Thu. Mar 28th, 2024
กฎหมายโรงแรม

กฎหมายน่ารู้ ถึงเวลาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายโรงแรม

กฎหมายโรงแรมฉบับปัจจุบันได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547 และมีผลบังคับใช้ 180 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศ นั่นคือ 12 พฤษภาคม 2548 ซึ่งถือได้ว่าเก่าพอสมควรแล้ว คนโรงแรมก็พบข้อบกพร่องพอสมควร จึงได้แจ้งให้นายทะเบียนและคณะกรรมการส่งเสริมและกำกับธุรกิจโรงแรมทราบ มีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อรวบรวมความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องประมาณปีกว่าได้ข้อสรุปพอสมควร

เรื่องแรก คือ การแก้ไขปรับปรุงตัวพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2548 ในประเด็นต่อไปนี้
1) ความหมายของโรงแรมและข้อยกเว้นที่พักบางประเภทที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาต แต่ต้องมีวิธีการอื่นที่สามารถกำกับดูแลในเรื่องความสะอาด สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยพื้นฐาน เหตุผล คือ ปัจจุบันประเภทของที่พักแรมได้พัฒนาไปมาก เช่น โฮมสเตย์ โฮสเทล เกสท์เฮ้าส์ แพพัก บ้านบนต้นไม้ แคปซูล ตู้คอนเทนเนอร์ เต็นท์ที่พัก Airbnb ฯลฯ จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้อง

2) เพิ่มเติมอำนาจของรัฐมนตรีให้สามารถออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมได้

3) การเพิ่มเติมข้อกฎหมายกำหนดให้การโฆษณาประชาสัมพันธ์โรงแรม ต้องแสดงเลขที่ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรมแรม เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของการทำโรงแรมนั้น คือ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้เข้าพัก ซึ่งหมายถึงชื่อเสียงของประเทศด้วย ดังนั้น โรงแรมที่สามารถโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้จึงควรเป็นโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

4) เนื่องจากการทำโรงแรมมีกิจกรรมหลายอย่างที่ต้องขออนุญาตจากกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม เช่น ใบอนุญาตจำหน่ายอาหาร ใบอนุญาตสะสมอาหาร ทำน้ำแข็ง ทำไอศครีม ทำสระว่ายน้ำ ทำห้องออกกำลังกาย ทำสปา จำหน่ายสุรา จำหน่ายยาสูบ ฯลฯ ทางกระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นสมควรอำนวยความสะดวกกับผู้ประกอบธุรกิจให้สามารถมาขออนุญาตทุกชนิดที่นายทะเบียนโรงแรมแห่งเดียว เรียกว่าเป็น One Stop Service ตามนโยบายรัฐบาล แต่ปรากฎว่าตั้งแต่ประกาศใช้กฎหมายมา ยังไม่มีใครมารวมขอใบอนุญาตเลย ทางคณะทำงานก็มีข้อเสนอว่าควรยกเลิกมาตรานี้ดีหรือไม่

5) การปิดปรับปรุงโรงแรมไม่ได้มีการกำหนดรายละเอียดในหลักเกณฑ์ชัดเจน ทำให้มีการตีความว่าจะต้องเสียค่าธรรมเนียมห้องพักหรือไม่ รวมตลอดจนโครงสร้างเปลี่ยนไปมากมายเพียงไรจึงต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์การปิดปรับปรุงให้สามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง

6) เพิ่มโทษผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาต เนื่องจากได้มีกฎกระทรวงที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และประกาศ คสช. ผ่อนผันให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าข่ายเป็นโรงแรมแล้ว ยังมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งไม่สนใจที่จะมาขอรับใบอนุญาตเสียให้ถูกต้องเมื่อถูกจับก็เสียค่าปรับและกระทำผิดซ้ำอีก จึงสมควรทบทวนโทษให้เพิ่มขึ้น

เรื่องที่สอง คือ แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงที่ออกตามความในกฎหมายโรงแรม ให้ขยายความหมายของที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมให้กว้างขึ้น จากเดิมที่ต้องเป็นรายได้เสริมเท่านั้น ให้เป็นรายได้หลักก็ได้ ถ้าเป็นการส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีในท้องถิ่น และกำหนดหลักเกณฑ์ที่พักอาศัยรวม (Hostel) รวมตลอดจนที่พักอาศัยประเภทอื่น เช่น แพพัก เต็นท์ที่พัก ที่พักประเภทแคปซูล ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายโรงแรมฉบับปรับปรุงและกฎกระทรวงดังกล่าว ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบยังต้องทำประชาพิจารณ์ระยะหนึ่งก่อน เมื่อถึงเวลานั้นก็จะเชิญท่านสมาชิกของสมาคมเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกันอย่างพร้อมเพรียงครับ

ที่มา : นิตยสาร Thai Hotel & Travel Magazine ฉบับเดือน ธันวาคม 2019 – มกราคม 2020

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *