Fri. Mar 29th, 2024
ท่องเที่ยว

ฟันธงท่องเที่ยวซบยาวยันสิ้นปี เอกชนจี้รัฐออกมาตรการด่วนต่อลมหายใจ

เอกชนท่องเที่ยวฟันธงไวรัสโควิด-19 ทุบอุตฯท่องเที่ยวไทยซบยาวไม่ต่ำกว่า 1 ปี จี้รัฐเร่งคลอดมาตรการช่วยเหลือต่อลมหายใจผู้ประกอบการเร่งด่วน โอดกระทบหนัก ธุรกิจชอร์ตทั้งระบบมากว่า 1 เดือน ภาครัฐยังไม่ขยับ คาดปีนี้ไทยสูญรายได้ท่องเที่ยวหลายแสนล้านบาท รอลุ้นมติ ครม. 3 มีนาคมนี้อีกรอบ หากไม่มีมาตรการเป็นรูปธรรมพร้อมเดินสายกดดันอีกระลอก ด้านสมาคมแอตต้าเผยตัวเลขกรุ๊ปทัวร์เดือน ก.พ.ร่วงหนักยกแผง

นายธนพล ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) องค์กรดูแลตลาดนำคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ (เอาต์บาวนด์) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ได้ลามและขยายผลกระทบออกไปยังเกือบทุกภูมิภาคทั่วโลก ส่งผลให้กลุ่มผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวทั้งอินบาวนด์ (ขาเข้า) และเอาต์บาวนด์ (ขาออก) ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และคาดการณ์ว่าผลกระทบดังกล่าวนี้จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยซบเซาอย่างหนักไม่ต่ำกว่า 1 ปี หรือตลอดทั้งปีนี้แน่นอน

ผ่านไป 1 เดือนรัฐยังไม่ขยับ

นายธนพลกล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 1 เดือนนับตั้งแต่มีกระแสการแพร่ระบาดของไวรัสนั้น ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวได้ทำการสำรวจความเห็นของกลุ่มผู้ประกอบการในทุกเซ็กเตอร์ที่เป็นซัพพลายเชนด้านการท่องเที่ยว และประชุมเพื่อประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายครา พร้อมนำเสนอให้หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนและออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผ่านไปทางเลขาธิการนายกรัฐมนตรีไปแล้ว แต่จนถึงขณะนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่มีประกาศหรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด มีเพียงมาตรการเชิงนโยบายเท่านั้น

“วันนี้ธุรกิจถึงขั้นที่เรียกว่าวิกฤตแล้ว ผู้ประกอบการเดือดร้อนหนัก ไม่มีรายได้เข้ามาหมุนเวียนในระบบธุรกิจนานกว่า 1 เดือนแล้ว ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วไม่ควรเกิน2-3 สัปดาห์ก็น่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ ผมก็ไม่เข้าใจว่าภาครัฐทำอะไรอยู่ ทั้ง ๆที่รู้อยู่แล้วว่าพวกผู้ประกอบการลำบาก โดยเฉพาะเรื่องเงินสดหมุนเวียน”

คาดชอร์ตยาวทุกเซ็กเตอร์

นายธนพลกล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือที่ทางภาคเอกชนท่องเที่ยวนำเสนอให้ภาครัฐช่วยเหลือนั้นมีทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว โดยมาตรการเร่งด่วนจะเป็นเรื่องทางการเงินเป็นหลัก อาทิ พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 12 เดือน, ขอดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราพิเศษ 1% สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท, ให้ บสย.เป็นผู้ค้ำประกันการกู้และให้งดเว้นค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเป็นเวลา 4 ปี ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ อาทิ งดเว้นการจ่ายเงินสมทบค่าประกันสังคมสำหรับนายจ้างและลูกจ้างกับสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 6 เดือน, เลื่อนชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลปี 2563 ไป 3 เดือน โดยผ่อนผันให้ชำระภายในเดือนตุลาคม 2563 ฯลฯ รวมถึงมาตรการสนับสนุนการตลาดเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้มูลค่า 1,340 ล้านบาท โดยให้ตั้งกองทุนเพื่อใช้จ่ายในการสนับสนุนการทำการตลาดขององค์กรธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดอินบาวนด์, ให้เงินสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการนำนักท่องเที่ยวคนไทยให้ออกมาเที่ยวในประเทศ เป็นต้น

“ตอนนี้ผู้ประกอบการทุกเซ็กเตอร์ชอร์ตหมด และคิดว่าน่าจะชอร์ตยาวกว่าทุกวิกฤตที่เคยผ่านมา โดยกลุ่ม ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ผู้ประกอบการขนส่งทางอากาศราว 30 ราย ผู้ประกอบการขนส่งทางบกกว่า 10,000 ราย โรงแรมที่พักที่มีใบอนุญาตราว 6,000 ราย และที่ไม่มีใบอนุญาตกว่า 20,000 ราย ธุรกิจที่ให้บริการเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว สถานบริการบันเทิง และสปา รวมกว่า 5,000 ราย บริษัทนำเที่ยวทั้งระบบราว 8,500 ราย ไกด์ทั้งที่มีใบอนุญาตและทำงานอยู่ในระบบราว 1 แสนคน ร้านอาหารราว 15,000 ร้าน ผู้จำหน่ายสินค้าและของที่ระลึกราว 5,000 แห่ง รวมถึงธุรกิจโรงพยาบาลกว่า 30 แห่ง” นายธนพลกล่าว

บ.ทัวร์ป่วนแอร์ไลน์ไม่คืนเงิน

นายธนพลกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขณะที่ตลาดอินบาวนด์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากทุกภูมิภาค ทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฯลฯ ไปจนถึงฝั่งตลาดยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง ขณะนี้ตลาดเอาต์บาวนด์ก็กระทบหนักเช่นกัน เนื่องจากลูกค้าที่ซื้อแพ็กเกจทัวร์ไว้แจ้งยกเลิกการเดินทางในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมไปเกือบทั้งหมดเช่นกัน และคาดว่าน่าจะลากยาวไปจนถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางออกนอกประเทศจำนวนมาก

“ปัญหาตอนนี้คือ เมื่อลูกค้าแจ้งยกเลิกการเดินทางก็จะขอเงินคืน ซึ่งบางส่วนทำได้ บางส่วนก็ไม่สามารถทำได้ เพราะสายการบินส่วนใหญ่ยังไม่ยอมคืนเงินให้กับกลุ่มโฮลเซลและเอเย่นต์ทัวร์ เอเย่นต์ทัวรก็ไม่มีเงินคืนลูกค้า ตอนนี้โฮลเซลบางรายเอาเงินไปวางมัดจำตั๋วเครื่องบินไว้กับสายการบินต่าง ๆ มีมูลค่ารายละกว่า 100 ล้านบาท”

รอลุ้นมติ ครม. 3 มีนาคม

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยอมรับว่าขณะนี้ผู้ประกอบการในทุกเซ็กเตอร์ ทั้งสายการบิน โรงแรม บริษัทนำเที่ยว รถขนส่ง ร้านอาหาร ฯลฯ ประสบปัญหาสภาพคล่องกันหมดแล้ว เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง อย่างชัดเจน และไม่เพียงแต่ตลาดจีนเท่านั้น ปัจจุบันตลาดอื่น ๆ ในทุกภูมิภาคก็ชะลอตัวลงแล้วเช่นกัน

“ตอนนี้ภาคเอกชนท่องเที่ยวรอดูความชัดเจนของมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 3 มีนาคมนี้ว่ามีหรือไม่ หรือหากมีก็จะดูว่าเป็นไปตามที่เราร้องขอหรือไม่ หากยังไม่มีมาตรการผ่านมติ ครม.ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม พวกเราต้องนัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง หากยังไม่มีความชัดเจนอาจต้องใช้วิธีกดดันด้วยการรวมตัวกันเดินขบวนเรียกร้องต่อไป”

“กรุ๊ปทัวร์” เดือน ก.พ.ร่วงหนัก

ด้านนายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวย้ำว่า ปีนี้เป็นปีที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยประสบปัญหาหนักที่สุด เนื่องจากผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 มาในช่วงที่เป็นไฮซีซั่นของธุรกิจ ทำให้ผลกระทบหนักเป็นเท่าตัวจากช่วงเวลาปกติ อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่าจะเห็นมาตรการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐออกมาเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้ จากตัวเลขของสมาคมพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ที่ใช้บริการสมาคม ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ปรับตัวลดลง 16.97% และลดลงถึง 74.09% ในเดือนกุมภาพันธ์ กล่าวคือ จากจำนวน 4.89 แสนคนในปี 2562 ลดเหลือเพียง 9.09 หมื่นคนในปี 2563

โดยตลาด 10 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวที่เดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์ผ่านสมาคมแอตต้านั้น ส่วนใหญ่ตกลงเกือบหมด อาทิ จีน ลดลง 52.16%, เกาหลี ลดลง 45.65%, รัสเซีย ลดลง 32.79% ฯลฯ ยกเว้นตลาดไต้หวันที่ยังเติบโต 21.34% (ดูตารางประกอบ)

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

https://www.prachachat.net/economy/news-426808

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *