Thu. Apr 25th, 2024
ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารยุคใหม่ด้วยแนวทาง MOJO

ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารยุคใหม่ด้วยแนวทาง MOJO

ท่ามกลางแรงเหวี่ยงของความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้ธุรกิจสื่อต้องมีการปรับตัวไม่เฉพาะแต่วงการสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้นในวงการโทรทัศน์เองก็เห็นผลกระทบชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนในวงการวิทยุกระจายเสียงนั้น ได้รับผลกระทบมาก่อนแล้ว แม้สถานีวิทยุบางสถานีจะยังเปิดกระจายเสียงอยู่แต่ก็ดูซบเซาลงไปมาก หลายคลื่นหันไปใช้อินเทอร์เน็ตเป็นอีกช่องทางการเผยแพร่อีกช่องทางหนึ่งแต่ในสนามแข่งขันนี้ผู้ฟังมีทางเลือกมากมายอยู่ก่อนแล้ว ทั้ง Radio Steaming, YouTube Live, Facebook Live หรือ Twitter Live ซึ่งเป็นโจทย์ที่วงการธุรกิจวิทยุกระจายเสียงจะต้องขบคิดหาหนทางกันต่อไป

สำหรับวงการสื่อสิ่งพิมพ์นั้น การมาของอินเทอร์เน็ตได้สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมายอย่างไม่ต้องสงสัย ผู้คนหันไปเสพข้อมูลข่าวสารจากอินเทอร์เน็ตกันมากยิ่งขึ้น เริ่มจากกระบวนการสืบค้นข้อมูลก็สามารถทำได้อย่างง่ายดายผ่าน Google รวมถึงบริการโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ส่งข้อมูลเนื้อหามายังผู้อ่านอย่างสม่ำเสมอ พร้อมด้วยระบบแจ้งเตือน (Notifications) ที่คอยบอกผู้อ่านว่าบัดนี้ได้มีข้อมูลใหม่ๆ ส่งมาให้แล้ว

สิ่งที่สร้างความแตกต่างอย่างชัดเจนที่สุดของสื่อสมัยใหม่ก็คือ ผู้อ่านสามารถแสดงความคิดเห็นและแชร์ต่อไปได้อย่างไม่รู้จบในมุมของผู้อ่านยุคนี้นั้นการสื่อสารสองทางถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก จึงไม่แปลกที่ช่วงนี้วงการสื่อสิ่งพิมพ์เดิมที่เป็นการสื่อสารทางเดียวจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินการใหม่ หนังสือพิมพ์และนิตยสารได้กระโดดเข้าสู่การเป็นสื่อออนไลน์กันมากขึ้น แม้การปรับตัวดังกล่าวจะค่อนข้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะนอกจากจะต้องเปลี่ยนระบบการดำเนินการแล้วยังต้องวางกลยุทธ์ให้สามารถแข่งขันกับเว็บไซต์ข่าวหรือเว็บไซต์พอร์ตทอลที่มีกลุ่มสมาชิกเดิมเหนียวแน่นอยู่ก่อนแล้วอีกด้วย แต่นั่นก็เป็นเพียงทางเลือกที่มีอยู่ไม่มากนักหากต้องการที่จะให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไปได้ ในรายที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็จำเป็นจะต้องร้างลาจากวงการไป

ในส่วนของวงการโทรทัศน์นั้น จากเดิมที่เคยมีช่องหลักอยู่ไม่กี่ช่องก็ได้พัฒนาไปเป็นระบบทีวีดิจิทัลที่มีช่องยิบย่อยหลายสิบช่อง ซึ่งช่วงเริ่มแรกก็ดูเหมือนว่าจะไปได้ด้วยดีแต่ไม่นานนักกลับมีเทคโนโลยีการออกอากาศผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นตามติดๆ โดยเฉพาะการถ่ายทอดสดผ่านบริการโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่ว่าจะเป็นบริการ Facebook Live, YouTube Live หรือ Twitter Live เป็นต้น บริการเหล่านี้ทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปสามารถที่จะมีช่องรายการของตนเองได้ฟรีขอเพียงมีอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แน่นอนว่ากลุ่มดารา พิธีกรรายการดัง หรือนักข่าวจากช่องดังเป็นกลุ่มแรกๆ ที่กระโดดออกจากช่องรายการปกติไปสู่การใช้บริการ Live ในอินเทอร์เน็ตแบบเต็มตัวในฝั่งของผู้รับชมนั้นนอกจากจะติดตามรับชมกันสดๆ ได้แล้ว ยังสามารถที่จะย้อนกลับมาดูภายหลัง ทั้งยังสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านระบบ Comment ได้ตามต้องการอีกด้วยและจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคก็ได้สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวงการโทรทัศน์

ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เข้าถึงได้ง่ายผ่านสมาร์ทโฟนทำให้เครื่องมือสื่อสารพกพาประเภทนี้สามารถนำไปใช้ในการทำข่าวภาคสนามได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะใช้ถ่ายทอดสดหรือการ Live แล้ว นักข่าวยังบันทึกเสียง ถ่ายภาพ หรือพิมพ์ข้อความบันทึกได้ ที่น่าสนใจก็คือสามารถส่งข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติงานกลับไปยังสถานีข่าวได้ทันทีโดยผ่านสัญญาณไวไฟหรืออินเทอร์เน็ต ซึ่งหากเทียบกับการทำข่าวสมัยก่อนก็จะพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่น การถ่ายทอดสดแบบเดิมอาจจะต้องใช้รถถ่ายทอดที่มาพร้อมเครื่องไม้เครื่องมือมากมาย ด้านบนของรถจะต้องติดจานส่งสัญญาณขนาดใหญ่ที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ากำลังสูงเพื่อส่งสัญญาณไปยังสถานียังไม่รวมบุคลากรที่ต้องมีไม่ต่ำกว่า 3 คนในการถ่ายทอดสดแต่ละครั้ง ซึ่งหากนำมาตีเป็นงบประมาณก็จะเป็นเม็ดเงินที่ค่อนข้างสูงมากเลยทีเดียว

เห็นได้ชัดว่าสมาร์ทโฟน คือ เครื่องมือที่เป็นตัวแปรสำคัญของการทำข่าวในปัจจุบัน และในความเป็นจริงก็คือสมาร์ทโฟนสามารถทำให้ผู้รับชมแปรเปลี่ยนมาเป็นผู้นำเสนอได้ จึงทำให้เกิดนักข่าวแนวใหม่ที่เรียกกันว่า นักข่าวพลเมือง (Citizen Journalist) ซึ่งเป็นนักข่าวที่สามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพไม่ด้อยไปกว่า นักข่าวมืออาชีพ (Professional Journalist) เลย ที่น่าสนใจก็คือนักข่าวทั้งสองกลุ่มนี้ต่างก็ใช้สมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือในการทำข่าว ซึ่งก็มักจะใช้บุคลากรในการปฏิบัติงานเพียงคนเดียวเท่านั้น เริ่มตั้งแต่การคิดประเด็นข่าว การสัมภาษณ์ บันทึกเสียง บันทึกวิดีโอพร้อมตัดต่อถ่ายภาพนิ่งและตกแต่งภาพก่อนส่งให้สำนักงานข่าวหรือนำเสนอสู่สาธารณะด้วยตนเอง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือข่าวมีความสดใหม่สามารถนำเสนอได้อย่างฉับไวและประหยัดต้นทุนอย่างมากในวงการสื่อสารมวลชนเรียกนักข่าวที่ใช้สมาร์ทโฟนในการปฏิบัติงานว่า Mobile Journalist (MOJO)

แน่นอนว่าแนวทางการทำงานของ MOJO นั้นสามารถนำไปปรับใช้กับการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของสินค้าและบริการในธุรกิจใดก็ได้ ทั้งนี้ บุคลากรในธุรกิจการท่องเที่ยวได้นำสมาร์ทโฟนมาใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข้อมูลของตนมานานแล้วแต่อาจยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนเท่าใดนัก โดยมากเป็นการเก็บข้อมูลในลักษณะของภาพถ่าย วิดีโอ รวมถึงการกำกับด้วยข้อความอธิบายแล้วโพสต์ข้อมูลเหล่านั้นบอกกล่าวไปยังสมาชิกหรือสาธารณชน ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่จะเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ การแจ้งข่าวสาร การให้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ทั้งบนเว็บไซต์ขององค์กรเองหรือผ่านระบบบริการโซเชียลเน็ตเวิร์กซึ่งเป็นช่องทางที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การนำแนวทางของ MOJO มาใช้ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารหรือข้อมูลสินค้าและบริการนั้น จะต้องมีลำดับขั้นตอนในการดำเนินการ ซึ่งนอกจะช่วยลดข้อผิดพลาดแล้วยังช่วยให้ข้อมูลที่นำเสนอออกไปมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. ขั้นตอนการเตรียมการ
    1.1 เริ่มจากการคิดประเด็นหรือหัวข้อที่จะใช้ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารหรือข้อมูลสินค้าและบริการที่ต้องการนำเสนอไปยังกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกกลุ่มลูกค้า หรือบุคคลทั่วไปที่ผู้นำเสนอเห็นว่าอาจกลายมาเป็นลูกค้าในอนาคตได้
    1.2 ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นหรือหัวข้อที่ได้ตั้งไว้ทั้งนี้ เพื่อกำหนดวิธีการเข้าถึงแหล่งข้อมูลและการเตรียมเนื้อหาที่จะใช้ในการเสนอ
    1.3 แสวงหาแหล่งข้อมูล หากเป็นไปได้ควรสมัครรับข่าวสาร (Subscribs) เพื่อที่จะได้รับข้อมูลจากแหล่งข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
    1.4 เก็บรวบรวมข้อมูลและสรุปสิ่งสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ในการนี้ควรทำการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลไปในตัวด้วย หากเป็นไปได้ควรร่างเป็นสคริปต์เอาไว้ก่อน
  2. การเก็บและนำเสนอข้อมูล แน่นอนว่าผู้นำเสนอข้อมูลจะต้องอาศัยความชำนาญในการใช้สมาร์ทโฟนเพื่อบันทึกและเผยแพร่ข้อมูล โดยเริ่มตั้งแต่การถ่ายภาพ การตกแต่ง ไปจนถึงการเลือกช่วงเวลาในการนำเสนอข้อมูลไปยังกลุ่มเป้าหมาย
  3. การวิเคราะห์บทเรียนหลังการนำเสนอ ท้ายที่สุดจะต้องสรุปบทเรียนเพื่อปรับปรุงการนำเสนอข้อมูลในครั้งต่อไป

อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ตอนต้นว่า การนำเสนอข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันนั้นเป็นการสื่อสารสองทาง สิ่งสำคัญที่ควรระมัดระวังก็คือ การนำเสนอควรเป็นไปตามสคริปต์ที่ได้กำหนดไว้ ผู้นำเสนอไม่ควรใส่อารมณ์ของตนเข้าไปในระหว่างการนำเสนอข้อมูลอีกทั้งการที่ผู้รับข่าวสารสามารถแสดงความคิดเห็นได้ในทันทีจึงต้องตระเตรียมผู้ที่ทำหน้าที่ตอบข้อคำถามหรือข้อสงสัยซึ่งถือเป็นโอกาสที่จะได้พูดคุยกับลูกค้าโดยตรง หากผู้นำเสนอมีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ก็เชื่อแน่ว่าแนวทางการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารยุคใหม่ด้วยแนวทาง MOJO นี้ จะสร้างฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *