Thu. Apr 25th, 2024
10ประเทศ

ปลุกกระแสท่องเที่ยวอาเซียน เพิ่ม”ค่าใช้จ่ายต่อหัว-เที่ยวในภูมิภาค”

ปลุกท่องเที่ยวอาเซียน ! ททท.ผนึก “อาเซียนตา” เซ็น MOU ขยายโอกาสร่วมงานเอกชนอาเซียน เร่งเพิ่มรายได้ต่อหัว 2 เท่าใน 6 ปี พร้อมแจงตลาดอาเซียนยังคงเติบโตดี ขณะที่ภาคเอกชนทุกประเทศทั่วอาเซียนเปิดเกมรุกดึงนักท่องเที่ยว สิงคโปร์เตรียมรุกหนักตลาดไมซ์ มาเลย์ชูจุดขายธีมปาร์กขนาดใหญ่ กัมพูชาเล็งโปรโมตเดสติเนชั่นใหม่เพิ่ม ด้านอินโดนีเซียยังซบ หวังปี”63 ท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว

นายกฤษฎา รัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในการประชุม “อาเซียนตา คอนเฟอเรนซ์ 2019” สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาททท.ได้ร่วมกับ “อาเซียนตา” เจ้าภาพการจัดงาน รวมถึงสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. และสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) เซ็นบันทึกข้อตกลง “Advancing Partnership for Sustainability” หวังยกระดับรายได้ทางการท่องเที่ยวให้กับกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ

มุ่งเพิ่มรายได้ต่อคนต่อทริป

ทั้งนี้ ตั้งเป้าเพิ่มค่าใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวต่อคนต่อทริปจาก 26,000 บาทเป็น 45,000 บาท ให้ได้ภายในปี 2568 โดยในเบื้องต้นได้จัดงานพบปะเจรจาธุรกิจให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวจาก 10 ประเทศ จำนวน 200 ราย เพื่อขยายขอบเขตความร่วมมือเพื่อก่อให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกัน (Intra ASEAN) ในกลุ่มประชากรมากกว่า 650 ล้านคน และสร้างแนวทางทำงานร่วมกันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่น ๆ เข้ามาในอาเซียนต่อไปในอนาคต

โดยมีตลาดที่โดดเด่น 3 ตลาดหลัก ได้แก่ มาเลเซีย, ลาว และอินโดนีเซีย โดยในตลาดมาเลเซียยังคงเติบโตได้ดีจากจำนวนนักท่องเที่ยวราว 4 ล้านคน

ในปีที่ผ่านมา ส่วนตลาดลาวได้ฉลองนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยครบ 2 ล้านคนไปในเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดอินโดนีเซียกำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่า 7.2 แสนคน เพิ่มขึ้นราว 1.2 แสนคน จากปี 2561 ส่วนตลาดที่กำลังเร่งผลักดัน คือ ตลาดเมียนมาและกัมพูชา เนื่องจากเป็นตลาดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่

สิงคโปร์เร่งตลาดไมซ์

ด้านนายแซมสัน ตัน (Samson Tan)ประธานตลาดนักท่องเที่ยวขาเข้า (inbound) สมาพันธ์ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (NATAS : The National Association of Travel Agents Singapore) กล่าวว่า สำหรับสิงคโปร์ในปี 2562 ที่ผ่านมาถือว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตประมาณ 5% ขณะที่รายได้อยู่ในภาวะทรงตัว เนื่องจากงานจัดอีเวนต์ต่าง ๆ ลดน้อยลงทำให้จำนวนห้องประชุมและห้องพักไม่เต็มเหมือนปี 2561 ปีหน้าสิงคโปร์จะยังคงโฟกัสตลาดไมซ์ เพราะที่ผ่านมาการจัดประชุมสัมมนาและอีเวนต์ต่าง ๆ คือ กลไกสำคัญที่นำนักท่องเที่ยวเดินทางมาสู่สิงคโปร์ และในระยะยาวคาดว่าสิงคโปร์จะมีแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาภายในประเทศ

“ที่ผ่านมา สิงคโปร์ ไทย และมาเลเซียเป็นเกตเวย์สำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวต่างภูมิภาคที่เดินทางเข้ามาภายในอาเซียน ดังนั้น ความร่วมมือของภูมิภาคอาเซียนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งกับการเติบโตของการท่องเที่ยวภายในภูมิภาคและภายในประเทศ”

มาเลย์ชูจุดขายธีมปาร์ก-อีวีซ่า

เช่นเดียวกับ นายดาตัก ตัน ก๊ก เหลียง (Datuk Tan Kok Liang) ประธานสมาพันธ์การท่องเที่ยวมาเลเซีย (MATTA : The Malaysian Association of Tour and Travel Agents) เปิดเผยว่า ในปี 2562 นี้การท่องเที่ยวมาเลเซียเติบโตเล็กน้อย ประมาณ 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังคงเดินตามแผนเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเป้าหมายนักท่องเที่ยวที่ 30 ล้านคน

โดยรัฐบาลและภาคเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของมาเลเซียคาดหวังว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวผ่านการเร่งโปรโมตในตลาดสำคัญต่าง ๆ อาทิ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยพร้อมมุ่งเน้นการเพิ่มสินค้าใหม่และสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว อาทิ ธีมปาร์กขนาดใหญ่ซึ่งจะเปิดภายในต้นปีหน้า รวมถึงเร่งพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์วีซ่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกันทาง MATTA ก็ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับอาเซียนตาและพันธมิตร เพื่อเปิดตลาดใหม่ และนำสินค้าใหม่ ๆ มานำเสนอให้กับตลาด

อินโดฯหวังปี”63 ท่องเที่ยวฟื้น

ขณะที่นางสาวพอลลีน ซูฮาโน (Pauline Suharno) เลขาธิการสมาพันธ์ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวอินโดนีเซีย (ASITA : Association of the Indonesian Tours and Travel Agencies) กล่าวว่า ปี 2562 คือปีแห่งการเมืองของอินโดนีเซีย เนื่องจากมีการจัดการเลือกตั้งใหญ่และเกิดการประท้วง ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกังวลในเรื่องความปลอดภัยส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาอินโดนีเซียลดน้อยลง และไม่บรรลุเป้าหมาย 20 ล้านคน ตามที่วางไว้ได้ เช่นเดียวกับปีก่อนที่ไม่สามารถบรรลุเป้าได้จากภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่างบาหลี

อย่างไรก็ตาม ทางการอินโดนีเซียเชื่อว่าภายในช่วงต้นปี 2563 สถานการณ์การท่องเที่ยวอินโดนีเซียจะกลับมาเป็นปกติอย่างรวดเร็ว พร้อมกันนั้น ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอินโดนีเซียและรัฐบาลยังมีแผนที่จะขยายพื้นที่ทางการท่องเที่ยวออกจากบาหลี ไปยังส่วนอื่น ๆ รวมถึงขยับกลุ่มเป้าหมายกระจายความเสี่ยงออกจากนักท่องเที่ยวหลักอย่างนักท่องเที่ยวจีนไปยังนักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ ด้วย

“การร่วมมือกันของผู้ประกอบการภายในภูมิภาคอาเซียนจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดต่าง ๆ หลากหลาย โดยความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการครั้งนี้ทำให้เกิดการพบปะสานต่อธุรกิจที่ชัดเจนในจำนวนที่มากและเวลาที่สั้น”

“กัมพูชา” เพิ่มเดสติเนชั่นใหม่

นางเจนดา แคลนส์ (Chenda Clans) ประธานสมาคมโรงแรมกัมพูชา ด้านตลาดท่องเที่ยวเสียมเรียบ (The Cambodia Hotel Association) กล่าวว่า ที่ผ่านมาจำนวนและรายได้จากการท่องเที่ยวในกัมพูชากำลังค่อย ๆ เติบโตอย่างช้า ๆ โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2561 ประมาณ 5 ล้านคน และอยู่ระหว่างการขยายพื้นที่การท่องเที่ยวออกไปในวงกว้าง อาทิ รัตนคีรี, สตึงไตร,ตาไก และบันดาคีรี เป็นต้น จากในอดีตที่มีเพียงพนมเปญและเสียมเรียบเท่านั้น

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปี 2562 กัมพูชามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเล็กน้อย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของประเทศในช่วงที่ผ่านมา และกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศยุโรป ดังนั้นสำหรับการสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวอาเซียนในขณะนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะช่วยกันโปรโมตการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศอาเซียน”

นางเจนดากล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า โดยขณะนี้มีโครงการที่น่าสนใจอย่างโครงการ 3 ประเทศ 1 โปรแกรม เป็นหนึ่งในโครงการนำร่อง ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวด้วยโปรแกรมที่หลากหลายและให้ความรู้สึกที่แตกต่าง เพื่อให้สามารถขยายระยะเวลาการพักของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้ยาวนานมากขึ้นและช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของกลุ่มประเทศอาเซียนในการดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่ 10 ประเทศด้วย

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

https://www.prachachat.net/tourism/news-398663

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *