Tue. Apr 23rd, 2024
ชี้ ต้องแก้กฎหมายออมเงินเหตุทำปชช.เสียสิทธิ

ชี้ ต้องแก้กฎหมายออมเงินเหตุทำปชช.เสียสิทธิ

นักวิชาการชี้ ต้องแก้มาตรา 39 พ.ร.บ.การออมฯ เพราะทำประชาชนเสียสิทธิ เหตุตั้งเงื่อนไข ไม่คำนวณเงินออมลูกจ้างย้ายงาน บำนาญลดไม่รู้ตัว วอนจัดระบบการออมอย่างเรียบง่าย เท่าเทียม ไม่สร้างเงื่อนไข 

จากกรณีวุฒิสภามีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่ง ชาติ พ.ศ. ที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว และขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ (วุฒิสภา) แต่พบว่า มาตรา 39 ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีข้อจำกัด คือ หากแรงงานนอกระบบย้ายเข้าระบบใดระบบหนึ่ง แม้จะสามารถออมเงินต่อได้ แต่จะไม่นำมาคำนวณในภายหลัง ทำให้แรงงานได้รับบำนาญไม่เพียงพอต่อการยังชีพและต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ข้อ จำกัดดังกล่าวจะทำให้เกิดผลเสียโดยตรงกับประชาชน เพราะโดยธรรมชาติของแรงงานนอกระบบมักมีรายได้น้อยกว่าคนทั่วไป และมีการแสวงหาโอกาสใหม่ที่ดีกว่าเสมอ ทำให้เกิดการย้ายงานอยู่บ่อยครั้ง การสร้างเงื่อนไข ว่า เมื่อย้ายงานไปเข้าระบบประกันสังคมแล้ว สามารถออมต่อได้ แต่เงินส่วนนี้จะไม่ถูกนำมาคำนวณในการจ่ายบำนาญนั้น จะทำให้เมื่อแรงงานอายุ 60 ปี จะไม่ได้รับเงินบำนาญเพียงพอต่อการดำรงชีพ แถมยังมีเงื่อนไขว่า หากคำนวณแล้วบำนาญที่ได้รับต่ำกว่าที่รัฐบาลให้กับผู้สูงวัย จะให้ได้รับบำนาญแค่ในส่วนที่แรงงานออมไว้ (เงินออมหมดเมื่อไร ก็หยุดจ่ายบำนาญ) นอกจากนี้ ระบบที่รัฐสร้างขึ้นยังมีค่าบริหารจัดการราคาแพงมาก เพราะนำไปใช้ในการตรวจสอบสิทธิของประชาชน ทำให้เบียดเงินออมของประชาชนที่ควรจะได้รับให้น้อยลงไปอีก

“ขณะนี้ แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่ามีเงื่อนไขเหล่านี้เกิดขึ้น เปรียบเสมือนสินค้าลดราคาในห้าง ที่เมื่อไปถึงห้างจึงจะรู้ว่าการลดราคานั้นมีเงื่อนไข รัฐบาลควรสร้างระบบการออมที่เรียบง่าย ปฏิบัติต่อประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน และลดต้นทุนการบริหารจัดการเพื่อให้เงินถึงประชาชนอย่างแท้จริง ขณะนี้วุฒิสภา ยังสามารถท้วงติงได้และแก้ไขกฎหมายได้ เพราะหากปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่มีการแก้ไข ประชาชนจะได้รับผลเสียที่สุด และหากรัฐบาลเพิกเฉยก็หมายความว่าประชาชนคงไม่สามารถเชื่อใจรัฐบาลชุดนี้ได้ ” ดร.วรวรรณ กล่าว

รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา รองคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การ จำกัดสิทธิแรงงานที่ย้ายงานไปมานั้น ถือว่าขัดต่อสภาพความเป็นจริง ซึ่งกลุ่มแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่จะมีรายได้ต่ำกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ การ สร้างเงื่อนไขเพื่อป้องกันเรื่องผลประโยชน์ซ้ำซ้อนนั้น ต้องพิจารณาว่า เงินที่กลุ่มคนดังกล่าวได้รับจากรัฐมีจำนวนไม่มากอยู่แล้ว การสร้างกฎเกณฑ์ใดๆ จึงควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการสร้างระบบการออมเงินเพื่อระบบบำนาญตลอดชีพ สำหรับผู้มีรายได้น้อยเป็นที่ตั้ง และสร้างระบบที่มีความเป็นธรรมและเสมอภาค

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *