Fri. Apr 19th, 2024
ท่องเที่ยว

กูรูภาคท่องเที่ยวชี้ “เที่ยวอย่างยั่งยืน” คืออนาคต

กูรูภาคการท่องเที่ยวชี้ เทรนด์เที่ยวอย่างยั่งยืน คืออนาคต ทุกฝ่ายต้องร่วมมือและปรับตัวรับเทรนด์นักท่องเที่ยวแคร์ชุมชน-โลกร้อน-สิ่งแวดล้อม จี้รัฐต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยผ่านมาตรการทางภาษี เงินกู้สีเขียว นโยบายคงเส้นคงวา

กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดการประชุมสัมมนา “APEC Symposium : Dialogue to co-create APEC Policy Recommendation Redesigning the Next Phase of Better Tourism” เพื่อรับฟังความเห็นจากมีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงการท่องเที่ยว

ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน จาก 21 สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค และองค์กรระหว่างประเทศด้านการท่องเที่ยวต่อผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม (Deliverables) ด้านการท่องเที่ยว รวมถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเปคให้มีอนาคตที่ดีกว่าเดิม

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยสูญเสียรายได้ไปเป็นจำนวนมาก โดยมีรายได้ลดลง 70-80% ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างมาก

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในอนาคต แนวโน้มรูปแบบการท่องเที่ยวอาจเปลี่ยนไป โดยเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก นักท่องเที่ยวอาจเลือกท่องเที่ยวในสถานที่ที่ไม่พลุกพล่านนัก ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่ได้รับ และเทรนด์นักท่องเที่ยวจะมีความสนใจเฉพาะ (Niche) จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

สวนทางกับการท่องเที่ยวในรูปแบบมวลชน ซึ่งให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายและเทคโนโลยี จนอาจลืมคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มิติด้านความยั่งยืน ความสมดุลในระดับต่าง ๆ อันจะส่งผลให้เกิดความเปราะบางและความปั่นป่วนในธุรกิจภาคการท่องเที่ยว

ดังนั้น เมื่อการระบาดของเชื้อโควิด-19 จบลง ภาคการท่องเที่ยวจำเป็นต้องเข้ามาทบทวนกระแสการท่องเที่ยวใหม่ ๆ เช่น การให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่า มากกว่าปริมาณ การกระจายตลาดนักท่องเที่ยว ลดการพึ่งพิงชาติใดชาติหนึ่งมากเกินไป การกระจายรายได้จากภาคการท่องเที่ยวอย่างเป็นธรรม สนับสนุนการเที่ยวเมืองรอง และที่สำคัญคือ ภาคการท่องเที่ยวต้องทำหน้าที่เป็นผู้ให้ มากกว่าผู้รับประโยชน์จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดวิด ซิมมอนส์ จากมหาวิทยาลินคอน ประเทศนิวซีแลนด์ บรรยายในหัวข้อ “Identifying and developing a policy response” ว่า การท่องเที่ยวเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค อีกทั้งมีส่วนเชื่อมโยงสู่กับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) ที่องค์การสหประชาชาติตั้งเป้าไว้ แต่การที่จะมีการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้นั้น จะขาดภูมิภาคที่ความยั่งยืนไปไม่ได้

ส่วนการบรรยายในหัวข้อ “Sustain Tourism Post COVID : Key Trends and Opportunities for APEC” นายสจ๊วต มัวร์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอิร์ธเช็ค (Earthcheck) และ Executive Director ของ APEC International Centre for Sustainable Tourism กล่าวว่า เทรนด์การท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีหลายประการ ได้แก่ ความสะอาดและความปลอดภัยจะถูกยกระดับให้มีความสำคัญมากขึ้น เน้นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากขึ้น การมีความรับผิดชอบต่อสังคม หรือน้อยแต่มาก (Less is more) คือความหรูหรารูปแบบใหม่

โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว คือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ, สิทธิมนุษยชน, ความเท่าเทียมทางเพศ, การเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน, การระบาดของเชื้อโควิด-19 จะยังเป็นตัวกำหนดทิศทางการทำงานหรือการท่องเที่ยวต่อไป จากการที่คนจำนวนหนึ่งยังทำงานจากที่บ้าน, การกระจายวัคซีนที่ไม่เท่าเทียม ดังนั้น การท่องเที่ยวจำเป็นต้องวางตัวเองให้เป็นตัวแปรในการพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

นายสจ๊วต กล่าวต่อว่า ภาคการท่องเที่ยวต้องใช้มุมมองแบบองค์รวม (Holistic View) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ 1. Pathways เช่น มีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่ชัดเจน, การจัดการห่วงโซ่อุปทาน, การวางแผนความเสี่ยงจากสภาพอากาศ 2. Data & Insight เช่น กรอบการรายงานแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) 3. Transform เช่น กระบวนการคิดเชิงออกแบบ, ให้คนรุ่นใหม่มีส่วนกำหนดนโยบาย และ 4. Give Back เช่น การสนับสนุนคุณค่าทางวัฒนธรรม, การจ้างงาน

ขณะที่ นายภาริน เมธา ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก Airbnb เปิดเผยว่า เทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นในธุรกิจการท่องเที่ยว 3 เทรนด์ใหญ่ คือ 1. ความยืดหยุ่น โดยผลการสำรวจของ Airbnb และ ClearPath Strategies โดยสอบถามชาวสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เม็กซิโก ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย จำนวน 7,500 ตัวอย่าง พบว่า ราว 63% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า คาดหวังความยืดหยุ่นจากนายจ้าง

2. ผู้คนเริ่มใช้เวลาเข้าพักนานขึ้น ผสมผสานการท่องเที่ยวกับการใช้ชีวิต โดยในช่วงฤดูร้อนของปี 2562-2564 การพักเป็นระยะเวลานานของครอบครัวเติบโตขึ้น 75% ตั้งแต่ฤดูร้อน 2019-2021

และ 3. การเกิดขึ้นของ “นักเดินทางมีความใส่ใจ” หรือ Conscious traveler โดยนักท่องเที่ยวต้องการท่องเที่ยวในรูปแบบที่เกิดประโยชน์แก่ชุมชนท้องถิ่น, นักท่องเที่ยวต้องการดื่มด่ำกับชุมชนที่พวกเขาได้ไปเยือน และเทรนด์ใหม่นี้ ยังได้สร้างโอกาสให้กับเส้นทางที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักหรือไม่ค่อยได้รับความนิยม

นอกจากนี้ จากการสำรวจของ Airbnb และ Economist Impact โดยสอบถามชาวออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และไทย จำนวน 4,500 ตัวอย่าง พบว่า 86.8% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งสำคัญต่อตัวพวกเขา อีกทั้ง 69.9% ยังระบุว่า จะพยายามหลีกเลี่ยงการท่องเที่ยวในจุดหมายปลายทางที่มีคนหนาแน่น และมากกว่า 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ต้องการใช้การท่องเที่ยว เป็นสิ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและสังคมอื่น ๆ

นายภาริน กล่าวต่อว่า สำหรับการนำเสนอการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกรูปแบบใหม่ จำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในอนาคต โดยจากการที่การท่องเที่ยว การทำงาน และการใช้ชีวิตเริ่มมีส่วนที่ทับซ้อนกัน จึงต้องดึงดูดเหล่านักท่องเที่ยวระยะยาวที่ใช้ชีวิตและทำงานจากทุกที่ให้มากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ควรลงทุนในทุนมนุษย์ (Human Capital) และเทคโนโลยี โดยผสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจ เพื่อฝึกฝนธุรกิจระดับท้องถิ่น รวมไปถึงการชูความเป็นท้องถิ่นและวัฒนธรรม โดยพยายามรักษาคุณค่า-วัฒนธรรม-มรดกของท้องถิ่น และนำเสนอสู่สายตาภายนอกในรูปแบบที่เหมาะสม

นายปีเตอร์ ริชาร์ด EU-SWICTH-Asia Tourlink Project Manager บรรยายในหัวข้อ “TOURLINK: Sustainable Tourism Supply Chain Management” ระบุว่า เทรนด์การท่องเที่ยวในอนาคต คือ นักท่องเที่ยวจะตระหนึกถึงเรื่องราวของชุมชน และการคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งแรก ๆ ในความคิดของนักท่องเที่ยว และหลังจากการระบาดของโควิด-19 การท่องเที่ยวจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

นายปีเตอร์ กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของไทย (กลุ่มอินบาวด์) อยู่ในตำแหน่งพิเศษที่จะเป็นทูตของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ โดยมีแต้มต่อทั้งการเลือกผลิตภัณฑ์ ที่ผลิตขึ้นและนำเสนอแก่ลูกค้า รวมไปถึงการกระตุ้นซัพพลายเออร์ให้ดำเนินงานบนพื้นฐานความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาด “จุดหมายปลายทางที่มีความยั่งยืน” โดยจุดหมายปลายทางที่ยั่งยืนนั้น ย่อมต้องมีหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำที่มีความมุ่งมั่นจะพัฒนาการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน และทุกฝ่ายที่อยู่ในอุตสาหกรรมต้องให้ความร่วมมือกัน

นายปีเตอร์ กล่าวถึงสิ่งที่ภาคการท่องเที่ยวต้องรีบนำไปปฏิบัติ (Do Now) เช่น

-ออกแบบนโยบายที่ยืดหยุ่นพร้อมรับกับสถานการณ์วิกฤติในอนาคต
-ขยายการให้สินเชื่อสีเขียว โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

ควรทำให้มากขึ้น (Do More) เช่น

-รัฐบาลสนับสนุนภาคธุรกิจให้ปรับตัวสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยอาจใช้เม็ดเงินเข้าสนับสนุน หรือการใช้มาตรการทางภาษีต่าง ๆ

ควรทำให้น้อยลง (Do Less) เช่น

-การสื่อสารที่มากเกิดไปด้วย “message” ที่ผสมกัน
-การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่กะทันหัน ชั่วข้ามคืน

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังรายงานว่า ในงานสัมมนายังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้มีส่วนได้เสียในภาคธุรกิจท่องเที่ยวควรทำให้มากขึ้น-น้อยลง ในหัวข้อ “Economic Well-being in Tourism” โดยผู้ร่วมงานเสนอแนวคิดสิ่งที่ภาคการท่องเที่ยวควรทำให้น้อยลง (Do Less) เช่น การท่องเที่ยวแบบมวลชน (Mass Tourism), การโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ร่วมงานยังเสนอว่า สิ่งที่ภาคการท่องเที่ยวควรทำให้มากขึ้น (Do More) คือ โปรโมตสถานที่ที่ยังไม่ได้รับความนิยม, สนับสนุนท้องถิ่น, ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สตาร์ทอัป หรือธุรกิจ SMEs, มองหาตลาดการท่องเที่ยวใหม่ ๆ และสิ่งที่ควรทำตั้งแต่ตอนนี้ (Do Now) คือ ลงทุนในทุนมนุษย์ (Human Capital), ยกระดับชุมชนท้องถิ่น, เพิ่มมูลค่าให้กับการท่องเที่ยว เป็นต้น

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/tourism/news-850596

Photo by Roberto SCHMIDT / AFP

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *