Fri. Apr 19th, 2024
ท่องเที่ยว

รัฐปลุกท่องเที่ยว 2.2 หมื่นล้าน “กลุ่มทุนใหญ่” กินเรียบ

รัฐอัดงบฯ 2.2 หมื่นล้านหว่านเงินปลุกท่องเที่ยวในประเทศสารพัด ให้เที่ยวฟรี-ช่วยจ่ายค่าโรงแรม ที่พัก- ตั๋วเครื่องบิน 40% มีเอ็กซ์ตร้าให้จ่ายในร้านอาหาร-สถานที่ท่องเที่ยว สทท.มั่นใจหนุนบรรยากาศคึกคัก ยันมาตรการเข้าไม่ถึงทุกซัพพลายเชน กลุ่มทุนโรงแรมใหญ่กินเรียบทุกมาตรการ ททท.คาดสร้างรายได้ทั้งทางตรง-ทางอ้อม 7 หมื่นล้าน

ตามที่กระทรวงการคลังได้มีนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการออกมาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศหลังจากที่ประกาศคลายล็อกทางธุรกิจ ภายใต้กรอบวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย

อนุมัติ 3 โครงการ 2.4 หมื่นล้าน

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 16 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา มติอนุมัติงบประมาณรวม 22,400 ล้านบาท สำหรับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทย จัดทำโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยว ในช่วงระหว่าง 1 กรกฎาคม-31 ตุลาคม 2563 รวม 4 เดือน จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย

1.โครงการกำลังใจ ภายใต้งบประมาณ 2,400 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือบริษัทนำเที่ยว โดยรัฐสนับสนุนค่าเดินทางของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวม 1.2 ล้านคน ให้ออกเดินทางท่องเที่ยวและศึกษาดูงานต่างจังหวัดฟรี โดยใช้บริการกับบริษัทนำเที่ยว ซึ่งรัฐจะสนับสนุนงบประมาณเดินทางไม่เกินคนละ 2,000 บาท สำหรับการเดินทางไม่น้อยกว่า 2 วัน 1 คืน โดยคาดว่าจะทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนอย่างน้อย 6,500 ล้านบาท และประเมินว่าจะมีผู้ประกอบการนำเที่ยวได้รับประโยชน์รวม 13,000 ราย

2.โครงการเราไปเที่ยวกัน ภายใต้งบประมาณ 18,000 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก โฮมสเตย์ โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าโรงแรมที่พักในลักษณะร่วมจ่าย (copay) จำนวน 5 ล้านคืน (room night) ในอัตราร้อยละ 40 ของค่าห้องพัก แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน (สูงสุดไม่เกิน 5 คืน) นักท่องเที่ยวจ่ายค่าที่พักเอง 60% นอกจากนี้ รัฐยังสนับสนุน

ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายสถานที่ท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะแจ้งรายชื่อแก่ธนาคารกรุงไทย จำนวน 600 บาทต่อห้องต่อคืน ในรูปแบบ e-Voucher ผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” (สูงสุดไม่เกิน 5 คืน) โดยจะต้องมีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดในทะเบียนบ้านของประชาชนผู้จองห้องพัก โดยคาดว่ากลุ่มโรงแรม ที่พัก จะได้รับประโยชน์จำนวน 24,700 แห่ง และมีร้านอาหารที่ได้รับประโยชน์จำนวน 36,755 ร้าน

3.โครงการเที่ยวปันสุข ภายใต้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบินในประเทศ โดยรัฐบาลสนับสนุนการเดินทางของประชาชน จำนวนไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน โดยการจำหน่ายบัตรโดยสารของผู้ประกอบการขนส่งด้านการท่องเที่ยว 3 กลุ่ม คือ สายการบินภายในประเทศ, รถขนส่งไม่ประจำทางข้ามจังหวัด และรถเช่า ในอัตราร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 1,000 บาท ทั้งนี้ คนที่จะได้รับสิทธิ์จะต้องจองที่พักในโครงการ “เราไปเที่ยวกัน” เท่านั้น โดยคาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทาง 2 ล้านคน-ครั้ง

ห่วงงบฯเข้าไม่ถึงทุกเซ็กเตอร์

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวดังกล่าวจะช่วยสร้างบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศให้เกิดความคึกคัก และเกิดการเดินทางท่องเที่ยวแน่นอน เพราะคนที่ได้รับสิทธิ์คงออกเดินทางท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่ สทท.เป็นห่วงและให้ข้อมูลภาครัฐมาตลอด คือ อยากให้มาตรการฟื้นฟูของรัฐเข้าถึงและช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวในทุกเซ็กเตอร์อย่างแท้จริง

“มาตรการที่ออกมากลุ่มธุรกิจที่น่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุด คือ โรงแรม แต่ที่เป็นห่วงอีกประเด็นหนึ่ง คือ แนวทางดังกล่าวยังกระจุกอยู่กับกลุ่มรายใหญ่เท่านั้น สุดท้ายยังมองว่ากลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นฐานใหญ่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นคงไม่ได้รับอานิสงส์มากนัก”

รับภาพรวมออกมาดีเกินคาด

นายยุทธชัย สุนทรรัตนเวช รองประธานฝ่ายยุทธศาสตร์ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) แสดงความเห็นว่า มาตรการที่ออกมาโดยรวมถือว่าดีเกินคาดสำหรับโครงการเราไปเที่ยวกัน เพราะขยายฐานให้สิทธิ์คนไปเที่ยวถึง 5 ล้านคน จากเดิมที่อยู่ที่ 4 ล้านคนเท่านั้น นอกจากนี้ยังได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อีกจำนวนมาก จากรูปแบบเดิมที่คุยกันว่ารัฐบาลจะใส่เงินในแอปพลิเคชั่นให้ผู้ได้รับสิทธิ์จำนวน 3,000 บาท หากผู้ใช้เติมเงินเข้าไปอีก 2,000 บาท และใช้จ่ายหมดครบ 5,000 บาท ในวันที่เช็กเอาต์โรงแรม รัฐบาลจะจ่ายเพิ่มให้ 600 บาท

“มาตรการใหม่รัฐบาลจ่ายให้ 40% สูงสุดถึง 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน และสูงสุดถึง 5 คืน และจ่ายเพิ่มอีก 600 บาทต่อห้องต่อคืนสำหรับนำใช้จ่ายกับร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยว โครงการนี้ถือว่ากลุ่มธุรกิจโรงแรมได้รับไปเต็ม ๆ แต่สิ่งที่เป็นห่วง คือ โรงแรมที่จะเข้าร่วมยังจำกัดเพียงแค่โรงแรมที่มีใบอนุญาติที่ถูกต้องเท่านั้น นั่นหมายความว่ากลุ่มที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด คือ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ไม่ใช่กลุ่มเอสเอ็มอี จึงมองว่าการช่วยเหลือก็ยังไม่กระจายทั่วถึงอย่างที่เราอยากให้เป็น” นายยุทธชัยกล่าว

หวั่นบริษัทนำเที่ยวล้มหาย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ การช่วยเหลือกลุ่มบริษัทนำเที่ยว ที่เป็นตัวกลางในการกระจายเงินรายได้จากนักท่องเที่ยวออกไปสู่ซัพพลายเชนต่าง ๆ นั้นยังได้รับการดูแลที่น้อยมาก แม้ว่ามาตรการของ “โครงการกำลังใจ” ที่พา อสม. และ รพ.สต. เที่ยวฟรี 1.2 ล้านคนนั้นจะระบุให้ดำเนินการผ่านบริษัทนำเที่ยว แต่งบประมาณที่ลงมาจำนวน 2,000 บาทต่อคนนั้นถือว่าต่ำมาก ต่ำจนบริษัทนำเที่ยวแทบจะไม่สามารถทำธุรกิจ

“ในส่วนของกลุ่มบริษัทนำเที่ยวนั้นตอนนี้ทุกคนใกล้หมดลมหายใจกันแล้ว ทั้งกลุ่มที่ทำตลาดนักท่องเที่ยวขาเข้า หรืออินบาวนด์ นักท่องเที่ยวขาออก หรือเอาต์บาวนด์ และตลาดไทยเที่ยวไทย ส่วนตัวมองว่าเซ็กเตอร์จะล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก หรือบางส่วนที่ยังไม่ตายก็จะเปลี่ยนอาชีพไปเลย ซึ่งหากภาครัฐมองข้าม และถ้าไม่มีบริษัทนำเที่ยว โครงสร้างของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยก็จะขาดหน่วยงานที่ช่วยรัฐทำการตลาด เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้จ่ายในเมืองไทยไปแน่นอน” นายยุทธชัยกล่าว

ห่วงทัวร์ อสม.ด้อยคุณภาพ

นายภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า มาตรการนี้มีเจตนาดีที่จะช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และยังเป็นกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงมาตรการการช่วยเหลือของภาครัฐ แต่มาตรการที่ออกมาถือว่ายังไม่กระจายเข้าถึงทุกเซ็กเตอร์ด้านการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง โดยกลุ่มที่ได้รับการช่วยเหลือมากที่สุดจากมาตรการนี้ คือ กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก และแม้ว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด แต่ก็ยังไม่กระจายทั่วถึง เนื่องจากรัฐมีมาตรการว่าจะต้องใช้บริการโรงแรมที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

“ประเด็นที่เรายังมองเหมือนเดิม คือ โครงการพา อสม.และ รพ.สต. จำนวน 1.2 ล้านคนเที่ยวฟรี ภายใต้งบฯ 2,000 บาทต่อคนนั้นเป็นอะไรที่ต่ำเกินไป เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องมาตรฐานการให้บริการว่าจะต่ำตามไปด้วย ขณะที่บริษัทนำเที่ยวซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลอยากช่วยนั้นก็แทบจะไม่เหลือกำไรเลย” นายภูริวัจน์กล่าว

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการที่ได้รับมติเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จะสร้างรายได้รวม 70,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้ทางตรงกว่า 45,000 ล้านบาท และสร้างรายได้หมุนเวียนทางอ้อมอีกกว่า 25,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 35,000 ตำแหน่ง รวมถึงกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ได้ราว 0.27% และกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศประมาณ 0.5%

“เชื่อว่าการลงทุนงบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท นี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะแค่เพียงรายได้ทางตรงก็มากกว่า 45,000 ล้านบาทแล้ว ยังไม่รวมกับรายได้ทางอ้อมที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในภาวะที่เราไม่สามารถพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติได้ จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ และเชื่อว่าจะทำให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยกว่า 80-100 ล้านคน-ครั้งได้” นายยุทธศักดิ์กล่าว

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/tourism/news-478955

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *