Thu. Apr 25th, 2024

พระราชบัญญัตินโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2551

กฎหมายซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คือ กฎหมายว่าด้วยนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ซึ่งประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2551 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมหนึ่งครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2562 เพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย

จุดประสงค์ของการมีกฎหมายฉบับนี้ก็เพื่อให้หน่วยราชการต่าง ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวซึ่งกระจัดกระจายตามกระทรวงต่าง ๆ ได้มารวมในที่เดียวกันและพูดเรื่องเดียวกันจะได้ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น

ประการต่อมาก็เพื่อให้มีการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น

ประการที่สาม คือ การจัดให้มีระบบการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว เพื่อขจัดอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ประการที่สี่ คือ การพัฒนากลไกการท่องเที่ยวที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมให้นักท่องเที่ยวทุกหมู่เหล่า

ประการที่ห้า ให้อำนาจของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรี ให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อใช้จ่ายในการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยวและจัดให้มีการประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติในระหว่างท่องเที่ยวในประเทศ

และสุดท้าย ให้มีการประกาศกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีความรัดกุมคล่องตัวมากขึ้น

ดังนั้น เพื่อให้ความฝันของกระทรวงการท่องเที่ยวสำเร็จตามที่ปรารถนา กฎหมายฉบับนี้จึงบัญญัติรายละเอียด ดังนี้

  1. การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ( ท.ท.ช.) ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นรองประธาน และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอีก 6 กระทรวง ปลัดกระทรวงอีก 5 กระทรวง เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตัวแทนท้องถิ่นทั้งสามองค์กร ตัวแทนเอกชนที่สำคัญ คือ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒทางด้านการท่องเที่ยวอีก 7 คน
  2. ให้กรรมการมีอำนาจกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ดำเนินการจัดให้มีการกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยว
  3. ในการดำเนินการตามนโยบาย ยุทธศาสตร์การบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว และมาตรการเพื่อส่งเสริมการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว หากคณะกรรมการเห็นว่าภารกิจใดไม่มีผู้รับผิดชอบ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ดำเนินการซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหาย คณะกรรมการอาจมอบหมายให้หน่วยงานอื่นของรัฐดำเนินการแทนได้
  4. ให้คณะกรรมการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ และแผนปฏิบัติการท่องเที่ยว
  5. ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย โดยใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการพัฒนาการท่องเที่ยว และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาทักษะด้านการบริหาร การตลาด หรือการอนุรักษ์ทรัพยากรท่องเที่ยวในชุมชน การดูแลรักษาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว การส่งเสริมสินค้าทางการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ในท้องถิ่น รวมทั้งการจัดให้มีการประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในระหว่างท่องเที่ยวภายในประเทศ

นั่นคือข้อมูลคร่าว ๆ ของกฎหมายว่าด้วยนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ

ที่มา : นิตยสาร Thai Hotel & Travel Magazine ฉบับเดือน เมษายน – พฤษภาคม 2020

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *