ใช่ว่าจะมีแต่เฉพาะนักลงทุนต่างชาติเข้ามาปักธงแจ้งเกิดโรงแรมในไทยเท่านั้น นักลงทุนไทยเองก็ไม่น้อยหน้า จากรายงาน ‘เวิลด์ อินเวสต์เมนต์ รีพอร์ต 2018’ โดย UNCTAD ระบุว่า เมื่อปี 2560 การขยายการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของประเทศไทย มีมูลค่ารวมกว่า 19.28 พันล้านเหรียญสหรัฐ
สูงกว่ามูลค่าการลงทุนโดยตรงภายในประเทศซึ่งมีมูลค่า 7.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อใช้แว่นขยายส่องชื่อประเทศที่มีศักยภาพและน่าจับตามอง พบว่า ‘ญี่ปุ่น’ ติดอันดับความน่าสนใจของ FDI ของประเทศไทย โดยเฉพาะในธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต และธุรกิจบริการ
เนื่องจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเป็นกลุ่มที่ฝั่งไทยและญี่ปุ่นต่างมีความสัมพันธ์ที่ดี มีชาวญี่ปุ่นเดินทางมาเที่ยวไทยในปี 2561 กว่า 1.65 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.23% เมื่อเทียบกับปี 2560 ส่วนในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม – พฤษภาคม 2562) มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาไทยแล้ว 7.4 แสนคน เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ส่วนไทย ส่งออกนักท่องเที่ยวไปญี่ปุ่นเมื่อปี 2561 ถึง 1.13 ล้านคน เพิ่มขึ้น 14.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทำสถิตินิวไฮ เป็นปีแรกที่ทะลุ 1 ล้านคน หลังได้ปัจจัยเอื้อจากการเปิดเส้นทางบินใหม่และเพิ่มความถี่ในเส้นทางยอดนิยมระหว่างน่านฟ้าไทย – ญี่ปุ่น โดยเฉพาะบริการจากสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์)
โดยทางสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) คาดการณ์แนวโน้มว่าปีนี้ญี่ปุ่นยังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวไทยมากเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย (ไม่นับรวมประเทศที่มีชายแดนติดไทย) จะมีคนไทยไปเที่ยวแดนอาทิตย์อุทัยไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านคน หลังจาก 4 เดือนแรก (มกราคม – เมษายน) ของปีนี้ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) รายงานว่ามียอดนักท่องเที่ยวไทยไปญี่ปุ่นแล้ว 512,700 คน เพิ่มขึ้น 19.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ด้านบริษัท Japan Hotel Appraisal ให้ข้อมูลเสริมว่า ตามรายงานของ JNTO นักท่องเที่ยวไทยเดินทางมาเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นทุกปี นับตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งญี่ปุ่นเริ่มใช้มาตรการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่นแก่คนไทย มีคนไทยไปญี่ปุ่น 453,642 คน จนถึงปี 2560 มี 987,211 คน อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ในช่วง 5 ปีดังกล่าว สูงถึง 21.5% ถือเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยลักษณะของนักท่องเที่ยวไทยที่มาญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะวางแผนไปเที่ยวญี่ปุ่นภายในระยะเวลา 1 ปี และจากโครงสร้างนักท่องเที่ยวในปัจจุบันพบว่าเป็นกลุ่มเดินทางซ้ำ (Repeater) ถึง 69% และมากกว่า 74% ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในการค้นหาข้อมูลเดินทางท่องเที่ยว ส่วนระยะเวลาในการท่องเที่ยวจะเป็นระยะสั้น
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับมาอีกจะมุ่งหน้าไปยังภูมิภาคท้องถิ่น ปัจจัยหนุนการเดินทาง คือ การถ่ายภาพกับธรรมชาติ และความชื่นชอบในอาหาร (โดยเฉพาะปู) โดยภูมิภาคที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ฮอกไกโด คิวชู จูบุ-โฮคุริคุ-โคชินเอสึ ส่วนสินค้าที่ได้รับความนิยมในการซื้อหา คือ ขนมและผลิตภัณฑ์จากนม
คุณทาเคชิ คิทามูระ ผู้อำนวยการ บริษัท Japan Hotel Appraisal ได้ให้ข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับ ‘แรงจูงใจและโอกาสการลงทุนของบริษัทไทยในธุรกิจโรงแรม ประเทศญี่ปุ่น’ เพิ่มเติมว่า รายได้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น คิดเป็น 2 – 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประเทศญี่ปุ่น ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ยังต่ำมาก ต่างจากประเทศอื่น ๆ ในโลกที่มีรายได้ท่องเที่ยวครองสัดส่วนเฉลี่ย 10% ของจีดีพี แต่หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้วางเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น หนึ่งในนั้น คือ การดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ ผ่านการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวขาเข้า (อินบาวด์) ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจับจ่ายในญี่ปุ่น คู่ขนานไปกับการดึงเงินลงทุน FDI และการส่งออกสินค้าเกษตร
ภาคท่องเที่ยวจึงกลายเป็น ‘ความหวังใหม่’ ของญี่ปุ่น เห็นได้จากการทุ่มสรรพกำลังโปรโมทตลาดอินบาวด์ จนมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนญี่ปุ่นทะลุ 30 ล้านคนในปี 2561 สูงขึ้นราว 12% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 5 ปี เนื่องจากได้รับการส่งเสริมการมาเยือนญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจากประเทศในเอเชีย จำนวนประมาณ 10 ล้านคนในปี 2556 และจะเพิ่มเป็น 40 ล้านคนตามเป้าหมายในปี 2563 ก่อนจะเติบโตเป็น 60 ล้านคนในปี 2573
หลังได้เดินหน้ากระหน่ำดึง ‘เวิลด์อีเวนต์’ มาเรียกแขกทั่วโลก ทั้งมหกรรมกีฬา ‘โอลิมปิก 2020’ ณ กรุงโตเกียว ที่กำลังจะมีขึ้นในกลางปีหน้า และ ‘ดิ โอซาก้า-คันไซ เจแปน เอ็กซ์โป 2025’ ที่เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศอย่างโอซาก้า รวมถึงการแข่งขันกีฬารายการระดับโลกอื่น ๆ
คุณทาเคชิ เล่าเพิ่มเติมว่า เมื่อดูเทรนด์นักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็สอดคล้องกับทั่วโลกที่นิยมเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) มากขึ้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ขยายตัวลดลง แต่ญี่ปุ่นมีความพิเศษตรงตลาดผู้สูงอายุกลุ่ม Active Senior ในประเทศมีการบริโภคด้านสินค้าท่องเที่ยวเชิงรุก ขยายตัวขึ้นมากกว่า 30 ล้านคน
นอกจากนี้ยังมีความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเป็นทุนที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยว เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง (ชินคันเซ็น) ถึงเกาะฮอกไกโดในปี 2573 และยังมีจุดแข็งเรื่องความสวยงามของแต่ละฤดูกาลที่แตกต่าง ออนเซ็นแบบต้นตำรับ และสินค้าท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ใน 47 จังหวัด โดยเรื่องของโรงแรมและอาหารในญี่ปุ่น นับเป็นปัจจัยอันดับ 1 ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะแนะนำแก่ผู้อื่น จากปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลให้อัตราการเข้าพักมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงแรมในเมืองและโรงแรมธุรกิจ ช่วงเวลาที่มักจะยุ่งมาก คือ หน้าเทศกาลซากุระในเดือนมีนาคม – เมษายน หลังจากนั้น ในช่วงโกลเด้นวีคตรงกับเดือนพฤษภาคม, เดือนสิงหาคม ช่วงฤดูกาลของใบไม้เปลี่ยนสีในเดือนพฤศจิกายนจะมีความโดดเด่นของอัตราเข้าพัก โดยตลาดขาเข้า (อินบาวด์) มีแนวโน้มจะช่วยเติมเต็มช่วงซบเซาของตลาดได้
อย่างไรก็ตาม อัตราขาเข้าในภาพรวมทั้งประเทศญี่ปุ่นยังไม่สูงนัก ทางด้านการเข้าพักในรีสอร์ตจะขึ้นอยู่กับฤดูกาลและทำเลที่ตั้ง และยังมีเรื่องของเทรนด์ที่นักเดินทางญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ไม่นิยมเดินทางท่องเที่ยวโดยใช้วันหยุดแบบต่อเนื่องหลายวัน
หลังจากคุณผู้อ่านได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยบวก ที่มีผลต่อการลงทุนโรงแรมในประเทศญี่ปุ่นมาถึงบรรทัดนี้แล้ว ฉบับหน้ามาตามกันต่อถึงอุปสรรคและข้อจำกัดของการลงทุน รวมถึงเคล็ดลับและแง่มุมน่าสนใจจากนักลงทุนไทย หลังได้เข้าไปปักหมุดธุรกิจโรงแรมในญี่ปุ่น
ขอบคุณข้อมูลจาก : นิตยสาร Thai Hotels & Travel Vol.10 No.57
You may also like
-
“เซ็นทารา” จัดโปรฯแรง ข้อเสนอห้องพักฟรี “COSI Celebration” ตลอดเดือน มิ.ย.65
-
เซ็นทาราจัดแคมเปญ Maldives Summer Escape สัมผัสเกาะสวรรค์กลางทะเล
-
Airbnb ผนึก ททท. ลดราคาที่พักในแหล่งธรรมชาติเพิ่ม 500 บาท
-
เอสโฮเทลเปิดแผนลงทุน 3 ปี 7.3 พันล้าน ขยายพอร์ตดันรายได้โต 3 เท่า
-
เจาะเทรนด์ ‘ประสบการณ์’ โรงแรม ยกระดับให้เป็น ‘มากกว่าที่พัก’