Thu. Mar 28th, 2024
Drone อากาศยานไร้คนขับ

Drone อากาศยานไร้คนขับ

ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาเชื่อว่าผู้ประกอบการหลายท่านคงอาจจะเคยได้เห็นสปอตโฆษณา สารคดีหรือภาพยนตร์ ที่มีการนำเสนอมุมมองภาพแบบ Bird’s-eye view (วีดีโอที่มีการถ่ายจากมุมสูง) กันอยู่บ่อยๆ

ซึ่งหากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นอีกสักหน่อย การถ่ายทำให้ได้มุมภาพลักษณะดังกล่าวนั้น ค่อนข้างมีรายละเอียดมากและยากลำบากพอสมควร บางครั้งทีมงานถ่ายทำอาจจะต้องเช่าเครื่องบินเพื่อปฏิบัติภารกิจกันเลยทีเดียว ซึ่งก็แน่นอนว่าย่อมจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง อีกทั้ง คุณภาพของงานก็อาจไม่ได้ตรงตามเป้าที่คาดหวังไว้อีกด้วย

ปัจจุบัน การถ่ายวิดีโอแบบ Bird’s-eye view สามารถทำได้ง่ายขึ้นและมีค่าใช้จ่ายน้อยลงกว่าเดิมมาก ทั้งนี้ ก็เพราะได้มีการนำเอา Drone หรือ อากาศยานไร้คนขับ มาทำการติดตั้งกล้องวิดีโอที่มีความละเอียดในระดับ HD เพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะช่วยให้ Drone มีความสามารถถ่ายภาพจากมุมสูงได้ จุดเด่นของ Drone อีกประการหนึ่ง คือ สามารถบินไปยังทิศทางใดๆ ได้ตามที่ต้องการ เพียงผู้ใช้งานทำการควบคุมระยะไกลผ่านเครื่องบังคับวิทยุที่มีความถี่คลื่นที่ 2.4 GHz โดยสามารถบินได้นานถึง 10 – 30 นาที ขึ้นอยู่กับขนาดความจุของแบตเตอรี่ที่ใช้ สิ่งสำคัญ คือ Drone มีความคล่องตัวต่อการใช้งานเป็นอย่างมาก อีกทั้ง ยังง่ายต่อการเริ่มต้นสำหรับผู้ใช้งานมือใหม่อีกด้วย ซึ่งก็คือเสน่ห์ของ Drone ที่ทำให้มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ

Drone เริ่มต้นในราวปี พ.ศ. 2459 ถูกนำมาใช้ทางการทหารโดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 จนถึงปัจจุบัน Drone ถูกพัฒนาให้มีสมรรถนะที่สูงขึ้น เพื่อจุดประสงค์ทางการรบ เช่น ถูกใช้สอดแนมข้าศึกหรือเป็นอากาศยานไร้คนขับที่มีการติดอาวุธเพื่อต่อสู้แทนทหาร เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยนั้น Drone ไม่ได้อยู่แต่ในวงการภาพยนตร์หรือวงการโฆษณาเท่านั้น ผู้ใช้งานกลุ่มอื่นๆ ทั้งภาคธุรกิจ ภาคสื่อสารมวลชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม หรือแม้แต่หน่วยงานภาครัฐบางหน่วยงานก็ยังนำ Drone เข้ามาช่วยปฏิบัติภารกิจสำคัญกันทั้งสิ้น เช่น การนำ Drone มาผสานกันกับระบบ GPS เพื่อช่วยในการสำรวจภูมิประเทศเพื่อทำพิกัดในแผนที่ การนำ Drone ที่ติดตั้งกล้องวิดีโอมาช่วยในการถ่ายภาพทางอากาศ เพื่อนำเสนอข่าวการจราจรในช่วงวันหยุดยาวหรือการถ่ายทำสปอตโฆษณาแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่มีการถ่ายภาพในมุมสูง เป็นต้น

โดยในภาคธุรกิจนั้นได้มีการนำเทคโนโลยี Drone มาใช้ในเชิงพาณิชย์กันอย่างคึกคักและดูเหมือนจะไปได้สวยเสียด้วยตัวอย่างเช่น บริษัท SF-Express ในประเทศจีน ได้ทดลองใช้ Drone มาเป็นเครื่องมือในการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าของตน ด้วยการตั้งโปรแกรมให้ Drone บินไปส่งสินค้ายังบ้านของลูกค้าโดยที่ไม่ต้องให้พนักงานมาคอยเป็นผู้ควบคุม Drone แต่อย่างใด ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้เป็นอย่างมาก อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ Crocs Japan Store ร้านขายรองเท้าแบรนด์ดังในประเทศญี่ปุ่น ได้ออกไอเดียให้ลูกค้าที่เข้ามาเลือกซื้อสินค้าในร้านสามารถที่จะสั่งการให้ Drone บินไปหยิบรองเท้าที่ตนต้องการจากชั้นวางรองเท้าได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องมีพนักงานมาบริการหรือมาคอยควบคุม Drone แต่อย่างใด สร้างความประทับใจให้ลูกค้าเป็นอย่างมาก แม้แต่บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ก็ยังมีแผนที่จะใช้ Amazon Prime Air ซึ่งเป็น Drone ที่ตนพัฒนาขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการขนส่งสินค้าไปให้แก่ลูกค้าของตนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ด้วยเช่นกัน

สำหรับราคา Drone ที่มีขายอยู่ในปัจจุบันจะมีราคาตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักแสนบาท ขึ้นอยู่กับความสามารถและสเปคของอุปกรณ์ เช่น คุณภาพความละเอียดของกล้องที่ติดตั้ง, น้ำหนักของตัวเครื่อง, น้ำหนักที่ Drone สามารถบรรทุกได้, ระยะทำการของชุดควบคุม Drone, ความสามารถในการใช้งานร่วมกันกับอุปกรณ์สื่อสารพกพา, ขนาดความจุของแบตเตอรี่ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อระยะเวลาในการบิน, ความเร็วในการชาร์จไฟ, ความทนทานของตัวถังเครื่องหรือความสามารถในการป้องกันน้ำและความชื้น เป็นต้น

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวคราวเกี่ยวกับการออกกฎระเบียบในการใช้งาน Drone ผ่านสื่อมวลชน ได้ระบุหลักใหญ่ใจความไว้ด้วยกัน 4 ข้อดังนี้

  1. Drone จะต้องทำการบินในระยะเวลานานไม่เกิน 1 ชั่วโมง
  2. ในการบินในพื้นที่ที่เป็นชุมชนหรือสถานที่สาธารณะ ไม่อนุญาตบุคคลทั่วไปใช้ Drone ที่มีการติดตั้งกล้อง และหากเป็นการใช้งานโดยหน่วยงานหรือองค์กรก็จะต้องขออนุญาตเสียก่อน (แต่ไม่ทุกครั้ง)
  3. ไม่อนุญาตให้ทำการบินใกล้กับท่าอากาศยาน
  4. ห้ามไม่ให้บินสูงเกิน 150 เมตร

อย่างไรก็ตาม แม้กฎระเบียบดังกล่าวจะยังไม่ได้มีประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่าในอนาคตจะมีการนำมาบังคับใช้อย่างแน่นอน ซึ่งผู้ประกอบการที่มีแผนจะนำ Drone มาใช้ในกิจการของตนก็ควรมีการวางแผนเตรียมการไว้แต่เนิ่นๆ ทั้งนี้ เพื่อที่จะให้การดำเนินกิจการเป็นไปได้อย่างราบรื่นนั่นเอง

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *