Fri. Apr 19th, 2024
ศึกชิงทัวริสต์แดนกิมจิ ‘ไทย’ vs ‘เวียดนาม’

ศึกชิงทัวริสต์แดนกิมจิ ‘ไทย’ vs ‘เวียดนาม’

ผู้ประกอบการโรงแรมที่ทำตลาดนักท่องเที่ยวเกาหลี โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ในโลเกชันจุดหมายชายทะเล เช่น พัทยา และภูเก็ตอาจจะตกใจไม่น้อย เมื่อเห็นยอดการเข้าพักของทัวริสต์จากแดนกิมจิหดตัว ทั้งที่ภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวเกาหลีมาไทยยังเติบโตในระดับเอาอยู่

เหตุที่ไม่หวือหวาเหมือนเคย เป็นเพราะนักท่องเที่ยวเกาหลีได้เบนเข็มความสนใจ มุ่งหน้าสู่จุดหมายชายทะเลแห่งใหม่ ไม่ใกล้ไม่ไกลจากไทย จะใครเสียอีก ถ้าไม่ใช่ ‘เวียดนาม’

คุณสิริเกศอนงค์ ไตรรัตนทรงพล ผู้อำนวยการสำนักงานโซล การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เริ่มต้นเล่าถึงภาพรวมตลาดนักท่องเที่ยวเกาหลีไปต่างประเทศในปี 2561 ที่ผ่านมาว่า มีขนาดมากถึง 28.69 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.27% เมื่อเทียบกับปีก่อน พบว่าคู่แข่งอย่างเวียดนามชิงความนิยมจากนักท่องเที่ยวเกาหลีไปได้อย่างมาก สามารถสร้างสถิติใหม่พุ่งสู่อันดับ 1 ของจุดหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยจำนวน 3.48 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับตัวเลขปี 2560 ซึ่งปิดไปที่ 1.7 ล้านคน ใกล้เคียงกับจำนวนนักท่องเที่ยวเกาหลีมาไทยในปีเดียวกัน

ส่วนไทย ปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเกาหลีมาเยือน 1.79 ล้านคน เติบโต 5.11% เมื่อเทียบกับปีก่อน สร้างรายได้กว่า 8.04 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.48%

แม้ปีที่ผ่านมา ตลาด ‘เกาหลีเที่ยวไทย’ จะ ‘พลาดเป้าหมาย’ ไปเล็กน้อย ซึ่งตั้งการเติบโตเชิงจำนวนและรายได้ไว้ที่ 5.38% และ 9% ตามลำดับ อัตราการขยายตัวต่างจากปี 2560 ที่ไทยสามารถดึงนักท่องเที่ยวเกาหลีมาเยือน 1.71 ล้านคน มากขึ้นถึง 16.72% เมื่อเทียบกับปี 2559 สร้างรายได้ 7.54 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 19% แต่ก็ยังถือว่าปีนี้ไทยสร้างการเติบโตได้ค่อนข้างดี ตัวเลขค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อทริปอยู่ที่ 45,832 บาทต่อคน หรือวันละ 5,849 บาทต่อคน เพิ่มขึ้น 3% จากจำนวนวันพำนักในไทยเฉลี่ย 7.6 วัน

สำหรับเหตุผลที่ทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวเกาหลีนิยมไปเที่ยวเวียดนามอย่างมากเมื่อปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากนโยบายของรัฐบาลเวียดนามที่มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งมิติการลงทุนพัฒนาโรงแรม แหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ การพัฒนาสนามบินตามหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อรองรับดีมานด์จากนักท่องเที่ยวแล้ว

ศึกชิงทัวริสต์แดนกิมจิ ‘ไทย’ vs ‘เวียดนาม’

เมื่อเจาะเฉพาะจำนวน ‘เที่ยวบินตรง’ ระหว่างเกาหลีกับเวียดนาม พบว่ามีมากถึง 489 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จาก 11 เส้นทางบิน กระจายไปยังเมืองชายทะเลหลาย ๆ จุดหมายในเวียดนาม ได้แก่ ดานัง ครองสัดส่วนมากที่สุด 40% ของเที่ยวบินสู่เวียดนาม จาก 4 สนามบินในเกาหลี (อินชอน, ปูซาน, แดกู และมูอัน) รองลงมาเป็นญาจาง 10% ฟู้โกว๊ก 3% และไฮฟอง 1% ทั้ง 3 เมืองหลังเป็นเที่ยวบินจากสนามบินอินชอน ช่วยเสริมทัพเมืองหลักอย่างฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้ (ไซง่อน) ซึ่งมีเที่ยวบินจากสนามบินอินชอนและปูซานคิดเป็น 24% และ 22% ตามลำดับ และจำนวนเที่ยวบินจากเกาหลียังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะทางสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) 3 รายใหม่ในเกาหลี ได้แก่ Fly Gangwon, Aero K และ Air Premia มีแผนเปิดเส้นทางบินไปเวียดนาม รวมถึงฟิลิปปินส์ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวเกาหลีไปเยือน 1.58 ล้านคนเมื่อปีที่ผ่านมา มากเป็นอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากไทย

ส่วนจำนวนเที่ยวบินตรงระหว่างเกาหลีกับไทยนั้น ปัจจุบันอยู่ที่ 217 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จาก 8 เส้นทางบิน (จาก 5 สนามบิน ได้แก่ อินชอน ปูซาน แดกู มูอัน และเจจู) สู่ 3 เมืองหลักอย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต โดย ททท. ได้พยายามเข้าไปเจรจากับสายการบินโลว์คอสต์ 3 เจ้าใหม่นี้ ให้เปิดเส้นทางบินมาไทยด้วย

ศึกชิงทัวริสต์แดนกิมจิ ‘ไทย’ vs ‘เวียดนาม’

“แม้ว่าปีที่ผ่านมา เวียดนามจะสามารถชิงแชมป์จุดหมายยอดนิยมอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของชาวเกาหลีไปจากไทยได้ แต่ ททท. จะเร่งกระตุ้นตลาดเกาหลีเที่ยวไทยให้สามารถรักษาระดับการเติบโตได้ที่ 5% ในเชิงจำนวน มีนักท่องเที่ยวเกาหลีในปี 2562 นี้เพิ่มเป็น 1.88 ล้านคน ขณะที่รายได้ตั้งเป้าเติบโต 10% เป็นประมาณ 8.8 หมื่นล้านบาท” ผ่านกลยุทธ์ ‘กระตุ้นการใช้จ่าย’ ของนักท่องเที่ยวกลุ่มระดับกลางถึงบน พร้อมส่งเสริมสินค้าท่องเที่ยวที่สอดรับกับพฤติกรรมความต้องการ เช่น โรงแรมและรีสอร์ตจากแบรนด์หรือเชนที่มีชื่อเสียง เพราะชาวเกาหลีเป็นตลาดที่ยังยึดติดกับแบรนด์โรงแรมมากพอสมควร

โดยนักท่องเที่ยว 3 กลุ่มศักยภาพด้านกำลังซื้อสูงระดับ ‘ลักซ์ชัวรี’ ที่ ททท. อยากแนะนำให้ผู้ประกอบการโรงแรมและท่องเที่ยวรุกทำตลาด คือ ‘คู่แต่งงานและฮันนีมูน’ แม้แนวโน้มคู่แต่งงานใหม่ในเกาหลีจะลดน้อยลงในแต่ละปี โดยสถิติปี 2561 มีคู่รักชาวเกาหลีแต่งงาน 2.57 แสนคู่ ลดลงจาก 2.64 แสนคู่ และ 2.81 แสนคู่ของปี 2560 และ 2559 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเกาหลีที่เปลี่ยนไป อาทิ ประเด็นอัตราการจ้างงานที่อยู่ในภาวะถดถอย มีการเซ็นสัญญาจ้างงานแบบระยะสั้นมากขึ้น ส่งผลต่อความมั่นคงทางการเงิน ทำให้ชาวเกาหลีตัดสินใจแต่งงานน้อยลง

ศึกชิงทัวริสต์แดนกิมจิ ‘ไทย’ vs ‘เวียดนาม’

จนเกิดเป็น ‘อิล อีโคโนมี’ โดยมีที่มาจากคำว่า อิล ในภาษาเกาหลีซึ่งแปลว่า ‘1’ สะท้อนภาพการครองตัวเป็นโสดหรืออยู่ตัวคนเดียวของชาวเกาหลีในปัจจุบันนี้ได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าหาช่องว่างทางการตลาดให้เจอ จะพบว่าคู่แต่งงานใหม่สนใจจัดงาน ‘ปาร์ตี้สละโสด’ มากขึ้น โดยเฉพาะฝั่งเจ้าสาว เปิดโอกาสให้โรงแรมและรีสอร์ตในไทยเข้ามาจับเทรนด์นี้

ศึกชิงทัวริสต์แดนกิมจิ ‘ไทย’ vs ‘เวียดนาม’

นอกจากนี้ยังมีตลาด ‘กอล์ฟ เลิฟเวอร์’ น่าสนใจตรงตัวเลขประชากรผู้เล่นกอล์ฟในเกาหลีที่มีถึง 7.61 ล้านคน และนิยมเดินทางไปเล่นกอล์ฟที่ต่างประเทศมากถึง 2.64 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 35% ของประชากรเล่นกอล์ฟชาวเกาหลีทั้งหมด และส่วนใหญ่กว่า 42% ของผู้เล่นกอล์ฟในต่างประเทศ มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 6 ล้านวอน หรือประมาณ 1.7 แสนบาท ข้อดีที่น่าเข้าไปจับตลาดนี้ คือ สามารถออกเดินทางได้ตลอดทั้งปี และใช้จ่ายมากกว่า 5 หมื่นบาทต่อทริปอีกด้วย

ส่วนอีกกลุ่มคือ “แอคทีฟ ซีเนียร์” (Active Senior) หรือผู้สูงวัยชาวเกาหลี ซึ่งส่วนใหญ่กระฉับกระเฉงดี มีสุขภาพแข็งแรง เพราะชอบออกกำลังกายด้วยการเดินเขา จึงสามารถเดินเหินไปไหนมาไหนได้สะดวก นอกจากจะมีความพร้อมเรื่องสุขภาพร่างกายและเวลาแล้ว ยังมีศักยภาพในการใช้จ่ายด้วย โดยถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาขึ้นมากที่สุด เพราะจากสถิติปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้สูงวัยชาวเกาหลีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศมากเกือบ 3 ล้านคน หรือคิดเป็น 23% ของประชากรเกาหลีที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปทั้งหมดเลยทีเดียว เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งมีจำนวนอยู่ที่ 2.54 ล้านคน

ศึกชิงทัวริสต์แดนกิมจิ ‘ไทย’ vs ‘เวียดนาม’

นอกเหนือจากการรู้จักตลาดที่มีศักยภาพแล้ว ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรู้รายละเอียดเกี่ยวกับช่องทางสื่อสารที่จะช่วยอัปเดตและส่งต่อข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวเกาหลีได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้น คือ ‘โซเชียลมีเดีย’ ที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ดีที่สุด โดยจากแนวโน้มผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในเกาหลี คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 28.16 ล้านผู้ใช้งานในปี 2565 เพิ่มจากปีนี้ซึ่งคาดว่าอยู่ที่ 26.32 ล้านคน

ความนิยมยังคงเป็นเฟซบุ๊ก 33.1 ล้านผู้ใช้งาน รองลงมา คือ กาเกา สตอรี่ (Kakao Story) 25 ล้านผู้ใช้, ยูทูป 23 ล้านผู้ใช้, อินสตาแกรม 20.6 ล้านผู้ใช้งาน, และแบนด์ (Band) 16.7 ล้านผู้ใช้งาน นอกจากนี้ยังมีโซเชียลฯ อื่น ๆ ของท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมเช่นกัน อาทิ เนเวอร์ คาเฟ่ (Naver Café) 5.4 ล้านผู้ใช้งาน

ทั้งหมดนี้ คือ ภาพรวมของสถานการณ์ตลาดนักท่องเที่ยวเกาหลีในปัจจุบัน หวังว่าผู้ประกอบการโรงแรมจะนำความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ไปเฟ้นหากลยุทธ์ที่เหมาะกับโรงแรมของคุณเอง เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวแดนกิมจิ


ขอบคุณข้อมูลจาก : นิตยสาร Thai Hotels & Travel Vol.10 No.56

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *