Fri. Apr 19th, 2024
พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547

พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547

กฎหมายว่าด้วยโรงแรม ฉบับที่ใช้ในปัจจุบันมีอายุ 10 ปีกับอีก 2 เดือน นับแต่มีผลบังคับใช้ ที่จริงกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ยังมีข้อจำกัดในตัวของมันเองที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง

มีนักกฎหมายที่รู้จักกันท่านหนึ่ง ซึ่งรับงานสอนกฎหมายโรงแรม และบังเอิญได้พบกัน ท่านปรารภกับผมว่า ขณะที่ผมมีส่วนในการร่างกฎหมายฉบับนี้ทำไมไม่ทำให้กฎหมายสามารถใช้ได้เบ็ดเสร็จ โดยไม่ต้องมาดูกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ยากลำบาก ทำให้การขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมต้องดูกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับ

ผมต้องอธิบายความ เพื่อให้ท่านได้เข้าใจว่า การร่างกฎหมายที่มีกฎหมายอื่นเกี่ยวพันด้วยเป็นการร่างที่ลำบาก กฎหมายโรงแรมฉบับนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำโรงแรม ซึ่งประกอบด้วยตัวอาคารที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายควบคุมอาคาร ถ้าเป็นอาคารใหญ่ก็ต้องมีกฎหมายควบคุมเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมแล้วยังทำงานไม่ได้ เพราะมีกฎหมายควบคุมความประพฤติอีกหลายอย่าง เช่น สุขลักษณะของอาคาร การทำภัตตาคาร ทำครัว การเก็บวัตถุดิบในการทำอาหาร ขยะมูลฝอย การทสระว่ายน้ำ ฯลฯ อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข จะขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็อยู่ภายใต้กฎหมายสุรา และกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ

ผมเองก็สงสัยเหมือนกับท่านนักกฎหมายท่านนี้เช่นกัน ขณะที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณากฎหมายว่าด้วยโรงแรมในชั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ขอว่าให้กฎหมายว่าด้วยโรงแรมฉบับนี้สามารถเบ็ดเสร็จในตัวเลยได้ไหม ท่านประธานคณะพิจารณากฎหมายนี้ก็ได้ชี้แจงชัดเจนว่า กฎหมายที่อยู่ในชั้นเดียวกันและมาทีหลังไม่สามารถไปยกเว้นกฎหมายที่มีอยู่ก่อนแต่สามารถตั้งข้อสังเกตท้ายกฎหมายได้ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีนำไปแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับกฎหมายนี้ได้

กฎหมาย โรงแรม

จึงเป็นที่มาของข้อสังเกตท้ายกฎหมายอยู่ 4 – 5 ประเด็นและเป็นที่มาของการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ในวันนี้ให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยโรงแรม อาทิ

  1. เรื่องที่จอดรถ ข้อสังเกตบอกว่าในเมืองต่างๆ ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวของโลก ไม่มีใครบังคับให้โรงแรมต้องมีที่จอดรถ เพราะราคาที่ดินมีราคาแพง ควรนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่ก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจ รัฐเองก็จะได้ภาษีเพิ่มขึ้นตามมา จึงมีการขอแก้ไขกฎกระทรวงที่ออกตามความในกฎหมายควบคุมอาคาร แต่ก็มีการทักท้วงจากบางท่าน จนเหลือแค่โรงแรมประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 เท่านั้นที่ได้รับการยกเว้น ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย
  2. เรื่องอาคารบางประเภทที่เป็นโรงแรมเล็กๆ ควรได้รับการลดหย่อนข้อจำกัดบางประการที่ไม่เกี่ยวกับความปลอดภัย เช่น อาคารไม่เกิน 3 ชั้น อาคารที่เป็นบังกะโลหรืออาคารที่สร้างนานแล้วมาขอเปลี่ยนการใช้เป็นอาคารโรงแรม ก็ให้ใช้กฎหมายควบคุมอาคารที่บังคับใช้ในขณะสร้างอาคารมาใช้บังคับ ซึ่งขณะนี้การแก้กฎกระทรวงได้ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
  3. การประกาศใช้ผังเมืองต้องคำนึงถึงสภาพความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหลายพื้นที่ที่ผังเมืองไม่อนุญาตให้สร้างโรงแรมแต่สนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ห้ามสร้างโรงแรม เช่น บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์หรือบริเวณใกล้สนามบินสุวรรณภูมิฝั่งกรุงเทพมหานครที่ห้ามสร้างโรงแรม แต่นักท่องเที่ยวที่รอต่อเครื่องบิน 4 – 6 ชั่วโมงไม่ทราบจะรอที่ไหน ซึ่งก็ได้รับการพิจารณารวมกับข้อ 2 แล้ว คาดว่าไม่น่าจะเกิน 2 เดือนคงจะประกาศใช้ได้

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สมาคมโรงแรมไทยได้พยายามประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของกฎหมายที่ทำให้การทำธุรกิจโรงแรมสามารถทำได้ง่ายขึ้น ครั้งหน้า จะนำเรื่องกฎหมาย กฎกระทรวง ประกาศต่างๆ ที่สมาคมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐแก้ไขจนเป็นผลสำเร็จมาเล่าให้ฟังต่อ

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *