Tue. Apr 23rd, 2024
ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ….

ช่วงนี้สมาชิกของสมาคมโรงแรมไทย และสมาคมต่างๆ หลายสมาคมกำลังศึกษา ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อยู่อย่างเคร่งเครียด เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับความเป็นความตายของธุรกิจหลายธุรกิจ กฎหมายนี้ที่จริงคือการรวมกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน และกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่มาไว้ในฉบับเดียวกัน ประชาชนจะได้ไม่สับสน

ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติในวาระที่หนึ่ง (วาระรับหลักการ) และกำลังพิจารณาอยู่ในวาระที่สอง (ขั้นแปรญัตติ) โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญที่สภานิติบัญญัติตั้งขึ้น คงจะต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าจะออกมาใช้ได้ ซึ่งรัฐบาลก็ตั้งใจว่าจะสามารถใช้ได้ในปีภาษี ๒๕๖๒

ขณะนี้สมาคมโรงแรมไทยได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อศึกษาเปรียบเทียบอัตราภาษีทั้งเก่าและใหม่ เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลและจัดทำเป็นข้อเสนอนำส่งผู้รับผิดชอบ เป็นการต่อไป อย่างไรก็ตาม จะพยายามแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ให้ทราบพอให้ได้ทราบว่านอกจากอัตราการจัดเก็บขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วยังมีเรื่องอื่นอีกมากที่ควรรู้ ดังนี้

  1. อัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ตามมาตรา ๓๔ มีดังนี้
    • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในการเกษตร ไม่เกินร้อยละ ๐.๒ ของฐานภาษี
    •  ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัย ไม่เกิน ๐.๕ ของฐานภาษี
    • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม ไม่เกินร้อยละ ๒.๐ ของฐานภาษี
    • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า ไม่เกินร้อยละ ๒.๐ ของฐานภาษี
  2. การกำหนดอัตราที่จะจัดเก็บจริงครั้งแรกให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยไม่เกินอัตราที่กำหนดในข้อ ๑)
  3. ข้อยกเว้นที่อยู่อาศัย คือ ถ้าต่ำกว่า ๕๐ ล้านไม่ต้องเสียภาษี (ตามมาตรา ๓๗)
  4. ที่ดินว่างเปล่านับจากเสียภาษีครั้งแรกแล้วยังทิ้งไว้เหมือนเดิมสามปีติดต่อกันให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ๐.๕ และเพิ่มขึ้นทุกๆ สามปี แต่ไม่เกินร้อยละ ๕.๐ (ตามมาตรา ๓๙)
  5. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดส่งแบบประเมินภาษีมาให้เรา (เจ้าของหรือผู้ครอบครอง) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี (มาตรา ๔๐) และเราต้องเสียภาษีภายในเดือนเมษายน (มาตรา ๔๒) ผ่อนชำระได้ (มาตรา ๔๘)
  6. หากมีความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม หรือเหตุการณ์ กิจการ หรือสภาพแห่งท้องที่ สามารถลดภาษีได้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาแต่ไม่เกินร้อยละเก้าสิบ (มาตรา ๕๑)
  7. หากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่ใดได้รับความ เสียหายมากหรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย อาจประกาศลด หรือยกเว้นภาษีชั่วคราวได้ (มาตรา ๕๒) แต่ถ้าเหตุเกิดเป็น เรื่องส่วนบุคคลก็มีสิทธิยื่นคำขอลดหรือยกเว้นได้เช่นกัน (มาตรา ๕๓) นั่นคือสาระที่ควรรู้ของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งร่างสุดท้ายหน้าตาจะเป็นอย่างไร สมาคมจะติดตามมาแจ้งให้ทราบต่อไป

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *