Sat. Apr 20th, 2024
ส่อง พ.ร.บ. สถานประกอบการสปาไทย

ส่อง พ.ร.บ. สถานประกอบการสปาไทย กันยายนนี้ ดีเดย์ รัฐฝันใช้เป็นเครื่องคัดกรองมาตรฐาน ยกระดับราคาดันไทยผู้นำสปาระดับโลก

คุณอภิชัย เจียรอดิศักดิ์ ที่ปรึกษาสมาพันธ์สปาไทย ระบุว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจสปาไทยเติบโตขึ้นมาก พร้อมๆ กับธุรกิจบริการทางการแพทย์และสุขภาพ (เวลเนส ทัวริซึ่ม) 

โดยเฉพาะจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้การพัฒนาแรงงานเกิดขึ้นไม่ทัน จนเกิดปัญหาการแข่งขันเรื่องราคา ทำให้สปาของไทยมีราคาถูกมาก โดยสปาที่บริการทั่วไปตามถนนต่างๆ มีราคาเพียง 150 บาทต่อชั่วโมง หากเป็นสปาตามโรงแรม พบว่าราคาในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นราคา 8 พันบาทต่อชั่วโมง แต่สปาไทยมีราคาเพียง 1.6 พันบาทต่อชั่วโมง ถือว่าแตกต่างกันมากเกินไป

“จากปัญหาการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาฝึกเป็นหมอนวด ทำให้สูญเสียเอกลักษณ์ความเป็นไทย จนปัจจุบันมีแนวโน้ม เกิดสปาพริตตี้เป็นจำนวนมาก เป็นผลให้ภาพลักษณ์สปาของไทยเสียจากมุมมองของนักท่องเที่ยวที่ต้องการ ดื่มด่ำกับศาสตร์การนวดของไทยอย่างแท้จริง จากข้อมูล พบว่า ปัจจุบันมีร้านสปาทั่วประเทศราว 2,000 แห่ง แต่ขึ้นทะเบียนจริงเพียง 500 แห่ง และไม่มีท่าทีจะหยุด จนอาจเกิดปัญหาล้นตลาดเหมือนกับธุรกิจโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งภาครัฐตั้งเป้าหมายจะเพิ่มรายได้จากธุรกิจนี้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจปีละไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่กลับไร้มาตรการควบคุมในทิศทางเดียวกัน เสมือนมุ่งเป้าการเติบโตจนลืมควบคุมคุณภาพ ส่งผลเสีย ต่อสปาไทยมีการแข่งขันแบบไร้ทิศทาง”

คุณรังสิมันตุ์ กิ่งแก้ว นายกสมาคมสปาจังหวัดภูเก็ต แสดงความเห็นว่า กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว อาทิ สปาและการนวด เติบโตทั้งในเรื่องของปริมาณคนใช้บริการและผู้ประกอบการ ภาครัฐไทยต้องดูแลและกำหนดทิศทางให้ชัดเจน เพราะจากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้าเที่ยวภูเก็ต พบว่า มีการเข้าทำสปา 57% หากประเมินนักท่องเที่ยว ทั่วประเทศจะมีคนเข้าใช้บริการสปาประมาณ 13 ล้านคน มีค่าใช้จ่ายต่อหัว 2,000 บาทต่อคน เท่ากับไทยจะมีรายได้จากธุรกิจสปาเกิดขึ้นราว 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี

ด้านคุณกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย ระบุว่า ขณะนี้ ภาครัฐเตรียมประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559 นี้ หลังจากใช้เวลาผลักดันมา 5 ปี ซึ่งสาระกฎหมายมีทั้งหมด 7 หมวด และบทเฉพาะกาลรวม 49 มาตรา โดยหัวใจสำคัญ คือ มีเรื่องโทษจำคุก และค่าปรับมาเป็นตัวกำหนดกติกา ทั้งผู้ดำเนินกิจการ หากเคยมีประวัติค้ามนุษย์ จะถูกขึ้นแบล็คลิสต์ ไม่สามารถกลับเข้ามาดำเนินธุรกิจนี้อีกเลย ผู้จัดการธุรกิจสปาต้องผ่านการทดสอบเพื่อรับอนุญาต จากเดิมเพียงแค่ผ่านการอบรมก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว ขณะที่ผู้ให้บริการหรือ หมอนวด ต้องได้รับการอบรมและต้องขอขึ้นทะเบียนกับ หน่วยงานรัฐ หากดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายจะถูกถอนใบขึ้นทะเบียน เป็นเวลา 1 ปี แล้วจึงค่อยให้โอกาสมาขึ้นทะเบียนใหม่

กฏหมาย ธุรกิจสปา

พ.ร.บ.สถานประกอบการฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลครั้งนี้ ถือเป็นฉบับแรกด้านธุรกิจสปาของโลกก็ว่าได้ ที่มี การควบคุมเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยเดียวกัน เพื่อยกระดับและทำให้ต่างชาติรับรู้ และมั่นใจเมื่อมาใช้บริการสปาเมืองไทยหลังจากนี้ นักท่องเที่ยวเกิดความความเชื่อมั่นว่า สปามีประโยชน์ต่อสุขภาพจริง ไม่ถูกมองว่าแอบแฝงบริการทางเพศ สามารถสร้างงานและรายได้ให้ประเทศเพิ่มขึ้น ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี เพราะขณะนี้ธุรกิจสปา ของไทยโด่งดังทั่วโลก มีอัตราขยายตัวกว่า 15% ต่อปี

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวมีผลควบคุมสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ได้แก่

  1. กิจการสปาซึ่งให้การดูแลเสริมสร้างสุขภาพโดยใช้น้ำบำบัด นวดร่างกายเป็นหลัก และมีบริการอื่นเสริม อย่างน้อย 3 อย่าง ที่กำหนดในกิจการสปา เช่น การให้บริการด้วยความร้อน อาทิ ประคบหินร้อน อบซาวน่า หรือการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ อาทิ แอโรบิค ฟิตเนส โยคะ ฤาษีดัดตน
  2. กิจการนวดเพื่อสุขภาพ หรือเพื่อเสริมความงาม เช่น นวดหน้า พอกหน้า ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับนี้สามารถกำหนดเป็นกฎกระทรวงในภายหลัง เพื่อใช้บังคับกำกับกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่ไม่ใช่การรักษาพยาบาล เช่น เนิร์สซิ่งโฮมดูแลผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม หากมองลึกถึงเนื้อหากฎหมาย จะพบว่า สถานประกอบการต้องมีระบบสอบถาม บันทึกข้อมูล และคัดกรองผู้รับบริการ เพื่อจัดบริการที่เหมาะสมแก่สุขภาพของผู้รับบริการ ควบคุมไม่ให้ผู้ให้บริการออกไปให้บริการข้างนอกสถานประกอบการในเวลาทำงาน ป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ ห้ามเจ้าของกิจการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณต่างๆ เกินจริง ตลอดจนโฆษณาที่ส่อในทางลามกอนาจาร หากฝ่าฝืน เช่น แอบอ้างใช้ชื่อว่าเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ มีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท ลักลอบเปิดสถานประกอบการเพื่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนใบอนุญาต เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พบว่า สถานประกอบการฯ ที่ได้รับใบอนุญาตตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 ที่ออกตามพ.ร.บ.สถานบริการ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2509 มีจำนวน 1,609 แห่ง ในจำนวนดังกล่าวอยู่ในกรุงเทพฯ 344 แห่ง หากแบ่งเป็นประเภทการบริการ ประกอบด้วยสปา 509 แห่ง นวด 1,070 แห่ง และเสริมสวย 30 แห่ง นับจากช่วงเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป ต้องลุ้นว่า กฎหมายที่จะประกาศบังคับด้านธุรกิจสปาใช้เป็นครั้งแรก จะเขย่าวงการนี้มากน้อยเพียงใด จะเป็นเครื่องมือช่วยคัดกรองสปาเถื่อนได้มากน้อยเพียงใด และเป็นแรงผลักให้สปาที่ดำเนินการถูกต้องมาโดยตลอด สามารถเฉิดฉายได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนปรับเพิ่มขึ้นราคารองรับกับความนิยมของนักท่องเที่ยวทั้งจากยุโรปและเอเชียที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้มากน้อยเพียงใด และสุดท้ายจะเอื้อต่อภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยขนาดไหน

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *