Fri. Apr 19th, 2024
พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงาน ของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงาน ของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นวันที่คนทำธุรกิจจำนวนหนึ่งต้องตื่นเต้นตกใจกับกฎหมายที่โผล่มาบังคับใช้แบบกะทันหัน ซึ่งก็คือกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยรวมกฎหมาย 2 ฉบับที่ออกมาก่อนหน้านี้ เข้าด้วยกัน คือ พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559

ที่บอกว่าตกอกตกใจเพราะกฎหมายฉบับใหม่ได้เพิ่มโทษขึ้นประมาณ 20 เท่า เช่น เดิมโทษปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท เป็น ปรับตั้งแต่สี่แสนถึงแปดแสนบาท จึงเป็นที่มาของการประท้วงไม่เห็นด้วยโดยองค์กรใหญ่ เช่น สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยว่า การออกกฎหมายโดยไม่ให้เวลาเตรียมตัวเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทำให้แรงงานที่ทำผิดกฎหมายตกใจรีบเดินทางออกจากประเทศจำนวนมากและเป็นผลให้

งานหลายประเภทต้องหยุดชะงัก เช่น งานก่อสร้าง งานภัตตาคาร งานในโรงงานขนาดเล็กและกลาง งานบ้านและจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ฝ่ายราชการซึ่งผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ คือ กรมจัดหางาน กระทรวงแรงงานก็ออกมาชี้แจงว่าเรื่องแรงงานต่างด้าวนี้ได้มีการผ่อนผันมาหลายครั้งแล้ว แต่นายจ้างไม่ยอมทำให้ถูกต้องจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มข้น จะถูกจะผิดกันอย่างไรก็คงแล้วแต่มุมมองของแต่ละฝ่ายก็แล้วกัน

ในที่สุด เมื่อมีข้อพิพาททำท่าจะบานปลาย หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงต้องอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ออกมาตรการชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องชั่วคราวตามที่หลายฝ่ายเสนอ ดังมีความสำคัญ ดังนี้

  1. ยังไม่ใช้บังคับ 4 มาตรา จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 คือ
    • ถ้าคนต่างด้าวทำงานที่ห้ามไว้หรือทำงานโดยไม่มี ใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับตั้งแต่ สองพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 101)
    • ผู้รับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่ห้ามไว้หรือรับคนไม่มี ใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึง แปดแสนบาทต่อคน (มาตรา 102)
    • งานจำเป็นเร่งด่วนที่อธิบดีประกาศ (16 ประเภท) เช่น งานจัดนิทรรศการ งานบรรยายพิเศษฯ คนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาชั่วคราวต้องแจ้งให้อธิบดีทราบ มิฉะนั้นต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท (มาตรา 119)
    • รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีชื่อตนเองเป็นนายจ้าง คือ ถ้าลูกจ้างไม่ทำงานกับนายจ้างเดิม นายจ้างใหม่ก็ต้องไปขอเปลี่ยชื่อนายจ้างให้ตรง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงแปดแสนบาท (มาตรา 122)
  2. ให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560
  3. ห้ามเจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์ที่มิควรได้ใดๆ ทั้งสิ้น
  4. ให้กระทรวงแรงงานพิจารณาปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้อีกครั้งภายใน 120 วันและให้รับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องด้วย

ก็เป็นอันว่าเหตุการณ์ตึงเครียดก็สามารถคลี่คลายได้ชั่วคราว ส่วนผลการปรับปรุงกฎหมายจะเป็นเช่นไร สมาคมจะติดตามมาแจ้งให้สมาชิกทราบในโอกาสต่อไป

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *