ภาครัฐก็มีหน้าที่ต้องสนับสนุน แต่สิ่งที่จะขับเคลื่อนหรือสร้างระบบได้ดีที่สุด คือ คนที่ทำงาน คนที่อยู่ในอุตสาหกรรม ต้องพัฒนาตัวเอง ต้องพัฒนาคนของตัวเอง เราอยู่นิ่งไม่ได้แล้ว โลกมันเปิดอย่างนี้แล้ว เราจะโดนแย่งงาน ด้านผู้ประกอบการก็ต้องคิด ต้องวางแผนว่า เขาจะช่วยผลักดันให้คนของเขาเข้าสู่ระบบมาตรฐานอย่างไรได้บ้าง เพราะมันมีผลเชิงธุรกิจ คือ ช่วย Save Cost และสร้าง Productivity ให้องค์กรตัวเอง

นี่ไม่ใช่ทางเลือก แต่นี่คือสิ่งที่ต้องทำ โดยเฉพาะในภาวะ การแข่งขันสูงขนาดนี้ คนคือสิ่งสำคัญที่สุด” ผศ.ดร.จุฑามาศ กล่าวทิ้งท้าย ทั้งนี้ ผู้สนใจสมัครสอบ สามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ www.tpqi.go.th

ในสถานการณ์ Do It or Die ของวงการนี้ ดูเหมือนทางรอด มีอยู่ทางเดียว คือ ยกระดับทักษะและสมรรถนะในวิชาชีพให้แก่บุคลากร ที่ผ่านมาเรารอดกันมาด้วยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คนไม่พอก็จ้างคนต่างชาติ คนไทยพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ก็จ้างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย จะดีกว่าไหมหากเราจะเริ่มร่วมกัน แก้ปัญหา ‘คน’ ด้วยการสร้างมาตรฐานอย่างยั่งยืน

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *